'Wellness - สปาไทย' โตต่อเนื่อง ขึ้นแท่นอุตสาหกรรมศักยภาพสูง
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรง มูลค่าตลาดในปี 2022 ที่สูงถึง 9.7 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 25.2% ต่อปี ขณะที่ Wellness Tourism ของไทยซึ่งติดอันดับ 15 ของโลก และ สปา อันดับที่ 16 ของโลก
KEY
POINTS
- การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงของโลกในยุคนี้ ด้วยมูลค่าตลาดในปี 2022 ที่สูงถึง 9.7 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 25.2% ต่อปี
- ขณะที่ Wellness Tourism ของไทยซึ่งติดอันดับ 15 ของโลก และ สปา อันดับที่ 16 ของโลก รวมถึง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” มาแรงและการเติบโตค่อนข้างสูง
- Global Wellness Economy เผยว่า การเติบโตของธุรกิจ Wellness จากตัวเลขล่าสุด 2022 เติบโตขึ้น 12% และคาดว่าในปี 2027 จะเติบโตอีก 52%
ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีอัตราเติบโตสูงขึ้นทุกๆ ปีจากสถิติประเทศไทย ถูกจัดอันดับโดย GWI (Global Wellness Institute) เมื่อปี 2020 ให้เป็น Wellness Destination อันดับ 2 รองจากประเทศออสเตรเลีย ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ อาหารไทย สมุนไพรไทย และศูนย์รวมการแพทย์ของประเทศไทย
เหล่านี้เป็นจุดเด่นที่ทำให้ธุรกิจเชิงสุขภาพเติบโตได้มากขึ้น(Wellness Economy Sectors) และยังสูงสุดเมื่อเทียบกับอัตราของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ประเทศไทยสามารถจะพัฒนาและขยายอัตราเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงของโลกในยุคนี้ ด้วยมูลค่าตลาดในปี 2022 ที่สูงถึง 9.7 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 25.2% ต่อปี
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ไม่เพียงแค่ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะ Wellness Tourism ของไทยซึ่งติดอันดับ 15 ของโลก และ สปา อันดับที่ 16 ของโลก ขณะที่ ตลาดอาหารเสริม และ เครื่องสำอาง นับเป็นผู้เล่นที่สำคัญ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อดูตลาดความงามทั่วโลก พบว่า ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2023 – 2027 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกมีมูลค่า 427 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 6% ต่อปี หรือแตะตัวเลข 580 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2027 ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่สูงเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธุรกิจ Wellness ไทยเติบโต อันดับ 15 ของโลก ปั้นแบรนด์ “เวลเนสอัตลักษณ์ไทย”
- "โยเกิร์ต" มี "โพรไบโอติกส์" เพียงพอแค่ไหน ทำไมกินแล้วไม่ได้ผล
- แพทย์แผนไทย X Soft Power ผลักดัน 'นวด-อาหาร-สมุนไพร ท็อป 3 เอเชีย
Wellness ปี 2027 คาดโต52%
สุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย กล่าวในงานแถลงข่าวความร่วมมืออุตสาหกรรมในการจัดงาน “Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok 2024” ว่า ข้อมูลจาก Global Wellness Economy ตอกย้ำภาพลักษณ์การเติบโตของธุรกิจ Wellness จากตัวเลขล่าสุด 2022 พบว่า ภาพรวมธุรกิจ Wellness เติบโตขึ้น 12% และคาดว่าในปี 2027 จะเติบโตอีก 52% ดังนั้น ธุรกิจ Wellness ยังมีแรงส่งในการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในธุรกิจ Wellness คือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” มาแรงและการเติบโตค่อนข้างสูง หากดูภาพรวมทั่วโลกกลุ่มนี้จะอยู่ในอันดับ 2 แต่มีการคาดการณ์ว่าอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้าจะแซง “ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย” มาเป็นอันดับ 1
ถัดมา สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยค่อนข้างมีศักยภาพสูง และโดดเด่น ได้แก่ “กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” แต่หากดูในเชิงอันดับเมื่อเทียบกับ 219 ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่สูง ขณะที่กลุ่มที่ติดอันดับสูงสุดมี 2 กลุ่ม คือ “Wellness Tourism” หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเราติดอยู่ในอันดับ 15 ของโลก และ “สปา” อันดับที่ 16 ของโลก
“แต่สิ่งที่น่าเสียดายของไทย คือ มูลค่าที่ราคาถูกเกินไป ทำอย่างไรให้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นความตั้งใจที่อยากจะทำให้ เพราะของดีไม่จำเป็นต้องถูก หากยกระดับขึ้นไปได้ ผู้ประกอบการจะมีกำไรจากตรงนี้มากขึ้น"
