“ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม”เอสเอ็มอีผงาดสู่ “บริษัทมหาชน”

“ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม”เอสเอ็มอีผงาดสู่ “บริษัทมหาชน”

ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม ธุรกิจกว่า4ทศวรรษ มีพร้อมทั้ง“ประสบการณ์” และ“เทคโนโลยี”ขาดก็แต่“เงินทุน”ที่จะสยายปีกสู่อนาคต ถึงเวลามุ่งสู่ตลาดทุนไทย

“สมัยก่อน ลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่ง จะสั่งซื้อเครื่องจักรจากเรา เขาขอวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทก่อน เมื่อวิเคราะห์เสร็จก็บอกทางเมืองไทยกลับมาว่า ไม่กล้าสั่งของเพราะกลัวจะทำให้ไม่สำเร็จ ดูจากงบแล้วท่าทางจะเจ๊ง!”

ประสบการณ์ช้ำๆ ในอดีต ที่ “สุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข” ทายาทรุ่นสอง แห่ง บมจ.ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม เปิดเผยกับผู้ประกอบการที่ได้รางวัลสุดยอดเอสเอ็มอี ผ่านโต๊ะเสวนา “Executive Talk : ต่อยอดความคิด พิชิตโอกาสสู่การเติบโต” ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ผ่านมา

“ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม” คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรระบบไฮดรอลิค เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งเครนและเครื่องทุ่นแรงระบบไฮดรอลิค เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไปและศูนย์บริการรถยนต์ ตลอดจนจัดหาและจัดจำหน่ายเครื่องทุ่นแรงระบบไฮดรอลิค บางประเภท ภายใต้แบรนด์ “TMC”

ทว่าก่อนจะมีคำห้อยท้ายว่า “มหาชน” พวกเขาก็เริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ คนต้นประวัติศาสตร์ คือ “ทวีมิตร กมลมงคลสุข” ชายผู้มุ่งมั่น เริ่มทำธุรกิจด้วยเงินทุน 5 หมื่นบาท เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยสองมือ อาศัยความรู้ในทางช่าง จนสามารถพัฒนาสินค้า “ระบบไฮดรอลิค” ขึ้นมาได้ และจดทะเบียนเป็น บริษัท ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม ขึ้นเมื่อปี 2525 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ช่วงเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องดิ้นรนไม่ต่างจากเอสเอ็มอีทั่วไป เพื่อหาทางให้สินค้าขายได้ ให้กิจการที่ตั้งขึ้น “อยู่รอด” ซึ่งต้นทุนสำคัญที่ทวีมิตรมีติดตัว คือ นิสัย “ช่างขวนขวาย เอาใจใส่ และหาความรู้” ดูได้จากการนำพากิจการเข้าอบรมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งแต่สมัย 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ช่วยขยายฐานลูกค้าในช่วงเริ่มต้น

แต่โจทย์ใหญ่ก็ยิ่งถาโถม เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต มียอดขายขยับเพิ่มขึ้น จนต้องเริ่มคิดหาทุนเพื่อมาขยายกิจการ พวกเขายอมรับว่า “เงินทุน” ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเอสเอ็มอี สมัยยังไม่จดทะเบียนบริษัทก็ต้องพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ พอเป็นรูปบริษัทก็ลองกู้เงินจากธนาคาร แต่เป็นเพียงเอสเอ็มอีเล็กๆ เลยต้องหาหลักทรัพย์ค้ำประกันกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะบริษัท บ้าน ที่ดิน หรือแม้แต่ตัวผู้ประกอบการเอง ก็ต้องกลายเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคาร

“คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกเราต้องไปรอคนออกเงินกู้ ตั้งแต่เช้าจนเย็น เสร็จแล้วก็ไม่ได้เงินกลับมา ท่านก็รู้สึกว่า ทำไมเราลำบากขนาดนี้นะ ต้องพยายามหาเงิน เพื่อทำให้กิจการอยู่ต่อไปให้ได้ เรียกว่าเป็นประสบการณ์ทั้งน้ำตาจริงๆ”

“สุรเชษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม ลูกชายคนโตของ “ทวีมิตร” บอกเล่าการต่อสู้ของธุรกิจรุ่นพ่อ ก่อนจะแบ่งปันประสบการณ์สุดช้ำเมื่อธุรกิจเดินทางสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ธุรกิจยังเต็มไปด้วยความหอมหวาน เมื่อพวกเขาได้งานรับจ้างผลิตเครื่องจักรไฮดรอลิคให้กับบริษัทญี่ปุ่น โอกาสดีคือได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตตามมาตรฐานของญี่ปุ่นขนานแท้ และทำให้เห็นช่องทางทำธุรกิจมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักก็กำลังเติบโตได้ดี จึงตัดสินใจกู้เงินมาเพื่อสั่งซื้อเครื่องจักร เติมกำลังการผลิต รองรับการขยายตัวของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ดอกเบี้ยในตอนนั้นก็สูงลิบ

“พอวิกฤติ เลยโดนหลายเด้ง ทั้ง ยอดขายตก ไหนจะภาระดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนเครื่องจักรกับธนาคารอีก เรียกว่ากระทบหนักมาก หนี้สินค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ถึงกับเป็น NPL ยังโชคดีที่ตอนนั้นไม่ได้กู้เงินต่างชาติ แค่กู้จากธนาคารในประเทศ ต่อมาก็ทำการรีไฟแนนซ์จากทุกธนาคารมาอยู่ที่เดียว ทำให้สามารถขอเพิ่มวงเงินกู้ได้ ช่วยต่อลมหายใจไปได้”

