'บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว' เที่ยวสนุก ทำเงินได้!

'บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว' เที่ยวสนุก ทำเงินได้!

พวกเขาคือบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่มีสื่อในมือ มีผู้ติดตาม และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเที่ยวของคนยุคนี้ จากทำเพราะใจรักเลยเป็นอาชีพ "ทำเงินได้"

“ท่องเที่ยว” ยังเป็นความหวัง หลังเป็นภาคธุรกิจเดียวที่ยังพอเติบโตเป็นขวัญและกำลังใจให้ประเทศได้บ้าง จากตัวเลขปี’58 ที่ไทยสร้างสถิติใหม่ มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวถึง 2.23 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าถึง 3 หมื่นล้าน! และปีนี้ก็ยังตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวไปแตะที่ 2.3 ล้านล้านบาทได้ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

  การเติบโตของการท่องเที่ยว บวกพฤติกรรมการเที่ยวแนวใหม่ของคนยุคโซเชียล ที่ไม่เชื่อโฆษณา ไม่เชื่อบริษัททัวร์ แต่หาข้อมูล อ่านรีวิว ตัดสินใจ และจัดทริปเองบนโลกออนไลน์ ส่งพลังบวกให้ “บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว” กลายมามีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวของคนยุคนี้

"สำหรับบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ข้อมูลที่เขานำเสนอ คนจะเชื่อถือและให้เครดิต และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนมากกว่า สมมติบล็อกเกอร์คนนี้อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แล้วให้ข้อมูลครบ น่าสนใจ ภาพอาจจะสวยด้วย คนจะรู้สึกว่ามันคือของจริง เขาไปมาจริง พออ่านปุ๊บก็แท็กชื่อเพื่อนทันที บางทีก็จัดทริปตามรอยเลย เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างเป็นออนไลน์หมด มันง่ายและเร็วมาก”

“พลกฤษณ์ ถมยา” นักเดินทางที่ชื่นชอบการขับร้องเพลงไปพร้อมกับการท่องเที่ยว เจ้าของแฟนเพจ ArtthomyaMusic และยูทูป Artthomya ที่มีแฟนติดตามอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก บอกอิทธิพลของ “บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว” ที่ทวีความน่าสนใจไปตามการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุคนี้ใครๆ ก็ไปเที่ยว แต่การที่จะขยับจากนักท่องเที่ยวทั่วไป มาเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวได้นั้น “ชาธร โชคภัทระ” บล็อกเกอร์หนุ่มอารมณ์ดีที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวมากว่า 15 ปี เจ้าของเว็บไซต์ www.gotravelphoto.com บอกเราว่า ขึ้นกับ “คุณภาพของงาน”และ “ความต่อเนื่องในการทำงาน” โดยบล็อกเกอร์ จะต้องมีคอนเทนต์ที่ดี มีคุณภาพ ทำงานจริงจัง และมีความต่อเนื่องในการทำงาน ต้องมีช่องทางของตัวเองที่ให้คนสามารถเข้ามาติดตามได้ เช่น ในเว็บบล็อก หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ เป็นต้น และมียอดผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง

ตอกย้ำความสำคัญของคุณภาพงาน กับตัวอย่างผลงานของ “สุรีพร แซ่ว่อง” Fusion Foods and Travel Blogger บล็อกเกอร์ไทยเพียง 1 เดียว ที่ได้รับเลือกสัมภาษณ์ทูตสหรัฐ เจ้าของแฟนเพจ Lovelytrip เธอบอกว่าเคยเขียนบทความลงบล็อกไปเรื่อยเปื่อย อาศัยการเป็นนักข่าวเก่า เลยพอรู้ว่าประเด็นแบบไหนที่น่าสนใจ ปรากฏงานหนึ่งชิ้นที่เธอโพสต์ถูกอ่านไปแล้วถึง 4.4 ล้านวิว และแชร์ออกไปในวงกว้าง

