คอนเทนต์ (โปรวายเดอร์) is King
ทีวีดิจิทัล ปลุกตลาดคอนเทนต์โปรวายเดอร์ "แจ้งเกิด" หน้าใหม่ผลิตรายการป้อน 24 ช่อง เนื้อหาดี
แตกต่าง สายป่านยาว "จุดแข็ง" ฝ่าด่านอรหันต์
นับถอยหลังสู่การ "ชิงดำ" ประมูลเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ในกลางเดือนธันวาคม 2556 หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ปิดการซื้อซองประมูลทีวีดิจิทัลไปเรียบร้อยแล้ว โดยสรุปรายนามผู้ที่จ่อยื่นซองประมูลทีวีดิจิทัล ทั้งสิ้น 33 บริษัท จำนวน 49 ซอง แบ่งเป็น
โดยมีช่องทั่วไป (วาไรตี้) ระบบความคมชัดมาตรฐาน (Standard Definition:SD) 7 ช่อง, วาไรตี้ระบบความคมชัดสูง (High Definition:HD) 7 ช่อง, รายการข่าวสารและสาระ 7 ช่อง และช่องสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 จำนวน 3 ช่อง โดยรายชื่อผู้ "ซื้อซองประมูล" ล้วนเป็นกลุ่ม "ทุนหนา" หน้าเดิม จะมีหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันให้เห็นบ้าง แต่เรื่องเงินทุน "ปึ้ก" ไม่แพ้ใคร
เรียกว่า แค่รายชื่อก็ สะท้านสะเทือนวงการ!!
แก่งแย่งแข่งประมูลกันขนาดนี้ แล้วมีคอนเทนต์ ที่เป็น "อาวุธ" ในมือพร้อมแค่ไหน?? เพราะตามเงื่อนไขการประมูล ต้องแพลตฟอร์มพร้อมออกอากาศทันที
"ดร.สิขเรศ ศิรากานต์" นักวิชาการอิสระ ผู้เกาะติดสถานการณ์ทีวีดิจิทัล วิเคราะห์ว่า การเกิดทีวีดิจิทัล จะสร้างปรากฏการณ์ให้กับตลาดผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ (Content Provider) หรือบริษัทโปรดักส์ชั่น เฮ้าส์ ให้เข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง ถึงขั้นขนานนามว่าจะเป็นยุค 'Renaissance' (ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป) หรือการ "แจ้งเกิด" ธุรกิจคอนเทนต์โปรวายเดอร์
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะท่ามกลางสถานการณ์ขาใหญ่ที่จ่อประมูลช่อง (Bidder) ต้องแบกภาระต้นทุนหลายด้าน ทั้งราคาตั้งต้นประมูล (ช่องเด็ก 140 ล้านบาท, ข่าว 220 ล้านบาท, วาไรตี้เอสดี 380 ล้านบาท และเอชดี 1,510 ล้านบาท) ค่าเช่าโครงข่าย (Multiplex: MUX) สุดท้ายคือค่าบริหารธุรกิจ (Business Operation)
จ่ายกัน 3 เด้งเพื่อ "ซื้อโอกาส" ในการครอบครองช่อง
ทว่า...ตัวเต็งในวงการที่ปวารณาตัวเองชัดเจนว่า "ไม่ขอทุ่มเงิน" ประมูลทีวีดิจิทัลมีหลายราย ต่างเก็บกระสุนทุนไว้ผลิตคอนเทนต์ป้อนช่อง ที่ความต้องการจะเกิดขึ้น "มโหฬาร"
เพราะเมื่อธุรกิจทีวีขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์ (รายการ) ย่อมทำให้ทุกรายที่ประมูลช่องได้เที่ยว "วิ่งเข้าหา" คอนเทนต์โปรวายเดอร์
หากเป็นผู้ผลิตที่ฝีมือฉกาจ เก่งและแกร่งจริง ย่อมเห็นงาน "ชุก" นับจากนี้
"อำนาจ อาจไม่ได้อยู่ที่ช่อง แต่อำนาจอาจมาอยู่ที่คอนเทนต์ โปรวายเดอร์" ดร.สิขเรศ ย้ำ
แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายต้องหา Solution หรือสูตรที่ทำให้ทุกฝ่าย win win เพียงแต่ตอนนี้ทุกรายโฟกัสที่การประมูล และค่าเช่าโครงข่าย เป็นหลัก
ไม่เพียงคอนเทนต์ โปรวายเดอร์หน้าเดิม ทีวีดิจิทัลยังทำให้เกิด "หน้าใหม่" ในวงการคอนเทนต์โปรวายเดอร์ เพราะการทำทีวีให้มีรายการออกอากาศ 12-24 ชั่วโมง เป็นเรื่องยากมาก เทียบกับที่ผ่านมาทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีอาจนำรายการเดิม "ฉายซ้ำ" (รีรัน) แต่เมื่อเป็นทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (Terrestrial Television) การรีรัน ย่อมมีผลต่อเรทติ้ง
"รายการทีวีจะถูกบังคับให้ออกอากาศ 24 ชั่วโมงโดยปริยาย เพื่อแย่งชิง eyeball และไม่ใช่แค่การแข่งแพลตฟอร์ม แต่ต้องแย่งชิงเวลาด้วย เพราะช่วงกลางคืนเป็นเวลาของการเล่นอินเทอร์เน็ต ทำอย่างไรทีวีจะดึงคนกลุ่มนี้ได้ เพราะมีปริมาณมาก"
วันนี้ผู้ผลิตไม่ใช่แค่ทำรายการป้อนช่อง แต่ต้องสร้างสรรค์ลูกเล่นใหม่ๆให้วงการทีวี เช่น รายการอเมริกัน ไอดอลของสหรัฐฯ ที่มีกิจกรรมโต้ตอบ (Interactive) กับคนดู
นักวิชาการอิสระรายนี้ ยังบอกด้วยว่า การประมูลทีวีดิจิทัล เป็นเพียงการ "เปิดประตูรับน้ำ 24 ประตู" ที่ยังไม่มี "มาตรวัด" ว่าน้ำจะไหลไปยังช่องทางใด และมากน้อยอย่างไร ดังนั้นคอนเทนต์จึงมีส่วน "ชี้ชะตา" เม็ดเงินโฆษณาที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท
อีกหนึ่ง Bidder (ผู้ประมูล) รายใหญ่ที่ต้องจับตา "เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ยอมรับว่า ทีวีดิจิทัล จะเป็นเวที "แจ้งเกิด" คอนเทนต์โปรวายเดอร์รายใหม่ๆ โดยอสมท ก็พยายามมองหาพันธมิตรผู้ผลิตรายการใหม่ๆเข้ามาเสริมทัพ จากปัจจุบันทั้งช่องมีผู้ผลิตรายการป้อนให้กับบริษัทราว 20-30 รายเท่านั้น
ทว่า...สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะเข้ามา "แบ่งเค้ก" ในธุรกิจทีวีคือคอนเทนต์ที่ "แตกต่าง" จากตลาด เพราะการแข่งขันในสังเวียนนี้ถือว่า "สูง"
คอนเทนต์ที่ดี โดน ก็จะดึงดูดคนดูได้
สอดคล้องกับ "อภินันท์ จันทรังษี" อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ NBT ที่บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายการป้อนให้กับช่องหลักสิบราย และเมื่อมีทีวีดิจิทัล ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์เพิ่ม รูปแบบรายการจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยอิงความต้องการของผู้บริโภค และแต่ละช่องต้องแข่งกันปั้นแพลตฟอร์มให้เด่นและแตกต่างกันไป
เมื่อจำนวน "ช่องเพิ่ม" ย่อมเป็นโอกาสของการเกิดคอนเทนต์โปรวายเดอร์ เมื่อเทียบกับอดีต "ยากมาก" ที่หน้าใหม่จะฝ่าด่านอรหันต์ เพราะราคาค่าเช่าเวลาแพงระยับ
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยังบอกด้วยว่า นี่ไม่ใช่แค่โอกาสของผู้ผลิตรายใหม่ เพราะในแง่ของผู้บริโภค ก็จะได้ดูรายการที่หลากหลายมากขึ้น เรียกว่าเป็น "กำไร" ของคนดู