เขาบอกวิกฤติการเงินที่เล่นงาน ที.เอ็ม.ซี. เสียสะบักสะบอม แต่นั่นก็เปิดความคิดใหม่ให้กับคนรุ่นสองอย่างเขา

“ผมมองว่าถ้ายังเดินไปอย่างนี้เรื่อยๆ บริษัทก็คงโตนะ แต่ไม่ยั่งยืน ถึงจุดหนึ่งถ้าเราโตช้า ก็จะมีคู่แข่งเข้ามา ในตอนนั้นเราก็อาจหายไปจากธุรกิจนี้เลยก็ได้ จึงพูดคุยกันว่า น่าจะลองมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (MAI)”

เอสเอ็มอี หลายรายเลือกนำตัวเองสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะอยากให้องค์กรเป็นมืออาชีพ เสริมภาพลักษณ์ดีๆ ดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานด้วย หลายคนต้องการแหล่งเงินทุนในระยะยาว สำหรับ ที.เอ็ม.ซี. พวกเขายอมรับว่า เข้าตลาดเพราะ “ทุนหมด” เพราะอย่างที่ทราบว่าโรงงานเครื่องจักรต้องลงทุนสูง ใช้เงินมากก็ต้องกู้สูง ขณะที่ธุรกิจกำลังเติบโต ถ้ายังไม่ตัดสินใจทำอะไร เกิดมีตัวใหญ่เข้ามา คนตัวเล็กก็คงอยู่จะอยู่ไม่รอด

“การเอาบริษัทเข้าตลาด แน่นอนว่าเราต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของลงบ้าง แต่มองอีกด้าน เรากำลังหาหุ้นส่วนธุรกิจที่เป็นนักลงทุนในตลาด ซึ่งถึงตอนนี้ ที.เอ็ม.ซี สำหรับผมก็ยังเป็นเอสเอ็มอี แต่เป็นเอสเอ็มอีที่มาระดมทุนในตลาดเพื่อไปเติบโตต่อ ยังรู้สึกเป็นผู้ประกอบการที่ต้องตั้งใจทำงาน แต่จากแต่ก่อนอาจทำเพื่อครอบครัว ทำเพื่อพนักงาน 600 คน แต่ตอนนี้เรามีผู้ถือหุ้นอยู่กว่า 3,000 คน ที่มอบความไว้วางใจมาลงทุนกับเรา ก็ต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง”

เขาบอกภาระรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ในการนำเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน ไปทำให้เกิดผลตอบแทนกลับไปยังหุ้นส่วนของพวกเขา โดยมีพันธสัญญาสำคัญคือ ต้องไม่ทำให้ใครผิดหวัง

เงินทุนที่เข้ามา ทำให้แผนหรือโอกาสที่จะเจริญเติบโตชัดเจนมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่อีกส่วนนำไปสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต และตั้งเป้าการเติบโตที่ปีละ 25 %

ส่วนผลพลอยได้ที่ตามมานอกเหนือจากความชัดเจนในเกมรบ คือ ค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ถูกลง เมื่อได้รับข้อเสนอเรื่องดอกเบี้ยจากธนาคารที่ดีขึ้น จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง บริษัทที่ผ่านการจัดโครงสร้างใหม่ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล

กลายเป็นองค์กรที่โปร่งใส น่าเชื่อถือ มีระบบบัญชีที่ดี ระบบควบคุมภายในที่ดีขึ้น พัฒนาองค์กรไปอีกขึ้น กลายเป็น"ของแถม" ในการเข้าตลาดทุนของพวกเขา

ด้าน “วรชาติ ทวยเจริญ” ที่ปรึกษาทางการเงินจาก บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เบื้องหลังการนำพา ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม เข้าสู่ตลาดเอ็มเอไอ บอกว่า การเข้ามาใช้ประโยชน์ในตลาดทุน เป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่กำลังเติบโต โดย เอสเอ็มอีจะได้รับเงินลงทุนในระยะยาว เสริมภาพลักษณ์ให้กับบริษัท เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ และเป็นมืออาชีพขึ้น โดยคุณสมบัติที่กำหนดให้บริษัทซึ่งจะเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ก็เปิดโอกาสให้บริษัทขนาดเล็กได้เข้ามาระดมทุนและเข้าถึงตลาดทุนได้ง่าย.. ไม่ไกลตัวอีกต่อไป

“เชื่อว่าเอสเอ็มอีสามารถทำได้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องเจอคือ กฎระเบียบที่มีความยุ่งยากขึ้น ซึ่งถ้าผู้บริหารไม่ปรับตัวก็อาจรู้สึกอึดอัดบ้าง แต่การปรับปรุงในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่เพื่อให้เราได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเราเอง เพื่อรู้ต้นทุนที่แท้จริง ทราบจุดอ่อนของตัวเอง และช่วยปิดจุดอ่อนนั้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

เอสเอ็มอีที่อยากเติบโตในตลาดทุน ก็ลองศึกษาจากเส้นทางของพวกเขา เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพ คัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินและผู้สอบบัญชี พร้อมก้าวสู่เส้นทาง “บริษัทมหาชน” ตามเป้าหมาย

..........................................

Key to success
เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ
๐ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำหลัง IPO ต้องมากกว่า 20 ล้านบาท
๐ เตรียมพัฒนาระบบบัญชี และควบคุมภายใน ด้วยตัวเอง
๐ เลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่เข้าใจในธุรกิจ
๐ ปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนด
๐ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจนและถูกต้องแก่ที่ปรึกษาทางการเงิน
๐เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมสู่เส้นทางบริษัทมหาชน