ขณะที่ เมื่อดู 5 ปีข้างหน้า พบว่า กลุ่มที่มาแรง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาในคอนเซ็ปต์ของ Wellness ถัดมา คือ Medical Tourism จะเติบโตราว 16.6% , บ่อน้ำพุร้อน ที่กำลังมาแรง , Mental Wellness เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจ และสุดท้าย คือ สปา
“ปัจจุบัน ประเทศไทยเรากำลังพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้าน Wellness Tourism ให้เป็นนโยบายในการพัฒนาให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเกิดขึ้น หวังว่าสิ่งนี้จะเป็นนโยบายที่จะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการให้พัฒนาธุรกิจ และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก” สุนัย กล่าว
เทรนด์ความงาม จากภายในสู่ภายนอก
ทั้งนี้ เมื่อดูตลาดเครื่องสำอางไทย ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาและบุกตลาดต่างประเทศแล้ว ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าตลาดในปี 2022 พบว่ามูลค่า 231,355 ล้านบาท เติบโต 9.22% ปี 2023 มูลค่า 258,275 ล้านบาท เติบโต 11.6% โดยสัดส่วนสินค้าตลาดพรีเมียม อยู่ที่ 50,277.6 ล้านบาทเติบโต 13% ขณะที่ สินค้าทั่วไปมูลค่า 175,880.8 ล้านบาท เติบโต 11.55%
“เกศมณี เลิศกิจจา” นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมความงามไทย เรียกว่าได้รับความไว้วางใจโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า 40% บนชั้นวางสินค้าจะเป็นสินค้าจากไทย ขณะที่ ประเทศจีน สินค้าไทยที่ติดอันดับต้นๆ คือ แบรนด์มิสทีน สิ่งที่เขายอมรับเพราะเรามีการพัฒนา มาตรฐานที่ดี และสินค้าที่ผลิตในไทยเหมาะกับภูมิอากาศ
ทั้งนี้ เมื่อดูสัดส่วนการนำเข้า อยู่ที่ 31,380 ล้านบาท เติบโตลดลง 14% คิดได้สองแง่ คือ คนไทยเริ่มเชื่อมั่นสินค้าไทย และ การนำเข้าที่ไม่เสียภาษี เพราะข้อตกลงของโลก สินค้าที่นำเข้ามาไม่ถึง 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ การส่งออก 86,030 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% โดยภาพรวม 40% เป็นการส่งออก ใช้ในไทย 60% สินค้า 3 อันดับที่เป็นพระเอก คือ Skin Care สัดส่วน 41.78% ถัดมา คือ Hair Care 15.20% และ Oral Care 11.41%
“เทรนด์เครื่องสำอางในปี 2024 สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความงามต้องเกิดจากภายในสู่ภายนอก เช่น มีการทดสอบผิวตอนกลางคืนว่าหลับได้ดีหรือไม่ การสื่อสารระหว่างสารที่ทำปฏิกิริยาภายในของผิวไปสู่สมอง มีการเพิ่มแร่ธาตุ วิตามิน และจุลินทรีย์ ผิวดีสุขภาพดี สังเกตว่า เวลาอารมณ์ไม่ดี ผิวก็หมองไปด้วย เป็นเทรนด์ที่เข้ามาในเครื่องสำอาง สอดคล้องกับตลาดอาหารเสริม และสมุนไพร ต้องไปด้วยกัน และอีกเทรนด์ คือ การใช้สารให้น้อยที่สุด แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นการออกแบบมาเฉพาะบุคคล”
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เติบโต แข่งขันสูง
“นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์” ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง เทรนด์กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่า ในประเทศไทยตลาดไปถึงทุกระดับชั้นทั้งแพงมากและถูกมาก ตอนนี้ตลาดปรับตัว เป็นขาขึ้น และอาจจะมีความนิยมจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันเยอะ
“ข้อเสียเปรียบ คือ ไทยผลิตวัตถุดิบไม่มากนัก แต่ต้นน้ำของวัตถุดิบมาจากไทยเยอะ เช่น เกล็ดปลา ข้อเสีย คือ ถูกนำไปแปรรูปจากต่างประเทศและกลับมาในไทย ทำให้ต้นทุนซับซ้อน ทำให้ยังไม่ก้าวไปสู่เจ้าตลาดที่เป็นผลิตอาหารเสริมเยอะ ผลิตเครื่องจักรเยอะ และผลิตเครื่องมือแล็บ”
อัตราการแข่งขันในปัจจุบันเติบโตเยอะมาก จากมูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท อีก 2 ปีจะเติบโตไปถึง 1.3 แสนล้านบาท ค่อนข้างก้าวกระโดด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโซนเอเชียแปซิฟิก เติบโตมากที่สุด เฉลี่ย 9.3% ต่อปี นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ และเมื่อเทียบต่อหัวต่อประชากรไทย พบว่าใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราว 1,330 บาทต่อคน
“เราเป็น Red Ocean ที่น่าสนใจ มีการแข่งขัน และหากปรับตัวได้จะทำให้เรายึดหัวหาดในการเป็นเจ้าตลาดได้ในโซนนี้ ปัจจุบันเราได้รับความน่าเชื่อถือ โดยเฉาพะในด้านการประณีต หากปรับตัว และหากผลิตได้เยอะ จะดึงรายได้เข้าประเทศได้” นาคาญ์ กล่าว