ขณะที่หนึ่งในสี่ผู้ผลิตคอนเทนต์หลัก (กันตนากรุ๊ป, เจเอสแอล, เวิร์คพอยท์ และทีวีธันเดอร์) อย่าง "ภัทรภร วรรณภิญโญ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีธันเดอร์ จำกัด คร่ำหวอดในแวดวงโทรทัศน์มากว่า 2 ทศวรรษ สร้างสรรค์รายการ และละครมากกว่า 100 ชิ้นงาน ป้อนให้กับทุกช่อง!! ได้ให้มุมมองว่า
เมื่อมีช่องทีวีจำนวนมาก ย่อมเป็น "โอกาส" เพราะแต่ละช่องต้องแสวงหาคอนเทนต์ที่ดี ยิ่งผู้ผลิตมืออาชีพ ย่อมถูกจีบจากผู้ประมูล ซึ่งทีวีธันเดอร์เอง ก็มีหลายช่องที่ให้ความสนใจ "แต่ขออุบไว้" จนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้น
"ความพร้อม" ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ผลิตที่จะดึงดูดเจ้าของช่อง นั่นทำให้ทีวีธันเดอร์ ควักงบ 200 ล้านบาท เตรียมผุดสตูดิโอเพิ่มย่านทาวน์ อิน ทาวน์ จากปัจจุบันมีอยู่ 2 สตูดิโอ ห้องตัดต่อ ห้องบันทึกเสียงเป็นของตัวเองครบครัน และยังปรับห้องเก็บไฟล์รายการจากเอสดี และดิจิทัล
ด้านรายการ ผู้บริหารทีวีธันเดอร์ เล่าว่า มีความสามารถในการผลิตได้อีก 5 รายการ จากปัจจุบันทีมงานกว่า 130 ชีวิต ผลิตรายการได้ 6-7 รายการต่อปี ไม่นับรวมกับทีมงานนอกบริษัทอีกนับร้อยชีวิต บริษัทยังเปิดสายการผลิตรายการจากต่างประเทศมาเสริมทัพ
"เราสามารถผลิตรายการเพิ่มได้อีก 5 รายการ ด้วยจำนวนบุคลากรที่มี ซึ่งเราได้พัฒนาเด็กใหม่ๆเข้ามาทำงานไว้แล้ว" เธอย้ำ
ในฐานะเป็นผู้เก๋าเกมด้านคอนเทนต์ ถามว่าเจอหน้าใหม่มาแบ่งเค้กบ้างหรือไหม ผู้บริหารรายนี้ บอกว่า "ยังไม่มี" แต่เมื่อตลาดมี "Need" หรือความจำเป็นมากขึ้น ผู้ผลิตที่มีอยู่ "นับร้อย" รายในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ
เมื่อฮาร์ดแวร์ (ทีวีดิจิทัล) เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ถึงเวลาที่ตลาดคอนเทนต์ต้องล้อตาม ซึ่งผู้ผลิตและเจ้าของช่องคงจะหาโอกาสทำงานร่วมกัน
ผู้ผลิตรุ่นลายครามยังฝากแง่คิดถึงคอนเทนต์โปรวายเดอร์หน้าใหม่ว่า ความตั้งใจผลิตรายการที่ดี ตั้งอยู่บนมาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่จะแทรกซึมเข้ามาในวงการนี้ "เงินทุน" ก็เป็นปัจจัยเสริมให้ผู้ที่จะก้าวเท้าเข้ามาคลุกวงใน ควรศึกษาลู่ทางการลงทุน และสร้างสรรค์ผลงานให้ถ่องแท้
"การผลิตคอนเทนต์ คือการลงทุนล่วงหน้า กว่าจะเก็บเงินจากตลาดได้ต้องใช้เวลาและรอ เพื่อให้คอนเทนต์เกิดการยอมรับเสียก่อน" นี่เป็นโจทย์หินที่ต้องขบคิด
ส่วนการจะผลิตคอนเทนต์ให้โดนใจคนดู คงต้องขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละค่าย ที่จะงัดออกมาสร้างความได้เปรียบน้องใหม่ ชี้ให้เห็นว่าแม้ทีวีดิจิทัล จะเป็นโอกาสของคอนเทนต์โปรวายเดอร์ แต่ใครจะคว้าโอกาสนั้นได้มากน้อยแค่ไหน น่าคิด !!!
