ราคาน้ำมันร่วงหนักเกือบ 4.5% ปิด 70.34 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

ราคาน้ำมันร่วงหนักเกือบ 4.5% ปิด 70.34 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

ราคาน้ำมันร่วงแรงวันเดียว 3.21 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว รับการเมืองในลิเบียคลี่ห่วงดัชนีการผลิตในจีน - สหรัฐฉุดเศรษฐกิจ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคารที่ 3 ก.ย.67 โดยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 เดือน หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าข้อพิพาทด้านการเมืองใน "ลิเบีย" มีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังจากที่ข้อพิพาทดังกล่าวได้ส่งผลให้ลิเบียระงับการผลิต และการส่งออกน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา

  • สัญญา น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.21 ดอลลาร์ หรือ 4.36% ปิดที่ 70.34 ดอลลาร์/บาร์เรล 
  • สัญญา น้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 3.77 ดอลลาร์ หรือ 4.86% ปิดที่ 73.75 ดอลลาร์/บาร์เรล 
     

ราคาน้ำมัน WTI และเบรนท์ต่างก็ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2566 หลังจากหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติของลิเบียได้ตกลงที่จะแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ภายใน 30 วัน ภายหลังจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และจัดให้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก

โอเล แฮนเซน นักวิเคราะห์จาก Saxo Bank กล่าวว่า กระแสคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกจะสามารถทำข้อตกลงกันได้นั้น ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดน้ำมัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ข้อพิพาททางการเมืองในลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ รัฐบาลลิเบียตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบงกาซี มีความขัดแย้งกับรัฐบาลลิเบียที่ตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีในประเด็นที่ว่า ฝ่ายใดควรมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางลิเบีย และรายได้จากน้ำมัน

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันหลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) เตรียมเดินหน้าแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 180,000 บาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ลิเบียลดการผลิตน้ำมัน อันเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน หลังจากที่ "จีน" ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.ลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน 

ในขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 จาก 46.8 ในเดือนก.ค.แต่ก็ถือเป็นระดับที่หดตัว และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 47.5 นอกจากนี้ยังเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์