เปิดกลยุทธใหม่ฮอนด้า'ไม่เน้นยอดขาย'

เปิดกลยุทธใหม่ฮอนด้า'ไม่เน้นยอดขาย'

"ฮอนด้า"เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เข้ามาทดสอบระบบสูบลมภายในถุงลมนิรภัยที่เป็นต้นตอของปัญหา

หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ นายทากาโนบุ อิโตะ เพิ่งฉลองในโอกาสที่บริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ครบ 300 ล้านคัน บริเวณลานหน้าโรงงานคุมาโมโตะ ทางใต้ของญี่ปุ่นไปไม่นาน ก็ถูกกระแสเรียกคืนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวนกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก จากปัญหาถุงลมนิรภัย ที่ผลิตโดยบริษัททากาตะ กรุ๊ป ซัพพลายเออร์สัญชาติเดียวกัน เล่นงานจนแทบตั้งตัวไม่ทัน

ปัญหาการเรียกคืนรถ ทำให้คณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐ ดำเนินการไต่สวนฮอนด้า และทากาตะ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงรู้ว่า ฮอนด้า ไม่ได้รายงานการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้บริโภค 1,700 กรณี ให้เจ้าหน้าที่สหรัฐรับรู้ ตั้งแต่ปี 2546 ในจำนวนนี้ 8 กรณีเกิดจากปัญหาถุงลมนิรภัยของของทากาตะ ซึ่งฮอนด้าให้เหตุผล ที่ไม่ได้รายงานว่า เกิดจากความผิดพลาดด้านกฎระเบียบและเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องรายงาน

แต่ฮอนด้า ก็เรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัททากาตะ เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เข้ามาทดสอบระบบสูบลมภายในถุงลมนิรภัยที่เป็นต้นตอของปัญหา เนื่องจากมีค่ายรถยนต์ 10 แห่ง นอกจาก ฮอนด้า ที่ต้องเรียกรถคืนเกือบ 17 ล้านคันทั่วโลก ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทากาตะ ก็มีท่าทีตอบรับ และเตรียมจัดทีมผู้เชี่ยวชาญอิสระมาตรวจสอบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับซัพพลายเออร์ถุงลมนิรภัยและระบบสูบลมรายอื่น ทั้งยังเป็นการเร่งซ่อมแซมและเปลี่ยนชิ้นส่วนให้กับรถยนต์หลายล้านคันที่มีปัญหาด้วย

นอกจากนี้ รถยนต์รุ่นฟิต เวอร์ชั่นใหม่ของฮอนด้า ที่ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2556 และเป็นความหวังของบริษัทที่จะดันยอดขายทั่วโลกให้เติบโต ก็ประสบปัญหาเรียกรถคืนหลายครั้งเช่นกัน

ข้อผิดพลาดดังกล่าว ทำให้ฮอนด้า ตัดสินใจชะลอแผนขยายกิจการของนายอิโตะเอาไว้ก่อน เพราะความเชื่อมั่นที่ลดลงจนกระทบกับรายได้ในตลาดโลก นอกจากนี้ ฮอนด้า ต้องนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ดีไซน์ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ มาเป็นจุดขายให้กับผู้บริโภค ทั้งยังต้องลดต้นทุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 จนกระทบต่อยอดขายโดยรวมในสหรัฐ

นายอิโตะ มักจะย้ำกับพนักงานอยู่เสมอ ให้เร่งผลิตสินค้าที่ดึงดูดสายตาผู้บริโภคออกมา และต้องเป็นรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณน้อย อีกทั้งเขายังมีความทะเยอทะยานที่จะเพิ่มยอดขายรายปีให้ได้ตามเป้าคือ 6 ล้านคันภายในปี 2560 อีกด้วย แต่อาจทำไม่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากปัญหาข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้น

แต่การเรียกรถยนต์คืนหลายครั้ง ทำให้ท่าทีของนายอิโตะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยให้ความสำคัญกับการทำยอดขาย มาเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคแทน

นายทากากิ นากะนิชิ นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้ความเห็นว่า การกดดันตัวเองเพื่อทำยอดขายให้ได้ตามเป้ามานานหลายปีทำให้ฮอนด้า เริ่มสูญเสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ ที่เน้นนำรถยนต์ราคาถูกออกมาจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม อดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร 2 คนก่อนหน้านายอิโตะ อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 6 ปี และถ้าหากฮอนด้า ยังตกตกอยู่ในสถานการร์เช่นนี้ ก็อาจถึงคราวที่นายอิโตะ จะต้องก้าวลงจากตำแหน่ง แม้เขายังไม่เคยพูดถึงแผนวางตัวผู้นำบริษัทคนใหม่ออกมาเลยก็ตาม