นักปั้น “ท็อปแวลู” สู่ The Voice ของผู้ค้าออนไลน์

นักปั้น “ท็อปแวลู” สู่ The Voice ของผู้ค้าออนไลน์

“ท็อปแวลู”ผู้ปฏิวัติธุรกิจชอปปิงออนไลน์ ผลงานของ“โอ๊ต-ธนากร แซ่ลิ้ม”คนที่เชื่อว่า“เงิน”ไม่ได้สำคัญที่สุด แต่คือการได้ทำอะไรเจ๋งๆ ให้เกิดขึ้น

ไม่ใช่ลูกหลานตระกูลดัง ไม่มีเส้นสาย ไม่มีเงินถุงเงินถัง ถึงวันนี้ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ !

โปรไฟล์ไม่สวยหรูของ “โอ๊ต- ธนากร แซ่ลิ้ม” คนหนุ่มวัย 33 ปี ที่วันนี้นั่งแท่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท จำกัด ห้างสรรพสินค้าออนไลน์น้องใหม่ “topvalue.com” ที่ตั้งไข่มาได้ประมาณ 1 ปี

ใครจะคิดว่าคนที่มีต้นทุนชีวิตเท่ากับ “ศูนย์” เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี พอ 19 ปี ก็ได้เป็นนายคน เข้า 20 ปี ออกมาตั้งธุรกิจของตัวเอง จนวันนี้ในวัย 33 ปี เขาคือเจ้าของ 4 บริษัท ตั้งแต่นำเข้าเครื่องจักร ผลิตแม่พิมพ์ ทำแพคเก็จจิ้ง รีโนเวทเครื่องจักรแล้วขายต่อ จนมาสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีรายได้เบาะๆ ต่อปี เฉียดพันล้านบาท !

ทำไมคนทำอุตสาหกรรมหนัก ถึงอยากเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซ สนามที่มีแต่ผู้เล่นรายใหญ่ และทุนหนา และแน่นอนว่า..เริ่มมาก่อน

“ถ้าตอนนี้ ผมมีทุนแค่นี้แล้วจะไปทำธุรกิจแข่งกับคนอื่น เช่น ทำห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องคิดเลย ไม่มีเงิน ถึงมีเงินก็เจ๊ง เพราะขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ แม้แต่ ทำเลดีๆ ก็ไม่มีแล้ว คนอื่นก่ออิฐจนเป็นปราสาท เรามีอิฐแค่ก้อนสองก้อน แค่คิดก็เจ๊งแล้ว แต่ถ้าธุรกิจที่เริ่มพร้อมๆ กัน วิ่งในเวลาเดียวกัน หรือเขาวิ่งก่อนแค่แป๊บเดียว เราไม่ได้เสียเปรียบใคร และเทรนด์กำลังมาทางนี้” เขาคิดเช่นนั้น

2-3 ปี ก่อน เลยเริ่มทำการบ้าน เตรียมการ และหา “จุดยืน” ให้ตัวเอง คนอื่นเขาทำตลาดแมส เป็นมาร์เก็ตเพลสจ๋า อาจมีรองเท้าแตะวางขายรวมกับรองเท้าแบรนด์บ้าง แต่เขาจะ “พลิกโฉม” โดยประกาศทำห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่ “ไม่แมส” แต่จะเจาะเซ็กเมนต์ที่เล็กลง เพราะเป้าหมายคือ “ต้องชนะ”

“ชนะอย่างไร คู่แข่งเขาใหญ่ เขามีทุกอย่าง แน่นอนว่าตลาดเขาย่อมมากกว่าเรา แต่เราทำแล้วต้อง ‘มีกำไร’ เราถึงจะชนะ” เขาว่าอย่างนั้น

ทาร์เก็ตของท็อปแวลูเลยไม่ใช่คนทุกคน แต่กลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษามหาวิทยาลัย และวัยทำงานไม่เกิน 35-40 ปี เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากได้ความมั่นใจ และความชัวร์ในการช้อปออนไลน์

ขณะของทุกชิ้น “ต้องเจ๋ง” คือคัดมาแล้วว่า ถูกและดี หรือถ้าไม่ถูก ก็ต้องหาซื้อที่อื่นไม่ได้ ตอบคอนเซ็ปต์ “ของแท้ ของเร็ว ของถูก” ส่วนระบบก็ต้อง ใช้ง่าย ซื้อง่าย จ่ายสะดวก

ส่วนคนขาย ก็เปิดกว้างไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ ขอแค่มีของดี ของเจ๋ง ส่งสินค้าตรงเวลา และรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยไม่ต้องกังวลเรื่องออกแบบร้าน การขนส่ง ระบบหลังบ้าน หรือแม้แต่การชำระเงิน เพราะพวกเขาจัดการให้หมดแล้ว แค่เอาสมองทั้ง 100% ไปคิดทำของที่ดีที่สุด และหาลูกค้าให้เจอ แม้แต่เงินที่เอามาเปิดร้าน หรือค่าเช่าพื้นที่ขาย ก็ไม่มี จะจ่ายอีกทีก็ตอนขายของได้ โดยคิดในอัตรา 0.5-2%