"การเกิดทีวีดิจิทัล ทำให้คอนเทนต์โปรวายเดอร์ ได้ประโยชน์เต็มๆ" ในมุมมองของ "วราวุธ เจนธนากุล" ประธานกรรมการ บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ก่อนขยายความว่า เมื่อจำนวนช่องเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จะหาเวลาออกอากาศ (Air times) ได้มากขึ้น
เมื่อมีช่องทางเพิ่ม บริษัทก็ต้องเตรียมพร้อม ทุ่มทุน 150-200 ล้านบาท ลุยหาสถานที่ผุดสตูดิโอเป็นของตัวเอง ซึ่งเขาเล็งทำเล "บางนา" ไว้
การมีสตูดิโอของตนเองจะทำให้ดูแล "ต้นทุน" ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับงานในอนาคตจากปัจจุบันบริษัทผลิตรายการ และละครรวม 5 รายการ เช่น ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์ ทางททบ.5 ,ซิทคอมเณรจ๋า ทางช่อง 7 ,นักคิดตะลุยอาเซียน ทางโมเดิร์นไนน์ เป็นต้น พร้อมทั้งยกชั้นการผลิตรายการสู่ระบบเอชดี ล้างภาพเอสดี ทั้งหมด
เขายังตั้งงบลงทุนอีก 10-20 ล้านบาท ซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมา"ตุน" จากที่มีอยู่กว่า 10 รายการ ไว้รอปล่อยของในจังหวะที่เหมาะสม
เรียกว่างานนี้ ผู้ผลิตรายการตั้งป้อมปราการรับมือเต็มที่ เขายังบอกว่า เริ่มเห็นหน้าใหม่ในวงการคอนเทนต์ โปรวายเดอร์บ้างแล้ว อาทิ เหล่าคนดังในวงการบันเทิงหลายรายที่ผันตัวมาเป็นผู้จัด ผู้ผลิตคอนเทนต์ หากแต่สมรภูมิรบ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้เล่นรายใหม่
เขาบอกว่า "เครดิต" ที่เคยผลิตรายการมาก่อน ถือเป็น"แต้มต่อ" และที่สำคัญหากพูดคุยกับ "ผู้บริหารช่อง" ได้ จะเพิ่มภาษีให้ธุรกิจได้อีกมาก
แน่นอนเมื่อธุรกิจมีการแข่งขัน เงินทุนจึงสำคัญ ใครสายป่านยาวย่อมทำให้อยู่ในอุตสาหกรรมทีวีได้นานกว่า เพราะการผลิตรายการวาไรตี้ เกมส์โชว์ต่างๆเพื่อออกอากาศแต่ละครั้งต้นทุนสูงถึง 2-3 แสนบาท หรือกระทั่ง 5-6 แสนบาท ก็มีให้เห็น แต่ถ้าเป็นละครตอนหนึ่งที่ผู้ชมได้ดู จะใช้เม็ดเงินมาก 2-3 ล้านบาทต่อตอน ขึ้นอยู่กับโปรดักชั่น
เมื่อเกิดหน้าใหม่..เข้ามาเป็นส่วนผสมในวงการ แล้วหน้าเก่าล่ะ!! จะตั้งการ์ดสู้อย่างไร
เรื่องนี้ "วราวุธ" บอกว่า ผู้ที่ผลิตรายการอยู่แล้ว ก็ต้องยกระดับปรับคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการรับชมทีวีพลิกโฉมไปมาก สามารถเสพสื่อได้หลายช่องทางทั้ง Youtube อินเทอร์เน็ต
ดังนั้นหากสร้าง "กระแส" ให้ดังเป็นพลุแตกในโลก online เชื่อมโยง offline ย่อมสร้างความได้เปรียบ !!
