ชี้แรงงานต่างแดน แก้อาเซียนขาดคน
โพลล์ชี้บริษัทจ้างงานมองแรงงานอาเซียนในต่างแดน เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในชาติบ้านเกิด
เมื่อเร็วๆ นี้ โรเบิร์ต วอลเตอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการจ้างงาน เผยผลการศึกษาทีมีชื่อว่า “การกลับมาของแรงงานทักษะเอเชีย” ที่จัดทำขึ้นโดยการสำรวจความเห็นผู้จัดการที่รับผิดชอบด้านการจ้างงาน และคนหางานทำ 650 คน ใน 5 ประเทศอาเซียน รวมถึง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
โรเบิร์ต วอลเตอร์ส ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานมีทักษะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ อย่างอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งการที่บริษัทข้ามชาติขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการแรงงานกลุ่มนี้ ที่มีความสามารถพูดได้ 2 ภาษา และมีมุมมองกว้าง อย่างมาก
การสำรวจพบว่า ราว 86% ของผู้จัดการจ้างงาน เห็นว่า แรงงานในต่างแดนเหล่านี้ ถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ ในการแก้ไขความท้าทายของแต่ละประเทศ แต่การที่จะดึงดูดให้แรงงานเหล่านี้ กลับมาได้ จำเป็นต้องมีแรงจูงใจมากพอ โดยพบว่า ราว 85% ของแรงงานมีทักษะอินโดนีเซีย สนใจที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 60% สิงคโปร์ 82% ไทย 81% และเวียดนาม 71%
รายงานชี้ว่า การที่จะดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้ให้กลับมาทำงานด้วยนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างจะต้องทำความเข้าใจกับความกังวลหลักของแรงงานผลัดถิ่น ที่มีโอกาสเดินทางกลับบ้านกลุ่มนี้
เหตุผลหลักที่จะทำให้แรงงานต่างแดนเหล่านี้ พิจารณาถึงการเดินทางกลับบ้านเกิด รวมถึง การกลับมาดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย ตระหนักดีว่าประเทศบ้านเกิดต้องการคนที่มีความสามารถที่ทำงานในต่างแดน สามารถเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากขึ้น และคุ้นเคยกับวัฒนธรรมในบ้านเกิดมากกว่า
ปัจจัยอื่นๆ รวมถึง ค่าครองชีพที่ถูกกว่าในการทำงานต่างแดน และการมีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว กับการทำงานมากขึ้น
นายโทบี โฟลส์ตัน กรรมการผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเตอร์ส ภาคพื้นเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคาดว่า ไอที จะเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่จ้างงานมากที่สุดในปีนี้
รายงานระบุด้วยว่า ผู้จัดการจ้างงานมองแรงงานที่เดินทางกลับประเทศเหล่านี้ เป็นสินทรัพย์ และเชื่อว่า จะช่วยปิดช่องว่างการหาแรงงานมีทักษะในหลายตลาด โดยการสำรวจพบว่า ราว 42% ของแรงงานเอเชีย ที่มองหาโอกาสการทำงานในบ้านเกิด จะเข้าไปพบกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการจ้างงาน หรือบริษัทนายหน้าจัดหางานเป็นอันดับแรก ส่วนอีก 26% จะยื่นเรื่องกับนายจ้างต้นสังกัด เพื่อขอย้ายกลับมาทำงานในสาขาบ้านเกิด และ อีก 14% จะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่าง ลิงด์อิน เพื่อเข้าถึงตลาดแรงงาน และมองหาตำแหน่งงานที่ว่างอยู่
แรงงานในต่างแดนเหล่านี้ เชื่อว่า มีหลายเรื่องที่นายจ้างทำได้ เพื่อรับประกันว่า การเปลี่ยนงานใหม่ในบ้านเกิดจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดย 32% เห็นว่า สิ่งที่รับประกันดีที่สุดคือ การเสนออัตราเงินเดือนที่สร้างความดึงดูดใจ 30% เน้นเรื่องของเงื่อนไข และผลประโยชน์ต่างๆ ในการทำงาน ส่วนอีก 12% ต้องการเห็นความชัดเจนในความก้าวหน้าในอาชีพ