เขาว่า ตัวไหนกำไรมาก จ่ายมาก กำไรน้อย จ่ายน้อย วิน-วิน

“ง่ายๆ เราคือ The Voice โดยคนขายจะเป็นใครก็ได้ เราไม่ได้ดูที่หน้าตา ไม่ได้ดูว่าคุณใหญ่โตแค่ไหน คุณอาจเป็นแค่คนธรรมดาๆ แต่มีของดี และมุ่งมั่น ก็สามารถมาแจ้งเกิดได้ที่ท็อปแวลู” เขาบอก

หลายอย่างคือความใหม่ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเปลี่ยนโลกการชอปปิงออนไลน์ เช่น การทำ “ป็อปอัพ สโตร์” บนสถานีรถไฟฟ้าสยาม และมีแผนที่จะขยายสโตร์เพิ่มขึ้น ตามจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าต่างๆ เหตุผลเพราะ..

“ชื่อเสียงออนไลน์ไม่ดีมานาน ทุกคนจะมองว่า ของปลอม ขายถูกแบบนี้ต้องปลอมแน่นอน เราเลยอยากให้มีตัวตน ลูกค้าพร้อมที่จะไปบ่น ไปเปลี่ยนสินค้า และมาหาเราได้ตลอดเวลา อยากให้ลูกค้าเข้าถึงและจับต้องได้ รวมถึงยังสามารถเป็นจุดรับสินค้า และอัพเดทสินค้าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาอีกด้วย” เขาบอก

ในวันนี้ธุรกิจยังต้องปรับปรุง และลงทุน เขายอมรับว่าคงไม่ทำกำไรในเร็ววันนี้ แต่อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี

“ที่ยังขาดทุน เพราะค่าการตลาดสูงกว่ากำไรที่เราทำได้ เลยต้องอยู่แบบขาดทุนไปก่อน แต่ขาดทุนผมก็ไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะเป็นสิ่งที่เตรียมใจไว้อยู่แล้ว ตอนนี้เราเห็นแสงสว่างอยู่ข้างหน้า ไม่มีธุรกิจไหนที่จะเติบโตขนาดนี้อีกแล้ว ซึ่งอนาคตกลุ่มลูกค้าจะมากขึ้น และทุกคนจะหันมาทางออนไลน์” เขาบอกความมั่นใจที่กล้าขาดทุนไปก่อน

ปัจจุบันท็อปแวลูมีสินค้าอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นรายการ มีผู้ค้าประมาณพันราย มีลูกค้าเข้ามาในเว็บไซต์ถึงสิ้นปีนี้ตั้งเป้าว่าจะอยู่ที่เดือนละ 1 ล้านราย ก่อนขยับเป็น 2 ล้านราย ในปีหน้า ณ ตอนนี้มีธุรกรรมที่เกิดขึ้นอยู่ที่หลักสิบล้านบาทต่อเดือน

“ตอนนี้ยอมรับว่า เรายังมีปัญหาอยู่เยอะ ก็ทยอยแก้ไปทีละจุด เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด แต่มั่นใจว่า ปีหน้าทุกคนจะคุ้นหู และรู้จักเรามากขึ้น ตอนนี้เหมือนเรากำลังซุ่มอยู่ ยังไม่หล่อเลย ขอเตรียมตัวก่อน แต่ปีหน้าคนจะได้รู้จักเราแน่นอน อาจไม่ใช่ทุกกลุ่ม แต่คือกลุ่มที่เราโฟกัส” ผู้บริหารหนุ่มประกาศไว้อย่างนั้น

ธนากร คือผู้บริหารที่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก เขาต้องต่อสู้ ดิ้นรน และเรียนรู้ปัญหามาสารพัด เลยบอกได้เต็มปากว่า ความสำเร็จในชีวิต “ไม่มีทางลัด” แต่เกิดจากการลงมือทำล้วนๆ ถึงวันนี้ธุรกิจจะเติบโต และมาไกลกว่าจุดเริ่มต้นมาก แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งความเป็นผู้บริหารขาลุย ที่ยังคงทำงานหนัก และทุ่มเทกับทุกอย่าง

“ผมไม่ใช่ผู้บริหารนั่งโต๊ะ แต่จะลงไปลุยเอง ถ้ามีปัญหาจะเรียกคุยทันที ผมคิดเร็ว ทำเร็ว แต่บางครั้งก็คิดผิด ก็ต้องยอมรับและรีบแก้ไข ส่วนการทำงานผมจะเป็นกันเองกับลูกน้อง ไม่มีกระจกกั้น ผมมองว่า คนมาทำงานกับผม เขาไม่ได้ติดหนี้บุญคุณผม เขาไมใช่ลูกน้อง ไม่ใช่ขี้ข้า แค่มาทำงาน โดยเอาความสามารถของเขามาขาย ผมเห็นว่า คุ้ม เลยซื้อไว้ ฉะนั้นทุกคนเท่าเทียมกัน” เขาสะท้อนความคิด 

