วิกฤติ 'เงินรูเบิล' รัสเซีย

วิกฤติ 'เงินรูเบิล' รัสเซีย

วิกฤติ 'เงินรูเบิล' รัสเซีย ส่อป่วนธุรกรรมแบงก์ทั่วโลก

ค่าเงิน “รูเบิล” ของ “รัสเซีย” ที่อ่อนลงอย่างหนักในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเพียง 4 แสนล้านดอลลาร์

ประกอบกับ “ราคาน้ำมันดิบ” ในตลาดโลก ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัสเซีย ยังคงดำดิ่งลงต่อเนื่อง ปลุกให้ “นักลงทุน” ในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก หันมาจับตาดูรัสเซียอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่า รัสเซีย จะเป็น “ทริกเกอร์” ใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดเงิน ตลาดทุน ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกโตช้าไปกว่าเดิม

เรื่องนี้ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยังต้องติดตามดูสถานการณ์ในรัสเซียอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่จะขยายวงไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหน้าตาหรือลักษณะทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับรัสเซีย

“ตอนที่บ้านเราเจอวิกฤติปี 2540 หลังจากนั้นคนก็เริ่มดูว่า มีใครบ้างที่หน้าตาคล้ายไทย ตอนนั้น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ก็โดนแบบเดียวกับของเรา เพราะเขาคล้ายกับเราตรงที่มีหนี้ต่างประเทศมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ พวกนี้เป็นปัจจัยที่สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทย มาคราวนี้โดนกับรัสเซีย เชื่อว่าสักพักนักลงทุน จะเริ่มดูแล้วว่า มีใครบ้างที่คล้ายคลึงกับรัสเซีย คือ พึ่งพิงรายได้จากน้ำมันเป็นหลัก หนี้ต่างประเทศสูง เงินทุนสำรองน้อย”

ปัญหาของรัสเซียในเวลานี้ ถือว่ามีความเปราะบางค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการอ่อนค่าลงอย่างหนักของค่าเงินรูเบิล แม้รัสเซียจะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างมหาศาล โดยปรับขึ้นจาก 10.5% เป็น 17% ภายในครั้งเดียว แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

ทุนสำรองรัสเซียต่ำกว่าหนี้ตปท.

นอกจากนี้ถ้าดูเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่มีประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ ยังเป็นระดับที่น้อยกว่าหนี้ต่างประเทศซึ่งสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นถ้าเจ้าหนี้ต่างประเทศพร้อมใจกันถอนเงินเหล่านี้ออกมา ก็ต้องไปดูต่อว่าเงินสำรองฯ ของรัสเซียที่มีอยู่จะรับมือไหวหรือไม่

“ประเด็นหนึ่งที่คนยังพูดถึงกันน้อย คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่มีราว 4 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เกือบครึ่งอยู่ในรูปของ Sovereign Wealth Fund(กองทุนความมั่งคั่ง) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว สินทรัพย์ส่วนใหญ่จึงมีสภาพคล่องต่ำ หมายความว่า เงินสำรองฯ เกือบครึ่งของรัสเซียดึงมาใช้ได้ค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศที่มีค่อนข้างมาก อีกทั้งรัสเซียยังคงถูกแซงชั่น จึงเชื่อว่าปัญหารัสเซียในระยะข้างหน้า อาจมีความรุนแรงขึ้นได้”

อย่างไรก็ตาม เศรษฐพุฒิ เชื่อว่า ประเทศไทยจะไม่เผชิญวิกฤตการณ์เดียวกับที่รัสเซียกำลังเผชิญในขณะนี้ เพราะเชื่อว่านักลงทุนสามารถที่จะแยกแยะได้ว่าปัญหาของแต่ละประเทศคืออะไร โดยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น เรียนว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ในขณะที่หนี้ต่างประเทศไม่ได้สูงมากนัก

ไม่กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรง

ข้อมูล ณ สิ้นเดือนต.ค.2557 ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศประมาณ 1.44 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไทยของในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ และยังมียอดซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Net Forward Position) อีกประมาณ 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในเชิงการค้าอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เพราะไทยค้าขายกับรัสเซียน้อยมาก แค่หลุดจุดทศนิยมเท่านั้น ส่วนด้านการท่องเที่ยว อาจกระทบบ้าง เพราะชาวรัสเซียถือเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตา คือ ผลกระทบทางอ้อม ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องติดตามดูว่าปัญหารัสเซียที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบกับกลุ่มประเทศใดบ้าง ที่กำลังติดตามในเวลานี้ คือ ยุโรป เพราะรัสเซียถือว่ามีอิทธิพลมากกับเศรษฐกิจยุโรป

เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของการนำเข้าถ่านหินทั้งหมดและนำเข้าน้ำมันคิดเป็น 1 ใน 4 อีกทั้งยังนำเข้าแก๊สคิดเป็น1 ใน 3 ถ้าการนำเข้าเหล่านี้สะดุด เศรษฐกิจยุโรปอาจเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงได้เช่นกัน

แนะจับตาหนี้นอกของรัสเซีย7แสนล้านดอลล์

อีกประเด็นที่ควรต้องจับตา คือ หนี้ต่างประเทศของรัสเซียที่มีเกือบ 7 แสนล้านดอลลาร์ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งก็ต้องไปดูว่าหลังจากนี้แล้วค่าประกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้(ซีดีเอส) จะเป็นอย่างไร

“สิ่งที่น่าจะตามมาในระยะต่อไป คือ เรื่องแบงก์ ซึ่งคนอาจเริ่มระแวงว่า แบงก์ไหนมีธุรกรรมกับรัสเซียที่ค่อนข้างมากบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบงก์ในยุโรป และอาจทำให้แบงก์ไม่กล้าที่จะทำธุรกรรมระหว่างกันมากนัก จะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปช่วงที่ผ่านมา”

อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดลง ทำให้ธุรกิจพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบเหล่านี้ไปด้วย เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายประเทศปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่ทำธุรกิจเหล่านี้ รวมไปถึงบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทนด้วย

“ในสหรัฐมีช่วงหนึ่งที่เอ็นเนอร์ยี่บูมมาก มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานกันค่อนข้างมาก แบงก์เองก็ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเหล่านี้ด้วย แต่พอราคาน้ำมันลดลง โปรเจคที่ปล่อยไปก็ต้องเริ่มกลับมาดูแล้วว่า บริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบยังไงบ้าง ทำให้คนเริ่มหันมามองตรงนี้กันบ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าแม้แบงก์สหรัฐจะมีธุรกรรมกับรัสเซียน้อย แต่ก็มีธุรกิจกับบริษัทกลุ่มพลังงานในสหรัฐค่อนข้างสูง จึงต้องดูว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่”