สัญญาณเตือนรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ปิดโรงงาน หนักกว่าช่วงโควิดแล้ว
ในขณะที่ช่วง 6 เดือน แรกของปี 2567 ที่มีการแจ้งปิดโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน ซึ่งสูงกว่าช่วงโควิดในปี 2564
รัฐบาลพยายามออกมาตอบโต้การเผยแพร่ข้อมูลการปิดโรงงาน โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุ ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 5 เดือน แรกของปี 2567 มี โรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน มีโรงงานขยายกิจการ 126 โรงงาน ขณะเดียวกันมี โรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน อัตราส่วนจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดกิจการถึง 73.77% ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มข้อมูลว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีโรงงานใหม่ได้ใบอนุญาตและขยายโรงงานรวม 1,275 แห่ง
ทั้งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามชี้ข้อมูลการเปิดโรงงานเพื่อเปรียบเทียบกับการปิดโรงงาน แต่รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมควรพิจารณารายละเอียดของข้อมูลทะเบียนโรงงานในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2567 มีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อจำนวนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเลิกโรงงานในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2567 อยู่ที่ 667 แห่ง เป็นอัตราที่สูงกว่าช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้ว จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลควรเข้าไปดูรายละเอียด
ในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มีแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบเต็มปี มีผู้ประกอบการแจ้งปิดโรงงาน 373 แห่ง ทุนจดทะเบียน 22,825 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 10,175 คน ในขณะที่ช่วง 6 เดือน แรกของปี 2567 ที่มีการแจ้งปิดโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน ซึ่งสถิติปี 2567 สูงกว่าในด้านจำนวนโรงงานและการจ้างงาน ในขณะที่ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขนาดของโรงงานที่ปิดเล็กกว่าช่วงโควิดในปี 2564
ขณะที่ตัวชี้วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือน แรกของปี 2567 ติดลบ 2.08% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.30% เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แต่ยังไม่เห็นการประกาศที่ชัดเจนจากรัฐบาลถึงการปรับโครงสร้างการผลิต ถึงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมถึง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องทำงานเรื่องนี้ให้จริงจังขึ้น
ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศ 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยส่วนหนึ่งจะผลักดันศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มีเป้าหมายดึงการลงทุน 1 ล้านล้านบาท และผลักดันศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะดึงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังจะปรับโครงสร้างภาคการผลิต แต่รัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่าภาคการผลิตปัจจุบันแย่แล้ว และกำลังแย่กว่าช่วงโควิด-19