กองทุนFTAอนุมัติงบ40ล้านหนุนปลูกพริกไทย

กองทุนFTAอนุมัติงบ40ล้านหนุนปลูกพริกไทย

กองทุน FTA อนุมัติงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท หนุนปลูกพริกไทย-เลี้ยงโคขุนคุณภาพสูง รับมือเปิดเออีซี

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศหรือกองทุน FTA คณะกรรมการบริหารกองทุนฯได้อนุมัติงบประมาณ 40.88 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) 2 โครงการ ได้แก่โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพริกไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีงบประมาณจ่ายขาด 5.80 ล้านบาท

สำหรับนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเดิมที่มีผลผลิตเฉลี่ย 542 ก.ก./ไร่ให้เพิ่มขึ้นมาเป็น 709 ก.ก./ไร่ โดยดำเนินการสร้างแปลงต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกไทยให้มีคุณภาพส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการผลิตที่ดีและเหมาะสม(GAP) และฟื้นฟูสวนพริกไทยเก่าที่ปลูกมาตั้งแต่ปี 2548 ที่ผลผลิตลดลงเหลือ542 ก.ก./ไร่ ให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 709 ก.ก./ไร่ ของเกษตรกรในพื้นที่ 4อำเภอ ได้แก่ แก่งหางแมว ท่าใหม่ นายายอาม และเขาคิฌชกูฏ จำนวน 80 รายพื้นที่ 160 ไร่ ของจังหวัดจันทบุรี

โครงการที่ 2 คือ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีงบประมาณจ่ายขาด 2.34 ล้านบาทและเงินยืมปลอดดอกเบี้ยจำนวน 32.74 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สร้างโรงฆ่า โคมาตรฐาน ขนาด 20-25 ตัวต่อวัน ของสหกรณ์โคเนื้อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนโรงฆ่ามาตรฐานระดับกลางน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตเนื้อโคตลอดสายการผลิต ทำให้เนื้อโคขุน มีคุณภาพดีจากต้นน้ำจนถึงมือผู้บริโภคระดับปลายน้ำในตลาดคุณภาพสูงที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วให้ครบวงจรทดแทนการนำเข้าเนื้อโคขุนคุณภาพดีจากต่างประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ โรงฆ่าโคมาตรฐานดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่งและจะสามารคถเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2558 เพื่อรองรับ AECอันเป็นการช่วยพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าโคขุนคุณภาพสูงจากแหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภครวมทั้งใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ ศึกษา วิจัยและฝึกปฏิบัติด้านการฆ่าโคตามหลักมาตรฐานสากลของนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปอย่างกว้างขวางด้วยสำหรับ เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่มีความประสงค์จะขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯสามารถจัดทำเป็นโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้านั้นๆเสนอผ่านหน่วยงานราชการระดับกรม เพื่อส่งต่อให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนฯเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไปได้เช่นกัน