ความเสี่ยงหั่นเรตติ้ง บนสมมุติฐานไม่เท่ากัน
ความเห็นต่างระหว่างศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ที่ระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากระดับ BBB+ จากความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล และอัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
ต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก อยู่บนสมมุติฐานที่แตกต่างกับรัฐบาลที่สะท้อนผ่านทาง “พิชัย ชุณหวชิร”รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่อ้างว่าการวิเคราะห์ ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่าง เพราะถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3% ก็ย่อมจะทำให้โน้มเอียงที่จะเชื่อได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกลดเครดิตเรตติ้งได้
แม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท Fitch Ratings จะเป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลในรายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงรายเดียว โดยไม่ได้นำข้อมูลจากทั้งจาก S&P และ Moody’s มาพิจารณาประกอบการจัดทำบทวิเคราะห์ด้วยและศูนย์วิจัยฯ ได้แก้ไขปรับเปลี่ยนหัวเรื่องบทวิเคราะห์เป็น “ปัจจัยท้าทายความเสี่ยงเครดิตเรตติ้งไทย” ไปตั้งแต่วันที่ 18 ตค.ที่ผ่านมาก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไทยถูกหั่นเครดิตเรตติ้งขึ้นมาจริงๆ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะภาครัฐอาจมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นจนขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนเอกชนก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันจึงมีความจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แน่นอนว่าต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จะทำอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ เมื่อเม็ดเงินเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นได้
ขณะเดียวกันยังต้องเพิ่มมาตรการฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก็ต้องดำเนินการควบคู่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการฟื้นฟู ขยายกิจการ รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี คนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้สามารถทำธุรกิจอยู่รอดไปได้
รัฐบาลชี้แจงตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนว่ามีหลายโครงการ มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้ แต่สิ่งที่สำคัญต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพราะเครดิตเรตติ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ต้องให้ความสำคัญและจับตาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเพิ่มตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มมีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้