ธนารักษ์เสนอนายกฯใช้ม.44 แก้ปมเขตศก.พิเศษ

ธนารักษ์เสนอนายกฯใช้ม.44 แก้ปมเขตศก.พิเศษ

"กรมธนารักษ์" เสนอนายกฯ ใช้ม.44 ปลดล็อกเปิดเอกชนนำที่ดินนิคมฯ เขตเศรษฐกิจพิเศษแบ่งพื้นที่เช่าต่อได้ ขอยืดเวลายื่นซองประมูลจาก 60 เป็น 90 วัน

กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลโครงการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย มุกดาหาร และตราด โดยคาดว่า จะเสร็จสิ้นกระบวนการได้ในราวเดือนส.ค. และเริ่มลงทุนได้ในปีนี้ ปรากฏว่าเอกชนซื้อซองประมูลหลายราย แต่กลับมีผู้ยื่นซองประมูลน้อยมาก

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้ภาคเอกชนที่ชนะการประมูลพัฒนาราชพัสดุในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นำพื้นที่ไปทำการนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะแบ่งพื้นที่ให้เช่าต่อได้ เนื่องจาก การนำพื้นที่ไปให้เช่าต่อนั้น ขัดต่อกฎหมายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

หลังจากภาคเอกชนตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการลักษณะดังกล่าวทำได้หรือไม่ ธนารักษ์ได้ทำหนังสือไปสอบถาม กนอ. ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า กนอ.ได้ตอบข้อหารือมา ซึ่งระบุว่า การเปิดให้เอกชนผู้ชนะการประมูลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ไม่สามารถนำพื้นที่ไปให้เช่าต่อได้ ดังนั้น คงต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ชงใช้ม.44 ให้เอกชนนำพื้นที่เช่าต่อ

"แนวทางแก้ไขปัญหา คงจะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อให้การผู้ชนะการประมูลพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถนำพื้นที่ไปให้เช่าต่อในลักษณะเดียวกันกับการนิคมอุตสาหกรรมได้ ไม่เช่นนั้น การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น“ นายจักรกฤศฎิ์ กล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ มีการใช้มาตรา 44 เพื่อสนับสนุนให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วหลายเรื่อง เช่น ผังเมือง การเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสาธารณสมบัติแผ่นดินให้เป็นที่ราชพัสดุ”

ขยายเวลายื่นซองเป็น 90 วัน

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะพิจารณาขยายเวลายื่นซองประมูลจาก 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมการมากขึ้น หลังได้รับร้องเรียนว่า ระยะเวลาดังกล่าวสั้นไป เพียงแค่ว่าจ้างที่ปรึกษาก็ใช้เวลานานถึง 90 วันแล้ว

ก่อนหน้านี้ กรมกรมธนารักษ์เปิดให้เอกชนเข้าประมูลใน 3 พื้นที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ จังหวัดตราด หนองคาย และ มุกดาหาร ผลปรากฏว่า มีเอกชนเพียง 1 ราย ที่ยื่นซองประมูลพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดตราด

เอกชน 1 รายผ่านคัดเลือกตราด

“ที่ตราด มีผู้เสนอเข้ามาเพียงรายเดียว เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอโครงการที่จะทำเป็นฮับการท่องเที่ยวของภาคตะวันออก และการท่องเที่ยวชายแดน โดยเสนอราคาประมูลสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ ตอนนี้ก็ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีนายกฯ เป็นประธานแล้ว เพื่อพิจารณาขั้นสุดท้าย”

ส่วนอีก 2 พื้นที่ ยังไม่มีเอกชนยื่นซองประมูล เพราะกังวลเรื่องกฎหมายของ กนอ. ซึ่งหนองคาย และมุกดาหาร จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนจังหวัดตราด พัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการค้าชายแดน เพราะติดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังได้ ซึ่งเอกชนเสนอราคาประมูลมาสูงกว่าที่กำหนดไว้พอสมควร

3 เขตศก.พิเศษมีพื้นที่ 800-1 พันไร่

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีเนื้อที่ทั้งแปลง 718-0-46 ไร่ รัฐบาลมีโครงการรถไฟกรุงเทพ - หนองคาย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ ศักยภาพของที่ดิน เป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนอื่นๆ และพื้นที่อยู่ใกล้สนามบินอุดรธานีเพียง 60 กิโลเมตร

ด้านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่สองแปลงรวม 1,080-3-18.7 ไร่ พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ เขตชายแดนมุกดาหารเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับแขวงสะ-หวัน-นะ-เขต สปป.ลาว มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาว เป็นอันดับสองของประเทศ ศักยภาพของที่ดิน อยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก เชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เนื้อที่ทั้งแปลง 895-0-44 ไร่ พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ อยู่ใกล้ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมต่อเกาะกง ศักยภาพของที่ดินอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมโยงถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) และมีฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง

“พื้นที่ทั้ง 3 แห่ง ได้รับสิทธิพิเศษในทุกด้าน ส่วนวัตถุประสงค์การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ การเป็นนิคมอุตสาหกรรม การทำเกษตรอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทที่จะเสนอมา ”

รายชื่อของผู้ซื้อเอกสารลงทุนในโครงการดังกล่าว เช่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำนวน 1 ซอง ในจังหวัดตราด, บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 1 ซอง ในจังหวัดตราด, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 3 ซอง ในทั้ง 3 จังหวัด บมจ.ซีพีแลนด์ จำนวน 3 ซองในทั้ง 3 จังหวัด และ บริษัท ทีซีแลนด์ ดีเวลลอปเม้น จำกัด จำนวน 1 ซอง ในจังหวัดตราด

“ในการประมูลพัฒนาพื้นที่นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับว่าเอกชนมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ในแต่ละแห่งเป็นอย่างไร จะทำเป็นท่องเที่ยว อุตสาหกรรม หรือการค้า ก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่จังหวัดประกาศไว้ และต้องอยู่แผนอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำหนดไว้”