จากคนที่เห็นคุณค่าของเงินร้อย เคยตื่นเต้นกับคอมมิสชั่นก้อนแรกที่ 4 แสนบาท วันนี้มีเงินสู่ระดับพันล้าน แต่หลายอย่างในชีวิตก็ไม่เคยเปลี่ยน

“ทุกวันนี้ผมยังกินบะหมี่สำเร็จรูป นั่งเคลียร์งานดึกๆ ก็ถ้ามัวแต่มองตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แล้วไม่สนใจงานเลย เราจะดีได้อย่างไร สู้เอาเวลามาทำให้ธุรกิจนิ่ง ทำให้บริษัทเราอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี ให้คนที่อยู่กับเรา ที่เขาเหนื่อยมาด้วยกัน มีบ้าน มีรถ มีชีวิตที่สุขสบายดีกว่า ส่วนเราเอาแค่ใช้ชีวิตตามความเหมาะสม ไม่ลำบาก และไม่เกินตัว ผมว่า พอหลุดจากคำว่าปัจจัย 4 เงิน ไม่ได้สำคัญที่สุดแล้ว แต่ที่สำคัญคือการได้ทำอะไรเจ๋งๆ มากกว่า”

ก็เหมือนที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่ชื่อ “ท็อปแวลู” มองดูมันค่อยๆ เติบโต ซึ่งถ้าทำสำเร็จเจ้าตัวว่า นอกจากธุรกิจจะมีกำไร ยังสามารถเปลี่ยนชีวิตใครได้อีกด้วย

“ถ้าผมทำสำเร็จ จะมีอีกหลายคนมากที่จะรวยตามผม ซึ่งนั่นน่าภาคภูมิใจกว่าเงินที่มีคนเอามาให้เราด้วยซ้ำ ความสำเร็จของผม คือการที่ได้ทำอะไรเจ๋งๆ ที่ช่วยตัวผมเองและช่วยคนข้างนอกได้ด้วย”เขาบอกเช่นนั้น 

ส่วนเป้าหมายที่คาดหวัง คืออยากเห็น ท็อปแวลู อยู่ในใจคนไทย และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปสู่ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการจะไปถึงขั้นนั้นได้ก็ต้องมองหาผู้ร่วมทุน ซึ่งนั่นเป็นแผนในอนาคตของเขา

“อนาคตการแข่งขันมีแต่จะรุนแรงขึ้น และไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมถึงคู่แข่งต่างชาติด้วย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงมีเยอะมาก ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะไปสนใจคนอื่น อยู่ที่ทำอย่างไรให้เราดี ให้ต้นไม้ของเราแข็งแรงพอ วันนี้ผมยังจะไม่ไปหานักลงทุน แต่จะทำตัวเองให้เจ๋งก่อน ตอนนี้คุยไปก็ไม่มีมูลค่า เขาแค่ฟังผมโม้ ผมไม่อยากโม้ แต่อยากให้เขาเห็นว่า ต้นไม้ของผมอยู่ตรงนี้ คุณดูเอาเอง ผมทำให้เห็นแล้ว”

เพราะสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำอย่างเขา ไม่ใช่การพูดให้ฟัง แต่คือ ทำให้เห็น

.........................................................

เส้นทางนักสู้ “ธนากร แซ่ลิ้ม”

ถูกส่งไปเมืองจีนตั้งแต่อายุ 12 ปี ใช้ชีวิตอยู่ 5 ปี ก่อนกลับมาไทยด้วยวุฒิมัธยมแต่เทียบโอนไม่ได้ เริ่มทำงานตอนอายุ 17 ปี พร้อมกับเรียน กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ไปด้วย โดยขายของให้นักท่องเที่ยวจีน เงินเดือนก้อนแรก 3,500 บาท

จากนั้นเปลี่ยนงานไปเป็นล่ามให้บริษัทคนจีน ที่ทำธุรกิจนำเข้าแม่พิมพ์บรรจุภัณฑ์ ด้วยความขยันและใฝ่รู้ เลยถูกเลื่อนเป็นฝ่ายขาย และได้เป็นหัวหน้าแผนกตอนอายุ 19 ปี ตอน 20 ออกมาทำกิจการของตัวเอง เปิดบริษัทแรก ชื่อ “สวิทซเฟลค” ทำนำเข้าเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ จากนั้นเปิด “สวิทซเฟลค เพลท เมคคิ่ง” ผลิตแม่พิมพ์บรรจุภัณฑ์ ตามด้วย “อะเซฟติค (ประเทศไทย)” ทำบรรจุภัณฑ์และรีโนเวทเครื่องจักรเก่าส่งออกนอก และล่าสุดกับ “ท็อปแวลู คอร์ปอเรท” ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

เพราะต้องทำงานและโฟกัสกับงานอย่างเต็มที่ เลยยังเรียนไม่จบปริญญาตรี แต่จุดอ่อนด้านการเรียนไม่เป็นอุปสรรคในเส้นทางธุรกิจของเขา เมื่อปัจจุบันสามารถทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี มีทีมงาน 250 คน และเพิ่งได้รางวัล “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2015” โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) มาสดๆ ร้อนๆ