วราวุธยังย้ำถึงหน้าใหม่ที่อยาก "ชิมลาง" วงการทีวีว่าต้องฝ่าด่านมากมาย เพราะปัจจุบันตลาดรายล้อมด้วยผู้เล่น "นับร้อย"
แนวคิดและฝีมือดีอาจช่วยแก้โจทย์ธุรกิจได้บ้าง หากแต่..เทคนิคการ "ขาย" รายการดึงดูดเอเยนซี่ สปอนเซอร์ให้ซื้อโฆษณาก็ต้องใช้คมในฝักเช่นกัน เพราะตลาดคอนเทนต์ย่อมสัมพันธ์กับเม็ดเงินโฆษณา
ทั้งนี้หากพิจารณารายการที่ออกอากาศในทางฟรีทีวี 6 ช่อง ในปัจจุบันล้วนมาจากบิ๊กเพลย์เยอร์ ซึ่งรายการเดียวกันอาจออกอากาศทางทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี เช่น
ชิงร้อยชิงล้าน ที่มีทั้งช่องของเวิร์คพอยท์ ทีวี และช่อง 3 หรือการถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก World Championship 2013 ที่มีเวิร์คพอยท์กับช่อง 3ถ่ายทอดร่วมกัน
การถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย AVC Asian Women's Volleyball Championship 2013 ที่ช่อง 7 ถ่ายทอดทางฟรีทีวี และมี SMMTV ร่วมถ่ายทอดทางเคเบิลทีวี ละคร ข่าวช่อง 7 ออกอากาศทางฟรีทีวีแล้ว ยังออกอากาศซ้ำที่มีเดีย แชลเนล เป็นต้น
ขณะเดียวกัน รายการโทรทัศน์ในปัจจุบันยังซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ ทั้งบิ๊กซีนีม่า (ภาพยนตร์นานาชาติ) ช่อง 7 ซีรี่ส์เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ออกอากาศช่อง 7 ไทยพีบีเอส ช่อง วัน ของแกรมมี่ การซื้อลิขสิทธิ์เกมโชว์จากต่างประเทศมาผลิตในไทย เช่น take me out Thailand ที่ทีวีธันเดอร์ผลิตป้อนช่อง 3, รายการ the Voice Thailand เวิร์คพอยท์ผลิตให้ทรู ป้อนช่อง 3 รายการเชฟกระทะเหล็กทางช่อง 7 เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการ "รายการน้ำดี" เพื่อใช้เป็น Magnet หรือ แม่เหล็กดึงดูดสายตาผู้ชม ชิงเม็ดเงินโฆษณาก้อนเดียวกัน
วันนี้เมื่อการแข่งขันของธุรกิจทีวีอยู่บนระนาบเดียวกัน จากเดิมเค้กโฆษณา 6-7 หมื่นล้านบาท กระจุกอยู่ที่ฟรีทีวี 6 ช่อง ถูกกระจายไปยัง 24 ช่อง จึงต้องจับตาดูว่า คอนเทนต์แต่ละช่องจะมัดใจสปอนเซอร์ได้มากน้อยแค่ไหน
แล้วคอนเทนต์ใครจะขับเคลื่อน "เรตติ้ง"ช่องให้ไปรอด ในยุคเรเนซองส์ของวงการมีเดีย
---------------------------------------------
"หน้าใหม่" ไหวไหม ???