 “ถ้ามีคอนเทนต์ดี เนื้อหาแน่น คนเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขา เรื่องจะถูกแชร์ออกไปทันที” เธอบอกความสำคัญของการทำงานที่ต้องเริ่มจาก “คอนเทนต์” นั่นคือเหตุผลที่ก่อนลงสนาม บล็อกเกอร์อย่างเธอ ต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือและติดตามข่าวสาร เพื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเชื่อถือได้

แล้วใครจะเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวได้บ้าง คำตอบคือ “ใครก็ได้” วันนี้เราเลยเห็นคนจากหลากหลายอาชีพมารับบทบาทบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะ คุณหมอ ช่างภาพ นักข่าว แอร์โฮสเตส เด็กจบใหม่ ฯลฯ หลากหลายอาชีพ แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ ชอบเที่ยว และไปเที่ยวจริง ไม่ใช่แค่นั่งมโนชิลๆ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์

“ณิชชญาณ์ โตสงวน” บล็อกเกอร์เจ้าของแฟนเพจและช่องยูทูป TheWandererAsia ผู้รักการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและวิถีชีวิต ใช้ประสบการณ์จากการเป็นนักข่าวสายท่องเที่ยว และมีคอนเนคชั่นกับวงการท่องเที่ยวอยู่พอตัว ผันตัวเองจากงานประจำ มาทำฟรีแลนซ์พร้อมเป็นบล็อกเกอร์ เธอเข้าสู่วงการนี้มาประมาณ 2 ปี ตลอดที่ผ่านมาก็มีการปรับและพัฒนาผลงานของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่นำเสนอเป็นแค่เนื้อหาและภาพนิ่ง ก็มาเพิ่มเป็นภาพเคลื่อนไหว ทำรายการเล็กๆ ขึ้นในช่องยูทูป เพื่อให้คนอ่านรู้สึกว่าได้ลงเที่ยวในพื้นที่จริงไปพร้อมกับเธอด้วย

“ช่วงหนึ่งเคยไปใช้ชีวิตอยู่อเมริกา เลยทำเป็นเหมือนช่องข่าวย่อยๆ อย่างไปสัมภาษณ์ ผอ.ททท. ไปดูชีวิตคนไทยที่อยู่ที่นั่น มองว่าการเดินทางของเราอาจไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่คือการไปใช้ชีวิตจริงๆ แล้วบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่แห่งนั้น” เธอบอกความต่างของผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น จนขยับฐานคนติดตามให้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

เป็นบล็อกเกอร์ไม่ใช่แค่ทำเอาสนุก เมื่อวันนี้อิทธิพลของพวกเขากำลังเข้าตาแบรนด์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เลยกลายเป็นหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ และอยู่ได้จริง ดูตัวอย่าง “สาธิตา โสรัสสะ” บล็อกเกอร์นักเดินทางผู้หลงใหลการเที่ยว เจ้าของแฟนเพจ Travelista ที่มีสมาชิกกว่า 3 หมื่นคน เธอคือตัวอย่างของบล็อกเกอร์อาชีพที่สามารถสร้างเงินสร้างรายได้จากช่องทางนี้ และมีการเปิดบริษัทเพื่อมารับงานโดยเฉพาะ

โดยปัจจุบันรายได้ของเธอมาจาก สปอนเซอร์ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการด้านการท่องเที่ยว ที่จ้างบล็อกเกอร์ไปโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว หรือทำยอดไลค์ รับจ้างทำพ็อกเก็ตบุ๊คท่องเที่ยว ทั้งแบบว่าจ้างโดยหน่วยงาน และการหาสปอนเซอร์เอง ซึ่งมีรายได้ตั้งแต่หลักแสนไปจนหลักล้านบาท! รวมไปถึงการรับงานประชาสัมพันธ์ เป็นตัวแทนรับงานให้กับเพื่อนๆ บล็อกเกอร์ใน Media & Blogger Club การรวมตัวกันของผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น

