ครม.ไฟเขียวร่างเขตศก.พิเศษ หวังดันอุตสาหกรรม4.0

ครม.ไฟเขียวร่างเขตศก.พิเศษ หวังดันอุตสาหกรรม4.0

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก คาดประกาศใช้ต้นปี 60 หวังยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 คาดเกิดการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทใน 10 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ใน3จังหวัดได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยองและ จ.ฉะเชิงเทรา ตามนโยบายยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560

พื้นที่ดังกล่าวจะมีเนื้อที่ราว 70,000 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการยกระดับภาคการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ตามนโยบาย“อุตสาหกรรม4.0”

รัฐบาลประเมินว่าหากสามารถสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือ และสนามบินอู่ตะเภาวงเงิน4แสนล้านบาท การลงทุนในด้านเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย วงเงิน4แสนล้านบาท และการลงทุนในด้านการท่องเที่ยวคุณภาพ และเชิงสุขภาพวงเงิน2แสนล้านบาท โดยแผนการลงทุนโดยละเอียดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

สำหรับการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พื้นที่สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ70,000ไร่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี18,000ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต18,000ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร20,000ไร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์2,000ไร่ และอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ครบวงจร30,000ไร่ เป็นต้น

ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูแลขั้นตอนการออกกฎหมายเป็นพิเศษ เพื่อเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาโดยเร็ว ก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาคาดว่ากฎหมายจะผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี2560

ตั้งบอร์ดดูแลนายกฯเป็นประธาน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกประกอบไปด้วย5หมวด60มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการ24คน โดยมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อนุมัติแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการดูแลพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ส่วนการกำกับดูแลในพื้นที่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเป็นหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้กำกับดูแล และมีอำนาจในการอนุมัติกิจกรรมตามกฎหมายในพื้นที่ครอบคลุมกฎหมาย6ฉบับได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ให้สิทธิเช่าที่ดินรวม99ปี

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับนักลงทุนประกอบไปด้วย การให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินเพื่อทำธุรกิจเป็นระยะเวลา50ปีและต่อระยะเวลาการเช่าได้อีก49ปี สามารถนำแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือ หรือเป็นผู้บริหารเข้ามาทำงานในพื้นที่ได้ รวมทั้งมีการอำนวยความสะดวกให้สามารถนำครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยได้ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีการลดหย่อนภาษีอากรแก่แรงงานฝีมือ

นอกจากนั้นมีการให้สิทธิ์ในการใช้เงินตราต่างประเทศในพื้นที่ที่มีการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งมีการจัดตั้งเคาท์เตอร์ให้บริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ มีการตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)อำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้การอนุญาต การขออนุญาตการทำงาน การทดทะเบียนพาณิชย์ การขออนุญาตแรงงาน โดยสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

บีโอไอแก้กฎหมายให้สิทธิพิเศษภาษี15ปี

สำหรับการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้มีการทบทวนกฎหมายใหม่โดยให้สิทธิ์ในการรับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุดเป็นระยะเวลา15ปี

ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเก็บเงินจากผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนบางส่วนเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนในการพัฒนาท้องถิ่น และเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจาการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการส่งเงินเข้ากองทุนอีกครั้งหลังจากที่กฎหมายมีการประกาศใช้แล้ว

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียน หลังจากที่เราเคยประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกตลอด25ปีที่ผ่านมา โดยกฎหมายนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการลงทุนทั้งสำหรับรัฐบาลนี้และเป็นแนวทางสำหรับรัฐบาลต่อไป รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลจะมีการผลักดันการพัฒนาและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างจริงจัง” นายกอบศักดิ์กล่าว