ด้านหน้าใหม่ของวงการที่ขอผันตัวผลิตรายการโทรทัศน์สุดชิค “C.I.Y.” (Cook It Yourself) ออกอากาศทาง youtube เรียกน้ำย่อยได้ 2 เดือน ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่วงการทีวีเต็มขั้น "น่าน หงษ์วิวัฒน์" ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สำนักพิมพ์แสงแดด จำกัด เห็นพ้องกับพี่ใหญ่ทุกราย และเชื่อมั่นว่า ทีวีดิจิทัล จะเปิดทางให้รายใหม่อย่างบริษัทได้ขยับขยายธุรกิจบ้าง
"ส่วนใหญ่คอนเทนต์ของบริษัทเราอยู่ในหนังสือ แต่นี่เป็นโอกาสดีของผู้ที่มีคลังความรู้ และคอนเทนต์อยู่ในมือ" เขาบอก พร้อมยกตัวอย่างความพร้อมของบริษัทที่มีหนังสือมากมายหลากหลายเรื่องราวที่จะป้อนคนดู ทั้งรายการทำอาหาร ที่มีฐานจากนิตยสารครัว และสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมการประกอบอาหาร เช่น ที่มาที่ไปของการผลิตน้ำปลา เป็นต้น
เขาเริ่มระดมทีมงานคิดวางแผน หาคอนเซ็ปต์ หากได้เวลาออกอากาศ 30 นาทีจะต้องทำอะไรบ้าง ตลอดจนศึกษากลุ่มเป้าหมายผู้ชมต่างๆ
ขณะที่โจทย์ใหญ่ของการทำทีวีสำหรับเขามองการ "ถูกกลืน" คอนเทนต์ จากโฆษณา และสปอนเซอร์เป็นตัวบีบบังคับ มีการ tie in สินค้าในรายการ แม้จะจำเป็นต้องมี แต่ก็ขอให้มาแบบเบาๆ ไม่ใช่มุ่งจะขายอย่างเดียว
"กลัวสิ่งที่ตั้งใจทำ หรือคอนเทนต์จะถูกกลืนโดยสปอนเซอร์ โฆษณา อยากให้แยกกันเหมือนต่างประเทศที่โฆษณาคือโฆษณา รายการคือรายการ การ tie in ในรายการทำได้แต่ต้องไม่ใช่ Hard Sell เรื่องนี้ก็ต้องดูว่าเราจะต้านกระแสไหวไหม"
นอกจากนี้ เพื่อให้เนื้อหายังเข้มข้น เขายังมุ่งสร้างฐานผู้ชมโดยเพิ่ม Fanpage ใน Facebook เกมต่อรองและการันตีให้ค่ายสินค้าไม่ต้องกังวลว่าจะไร้กลุ่มเป้าหมายเห็นผลิตภัณฑ์นั้นๆ
หน้าใหม่อย่างเขายังไม่กังวลกับขึ้นสังเวียนแข่งขันในธุรกิจคอนเทนต์โปรวายเดอร์ เพราะใช้ความตั้งใจเข้าสู้ พยายามเก็บรายละเอียดผลิตรายการยากให้เป็นรายการน้ำดีป้อนคนดู
งบลงทุน 5 ล้านบาท ตั้งหน่วยงานผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อาจดูน้อยไปสำหรับหน้าใหม่อย่างสำนักพิมพ์แสงแดด แต่การสร้างสรรค์รายการให้ออกอาอากาศ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน นั่นทำให้ช่องต้องวิ่งหาผู้ผลิตรายการป้อนเช่นกัน
ด้านพี่ใหญ่ของวงการอย่าง "จาฤก กัลย์จาฤก" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตลาดคอนเทนต์ยังเป็นของ 3-4 ขาใหญ่ "คุมอยู่" และจะได้รับโอกาสมากขึ้น จากจำนวนช่องที่เพิ่มเป็น 24 ช่อง
"ที่เป็นคู่แข่งกันเอง คงงานเยอะขึ้น เผลอๆทุกรายได้รับงาน ก็แฮปปี้กันหมด ไม่ต้องแย่งกัน"
ส่วนรายเล็ก อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออาจไม่พร้อม ก็อาจเป็นแค่ตัวประกอบที่คอย "รับช่วงงาน" อีกทอดหนึ่ง