ตั๋วโควตากลาง‘บ้านจันทร์’ว่อน นั่งขรก.การเมือง สอดแนม รัฐมนตรี

ตั๋วโควตากลาง‘บ้านจันทร์’ว่อน   นั่งขรก.การเมือง สอดแนม รัฐมนตรี

ยุค “รัฐบาลแพทองธาร” ต้องจับตาการแต่งตั้ง “ข้าราชการการเมือง” เมื่อกระแสสะพัด “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ลิสต์รายชื่อคนไว้ใจ-คนใกล้ตัว ให้มานั่งเก้าอี้เลขานุการ-ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย ใน “โควตากลาง” ของพรรคเพื่อไทย ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หรือไม่

KEY

POINTS

  • รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ระมัดระวังการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง เนื่องจากมี "ฝ่ายแค้น" จ้องเล่นงานฟ้องร้องปมจริยธรรม
  • ตำแหน่ง เลขานุการ-ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย บรรดารัฐมนตรี จึงล่าช้าออกไป เพราะต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเสียก่อน
  • ทว่าอีกกระแสมีข่าว "ตั๋วจากโควตากลาง" ส่งคนจาก "บ้านจันทร์ส่องหล้า-พรรคเพื่อไทย" ให้คอยสอดแนมรัฐมนตรี โดยที่ตัวรัฐมนตรีไม่ได้เลือก เลขานุการ-ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย ด้วยตัวเอง

ลุ้นกันอีกหลายเฮือก สำหรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ทั้งเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-ผู้ช่วยรัฐมนตรี เนื่องจาก “บิ๊กเพื่อไทย” เดินเกมรัดกุม ส่งตรวจคุณสมบัติแคนดิเดตทุกคน หากพบปมสุ่มเสี่ยง “ชื่อตัวเต็ง”จะถูกตีตกทันที

จากเดิมจะมีการตรวจสอบประวัติจากหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 2-4 แห่ง แต่เพื่อเซฟเก้าอี้ “นายก อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ไม่ให้มีช่องโหว่ เปิดทางให้“ฝ่ายแค้น” ได้ร้องเรียน จึงส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 แห่ง ช่วยกันตรวจสอบ รวมถึงสำนักงานศาลยุติธรรม กรมพัฒนากรมธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

เมื่อมี “นักร้อง” จับจ้องทุกฝีก้าว “บิ๊กรัฐบาล” ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น 

รัฐบาลแพทองธาร ประชุม ครม.มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่มีวาระพิจารณารายชื่อ “ข้าราชการการเมือง” คาดว่าการประชุม ครม.วันที่ 1 ต.ค. จะทยอยแต่งตั้งตามรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ

 การวางตัว “ข้าราชการการเมือง” จะเป็นอำนาจของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่จะเสนอคนของแต่ละพรรค เข้ามาช่วยงาน “รัฐมนตรี” โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้คนที่สนับสนุนงานพรรคมาก่อน

สูตรแรก มอบตำแหน่งให้ อดีตผู้สมัคร สส. - สส.สอบตก เพื่อรั้งตัวให้อยู่กับพรรคต่อไป อีกทางหนึ่งสามารถใช้ตำแหน่งต่อยอดงานมวลชน-งานฐานเสียงในพื้นที่ได้

สูตรสอง มอบตำแหน่งให้ “เครือข่ายนายทุน” เพราะต้องตอบแทน “ทุนทรัพย์” ด้วยตำแหน่งทางการเมือง โดย “นายทุน” จะส่งคนที่ไว้วางใจมานั่งในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจของตัวเอง

สูตรสาม มอบตำแหน่งให้ “โควตากลาง” คัดจากเครือข่าย ลูก-หลาน “เจ้าของพรรค-บิ๊กการเมือง” สูตรนี้ไม่ต้องตอบแทนใคร แต่มีภารกิจให้เฝ้า “ขุมทรัพย์” คอยเป็นหูเป็นตา หาก “เสนาบดี” คนไหน นอกลู่นอกทาง จะมีรายงานไปถึง “เจ้าของพรรค-บิ๊กการเมือง” ทันที

มีกระแสข่าวว่า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ส่งสัญญาณไปถึงบรรดา“รัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย”ว่า รอบนี้จะมีการรื้อ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง โดยจะส่งคนจาก“โควตากลาง”ไปทั้งหมด

โดยไม่ใช้วิธีและแนวทางเหมือนช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่รัฐมนตรีหลายคนสามารถเลือกอดีตผู้สมัคร สส. - คนใกล้ชิด เข้าไปเป็นข้าราชการการเมืองได้ ทว่า อาจจะมีข้อยกเว้นกับ “เสนาบดีบิ๊กเนม” ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก “นายใหญ่”

มีกระแสเล่าลือกันในพรรคว่า จะมีการส่งคนเข้าไปเกือบทุกกระทรวง โดยจะนำส่งเข้า “ส่วนกลาง” ให้เป็นระบบ เหมือนโมเดลที่เคยทำมาในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย-รัฐบาลเพื่อไทย ภาค 1 ซึ่งว่ากันว่าบางกระทรวง “รัฐมนตรี” กับเลขานุการ-ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย แทบไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

บทเรียนในอดีตต้องย้อนไปในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีของ “หมอโด่ง” พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ถูกส่งมาจาก “โควตากลาง” ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ของ “เสี่ยฮุก” บุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งไม่ได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง แต่มี “เจ๊ ด.” การันตีฝีมือ

“หมอโด่ง” มีภารกิจพิเศษให้ปฏิบัติการ โดยที่ “บุญทรง” สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ในหลายเรื่อง กระทั่งเกิดคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี จน “บุญทรง” ต้องโทษจำคุก 48 ปี และติดคุกมาตั้งแต่ปี 2560 และต่อมาได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุก 10 ปี กำหนดพ้นโทษช่วงปี 2571

สำหรับ “หมอโด่ง” ที่ถูกระบุว่าเป็น “คีย์แมน” ในการทุจริตจีทูเจี๊ยะ และถูกตัดสินลับหลังให้จำคุก 72 ปี แต่หลบหนีไปก่อน ยังไม่สามารถตามตัวกลับมารับโทษได้  ส่วน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตกกระไดพลอยโจน ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ต้องหนีไปต่างแดน รอ “พี่ชาย” เดินเกมพากลับประเทศ

มาในยุค “รัฐบาลแพทองธาร” ต้องจับตาการแต่งตั้ง “ข้าราชการการเมือง” เมื่อกระแสสะพัด “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ลิสต์รายชื่อคนไว้ใจ-คนใกล้ตัว ให้มานั่งเก้าอี้เลขานุการ-ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย ใน “โควตากลาง” ของพรรคเพื่อไทย ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” หรือไม่