ขณะที่ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะโฆษณาออนไลน์ ทั้งแบบ คอนเทนต์จากสปอนเซอร์ แบนเนอร์โฆษณา การหาพาร์ทเนอร์มาลงแล้วแชร์รายได้ร่วมกัน เช่น ลิงค์ของเอเยนซี่ท่องเที่ยวต่างๆ ใครที่ดังพอก็อาจถูกทาบทามให้ไปออกงาน หรือเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ให้กับสินค้าต่างๆ ด้วย เช่น “มินท์-มณฑล กสานติกุล” เจ้าของแฟนเพจ I Roam Alone ที่มีผู้ติดตามเกือบแสนคน ซึ่งปัจจุบันเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ด้วย เหล่านี้เป็นต้น

ทว่าทุกการทำงานล้วนมีต้นทุน และต้องลงทุน ซึ่งบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว น่าจะเป็นบล็อกเกอร์ที่ลงทุนสูงที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับบล็อกเกอร์ในแขนงอื่น เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว แม้ส่วนหนึ่งอาจได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งแน่ๆ ที่จะมีคนออกเงินให้ อยากให้แฟนเพจมีคนอ่านและเห็นเยอะ ก็ต้องซื้อไลค์เพิ่มจากเฟซบุ๊ก ทุกอย่างเลยไม่ฟรี แต่มีต้นทุนในการทำงาน ที่คนจะเข้ามาต้องเตรียมใจยอมรับ

เวลาเดียวกันยังต้องเผชิญคู่แข่งที่มากหน้าหลายตาขึ้นเรื่อย เพราะบล็อกเกอร์ไม่ได้มีแค่หลักร้อย แต่มีกันเป็นพันเป็นหมื่น เพราะใครๆ ก็เข้ามาทำได้ง่าย ทว่าจะทำอย่างไรล่ะให้ประสบความสำเร็จ และอยู่ได้ในอาชีพนี้ บล็อกเกอร์ชาธร แนะวิธีว่า ให้ใช้หลัก “2C 1S และ 1M” คือ Creative+ Continue+ Sincere+ Moral มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานต่อเนื่อง ด้วยความจริงใจ และมีศีลธรรมอันดีในการทำงาน

“เราต้องพยายามทำงานในเชิงบวก แม้บางครั้งอาจมีอคติกับอะไร แต่ก็ไม่ควรใส่ลงไปในงาน ควรนำเสนอเนื้อหาแบบกลางๆ และควรจริงใจกับคนอ่านด้วย ไม่ใช่ร้านนี้ทำอาหารรสชาติแย่มากก็ไปชมว่าอร่อย บล็อกเกอร์ควรมีจุดยืนในการทำงาน เงินเราก็อยากได้นะ แต่เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต การอยู่ในสังคมอย่างสง่างามสำคัญกว่า” เขาบอก

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าการทำงานแบบโดดเดี่ยว คือวันนี้บล็อกเกอร์อย่างพวกเขาเลือกจับมือกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน เพิ่มมูลค่าและจุดขาย “ขั้นกว่า” ดึงดูดใจผู้ว่าจ้าง เช่น “ถมยา+ชาธร” บล็อกเกอร์ที่เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวอาเซียน “สุรีพร+ ธนะชัย (แซงค์ ชายคาตะวัน)” กูรูท่องเที่ยววัยเก๋า “ณิชชญาณ์+สาธิตา” การเที่ยวแนวสปอร์ตเกิร์ล เหล่านี้เป็นต้น

  สะท้อนการปรับตัวในการทำงาน เพื่อสร้างแต้มต่อ ในสนามที่ชื่อ “บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว”

....................................................

  Key to success

  มีอะไรดีในวิถีบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว

๐ อิสระ เปิดโลกทัศน์

๐ เริ่มได้ง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์

๐ ใครๆ ก็เป็นได้ ไม่จำกัดอาชีพ เพศ และอายุ

๐ มีทักษะทางภาษา และการสื่อสาร ยิ่งได้เปรียบ

๐ มีคอนเนคชั่น และประสบการณ์ เพิ่มแต้มต่อในการทำงาน

๐ มีช่องทางในการสร้างเงิน สร้างรายได้