‘เวิร์คพอยท์’โหมดิจิทัลผสานจอทีวีขยายฐานผู้ชม

‘เวิร์คพอยท์’โหมดิจิทัลผสานจอทีวีขยายฐานผู้ชม

ในยุค Digital Disruption ซึ่งเป็นการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

สำหรับอุตสาหกรรมสื่อ เป็นยุคที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทแทนสื่อดั้งเดิม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในวงกว้างให้มีรูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนท์ต่างไปจากเดิม ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและการใช้ชีวิต

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยียุคดิจิทัลเข้ามากระทบกับทุกอุตสาหกรรมเดิม จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้งานจากเทคโนโลยีที่สะดวกสบายมากขึ้น

เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมเช่นกัน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เปิดรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทุกด้าน รวมทั้งการเสพสื่อผ่านช่องทางดิจิทัล

“หากมองเทคโนโลยีว่าเป็นปัญหา ธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ เวิร์คพอยท์ ในฐานะผู้สร้างคอนเทนท์ จึงมองการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลเป็นอีกโอกาส  ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอคอนเทนท์ให้เข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกัน และนำเสนออย่างถูกที่ ถูกเวลา”

ขยายฐานเฟซบุ๊ค-ยูทูบ

ปัจจุบันแต่ละ“ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเสพคอนเทนท์แตกต่างกัน  โดยสื่อโซเชียล “เฟซบุ๊ค” เป็นช่องทางการอ่าน อัพเดทสถานการณ์ต่างๆ และดูคอนเทนท์ที่สนใจขณะอยู่นอกบ้าน  ส่วน“ยูทูบ” เป็นช่องทางดูคอนเทนท์ย้อนหลัง  สำหรับสื่อโซเชียล อื่นๆ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารข้อมูลและประชาสัมพันธ์เนื้อหารายการ

ปี2560 เวิร์คพอยท์ทีวี วางนโยบายเชื่อมโยงคอนเทนท์ “จอทีวี”กับดิจิทัล แพลตฟอร์มมากขึ้น สำหรับช่องทางเฟซบุ๊ค จะนำเสนอ คลิปวีดิโอข่าวพร้อมเนื้อหาข่าว รวมทั้งคลิปวีดิโอตัวอย่างและรายการบางส่วน เพื่อประชาสัมพันธ์โฆษณารายการ  พร้อมทั้งรูปแบบ“เฟซบุ๊ค ไลฟ์” บางรายการที่อยู่ในความสนใจของผู้ชมและรายการที่มีผลการโหวต  ตอบโจทย์ผู้ชมที่อยู่นอกบ้านและต้องการดูสดและรู้ผลต่างๆ พร้อมจอทีวี  เช่น รายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง มียอดผู้ชมทีวีอันดับ1 และผู้ชมออนไลน์จำนวนมาก ทำให้สถานีสามารถเก็บผู้ชมได้ทั้งจากจอทีวีและจออื่นๆ

“เฟซบุ๊ค เหมือนห้างใหญ่ที่เวิร์คพอยท์สามารถเปิดร้าน เพื่อโชว์สินค้าให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้น” 

ส่วน“ยูทูบ แชนแนล”เป็นแพลตฟอร์ม วิดีโอ เสิร์ชและดูคอนเทนท์ย้อนหลังตามเวลาที่ผู้ชมสะดวก ปัจจุบันรายการที่ออนแอร์ทางจอทีวีจบ หลังจากนั้นภายใน 1  ชั่วโมง จะอัพโหลดคอนเทนท์ลงยูทูบทันที  โดยปีนี้จะมีความร่วมมือกับ “ไลน์ทีวี” เพิ่มเติม  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ชมหลักเป็นกลุ่มวัยรุ่น จึงต้องคัดเลือกคอนเทนท์ที่เป็นฐานผู้ชมเดียวกันไปนำเสนอ  

ส่งคอนเทนท์ข้ามแพลตฟอร์ม

ชลากรณ์ กล่าวอีกว่าปัจจุบันทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมสื่อจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดและปรับตัวตามเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการผู้ชม  

“เชื่อว่าออนไลน์ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกัน ทีวี ยังเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก  ปีนี้เวิร์คพอยท์ จะใช้กลยุทธ์ Cross-platform   ทั้งจอออนไลน์และทีวี เพื่อให้ผู้ชมต้องเฝ้าติดตามทั้ง 2 ช่องทาง”

ปีนี้จะมีฟอร์แมทรายการใหม่จากประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นรูปแบบ Cross-platform  จอทีวีและออนไลน์มานำเสนอ เพื่อดึงผู้ชมจากทั้ง 2หน้าจอ ให้อยู่กับคอนเทนท์ของเวิร์คพอยท์  เชื่อว่าผู้ชมจะมีพฤติกรรมดูคอนเทนท์ที่สนใจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ 

ทั้งนี้ รายได้จากช่องทางออนไลน์หลัก มาจากยูทูบ ที่มีผู้ติดตามกว่า 5 ล้านราย ส่งผลให้มีรายได้โฆษณาจากยูทูบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2558 อยู่ที่ 20 ล้านบาท ปี2559 อยู่ที่ 60 ล้านบาท คาดการณ์ปีนี้แตะ 100 ล้านบาท และช่องทางออนไลน์อื่นๆอีกราว 20 ล้านบาท 

ขึ้นราคาโฆษณาปี60

 สำหรับการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล ปี2559 ในไตรมาส4 ปี ได้เสริมผังรายการใหม่กลุ่มวาไรตี้ ที่เป็นจุดแข็งของช่อง, ฟอร์แมทรายการจากเกาหลี 2 รายการ คือ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง และ Let Me In 2 ศัลยกรรมพลิกชีวิต และละคร  เดิมวางเป้าหมายรายได้ 2,500 ล้านบาท แต่เนื่องจากเดือน ต.ค. 2559 สถานทีวีงดรายการปกติ ทำให้โฆษณาชะลอตัวในช่วงดังกล่าว ดังนั้นรายได้ทีวีปีก่อนจึงต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย หรืออยู่ที่ 2,100-2,200 ล้านบาท  ขณะที่เรทติ้งเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 1.2-1.3 ครองอันดับ 3 ฟรีทีวี

 โดยผู้ชมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 7 แสนคนต่อนาที เพิ่มจาก 5 แสนคนต่อนาทีในปี 2558 ดังนั้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน จึงประกาศปรับราคาโฆษณาเพิ่มขึ้น จากเฉลี่ยนาทีละ 50,000 บาท เป็น 55,000 บาท มีผลในเดือน ม.ค.2560  วางเป้าหมายรายได้ทีวีดิจิทัลปีนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท

ปัจจุบันธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะกลุ่มท็อป5 ทั้งช่องฟรีทีวีเดิมและทีวีดิจิทัลช่องใหม่มีการลงทุนคอนเทนท์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้เวิร์คพอยท์ วางแผนใช้งบลงทุนรายการราว 600 ล้านบาท โดยจะปรับเปลี่ยนรายการที่มีเรทติ้งต่ำกว่า 1 ในช่วงนอน ไพรม์ไทม์ รวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบรายการหลังจากจบซีซัน  เนื่องจากอุตสาหกรรมทีวีแข่งขันสูง สถานีจึงต้องปรับเปลี่ยนรายการที่มีเรทติ้งไม่สูงอย่างรวดเร็ว 

ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ มีโอกาสฟื้นตัว หลังจากปี2559 ติดลบ จากการชะลอใช้งบโฆษณาช่วงไตรมาส 4 โดยปกติโฆษณาจะขยายตัวในอัตราเดียวกับจีดีพี