Hungry Hub เมนูพิเศษพร้อมเสิร์ฟ

Hungry Hub  เมนูพิเศษพร้อมเสิร์ฟ

เมื่อโมเดลธุรกิจที่คิดเอาไว้ไปต่อได้ยาก การพลิกหาโมเดลใหม่ๆ ก็เป็นหนึ่งในวิถีที่สตาร์ทอัพต้องเจอะเจอ

Hungry Hub ก็เช่นกัน เปิดตัวแอพพลิเคชั่นครั้งแรกในปี 2014 ด้วยคอนเซ็ปต์จองร้านอาหาร 24 ชั่วโมง แต่ผ่านไปสักระยะก็พบว่า ตลาดที่มองเอาไว้นั้นมีขนาดความต้องการที่เล็กกว่าที่คิดเอาไว้ ทำให้ต้องกลับมานั่งทบทวนวิธีคิดและโมเดลธุรกิจกันใหม่อีกรอบ

"ตอนแรกที่ผมเริ่มทำเป็นการจองร้านอาหารแบบไม่มีส่วนลด ทำหน้าที่ booking เน้นความสะดวก และง่ายในการจอง 24 ชั่วโมง  ตลอดเวลาที่ทำผมเข้าคุยกับร้านอาหารต่างๆ ซึ่งก็มีมากกว่า 200 ร้านที่สนใจเข้าร่วม

กระทั่งเราทำไปได้ 2 ปี จนถึงกลางปีที่แล้วก็เริ่มศึกษาตลาดอีกครั้ง" สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ Co-founder Hungry Hub กล่าว 

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาตลาดอย่างจริงจังทำให้พบว่า หนึ่ง คนไทยมีทางเลือกสำหรับร้านอาหารเยอะมาก และสอง ไม่มีร้านอาหารไหนที่เต็ม แม้จะบ้างก็ในเฉพาะร้านอาหารที่เป็นที่นิยมอย่างมากจากลูกค้า ซึ่งก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% 

มองดูแล้วเป็น Market size ที่เล็กมาก ทำให้ สุรสิทธิ์ ตัดสินใจลุกขึ้นมา “เปลี่ยน" เพื่อสร้างโอกาสที่มากกว่า

"pivot เริ่มเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ตอนนั้นคิดเอาไว้หลาย Business model จนในที่สุดก็ได้โมเดลใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ภายใต้ Business model ใหม่ เราเปลี่ยน Brand promise ที่ต่างออกไป 

เดิมเน้นที่ Convenience ให้กับร้านอาหารและลูกค้า วันนี้เราเน้นการเพิ่มยอดขายต่อหัวให้ร้านอาหาร"

รูปแบบที่ Hungry Hub นำเสนอก็คือ เมนูพิเศษในราคา Fixed Price สำหรับลูกค้าที่จองร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นที่จะได้รับสิทธิ์ทานอาหารในเมนูที่แตกต่างไปจากลูกค้า Walk-in 

ไอเดียนี้มีที่มาจากประสบการณ์ตรงของ สุรสิทธิ์ เองในภารกิจที่ต้องเลี้ยงรับรองลูกค้าและพาร์ทเนอร์ แต่ไม่ว่าครั้งใดก็ต้องเจอกับปัญหาที่ยากจะควบคุมด้วยตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่างบประมาณที่จัดสรรเอาไว้

การกำหนดราคาแบบ Fixed Price ก็ได้กลายเป็นอีกทางเลือกที่ให้ลูกค้าทราบถึงการใช้จ่าย โดยที่ไม่ต้องปวดหัวเมื่อบิลเดินทางมาถึง 

“ทุกวันนี้ไปร้านอาหารที่ไปทานไม่รู้ว่าบิลจะมาเท่าไหร่ แต่เราจะทำให้คุณรู้ โดยการออฟเฟอร์ เอ็กคลูซีฟ ผ่านแอพ ให้ลูกค้าได้เข้ามาเลือกวัน เวลา และจำนวนคน ในราคาก็เช่น 555บาท หรือ 999 บาท จากนั้นเมื่อถึงวันจองก็เข้าไปใช้บริการได้ทันที”

ความพิเศษของคอนเซ็ปต์นี้อยู่ตรงที่การสร้าง win-win ให้กับทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ลูกค้า และ ร้านอาหาร

“ลูกค้า” จะได้พบกับเมนูพิเศษที่แต่ละร้านพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะในราคา Fixed Price ที่ทางร้านจะหมุนเวียนกันทำเมนูพิเศษนี้เฉลี่ย 3 เดือนครั้ง รวมทั้งความสะดวกสบายที่ทำรายการผ่านแอพพลิเคชั่นโดยที่ไม่ต้องโทรไปจองเหมือนที่ผ่านๆ มา

“ร้านอาหาร” แน่นอนว่าจะเกิดข้อดีตรงที่ขายได้มากขึ้น

“โมเดลใหม่นี้จะ win win ทั้งสองฝ่าย ในส่วนของร้านอาหารที่ปกติจะมียอดขายต่อหัวมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสการขายที่มากขึ้น โดยที่ทาง Hungry Hub จะดำเนินการในส่วนของโปรโมชั่นและการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียและบล็อกเกอร์ พร้อมกับจัดทำรายงานให้ได้รู้ว่ายอดที่จองเข้ามานั้นมาจากสื่อใด ตัวอย่างเช่นรู้ได้ว่าบล็อคเกอร์คนไหนที่เวิร์ค เป็นต้น”

สุรสิทธิ์ บอก กระบวนการทำงานของระบบคล้ายๆ กับระบบการจองตั๋วของสายการบิน เมื่อจองวัน เวลา และจำนวนที่นั่งที่ต้องการระบบจะทำการค้นหาให้ เมื่อไม่ก็จะแนะนำในช่วงเวลาถัดๆ ไปให้ ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มีการจอง ร้านอาหารจะได้รับข้อมูลลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเป็นภาระเรื่องการรับโทรศัพท์และงานในส่วนอื่นๆ 

เรียกว่า Hungry Hub เป็นหนึ่งใน Marketing Tools ให้กับร้านอาหารก็ว่าได้ 

ซึ่งการทำธุรกิจแบบ B2B นี้มีที่มาของรายได้มาจากรายการจองเป็นหลัก

นอกจากนี้ ในส่วนลูกค้าเองยังมีโปรแกรมสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจองมากขึ้น ได้แก่ ทุกๆ การจองลูกค้าจะได้รับ20 คะแนน ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 20 บาท หากสะสมครบ 100 บาทจะได้รับคืนเป็นเงินสดทันที หรือ กรณีแชร์ให้เพื่อนๆ ดาวน์โหลด ทั้งผู้แชร์และเพื่อก็จะได้รับคนละ 30 บาทด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการใช้แอพ http://hyperurl.co/hungryhub โดยเตรียมเปิดให้โหลดเวอร์ชั่นใหม่ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

ถึงตอนนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมแล้ว 20 แห่ง เตรียมขยายเพิ่มอีก 10 แห่ง ซึ่ง สุรสิทธิ์ ย้ำว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยในทำความเข้าใจกับแต่ละร้านอาหารให้เข้าใจในคอนเซ็ปต์ แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ และมีร้านอาหารแบรนด์ดังเข้าร่วมในระบบนี้มากขึ้นจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับร้านอื่นๆ ได้มากขึ้น

"แรกๆ จะยากอยู่แล้ว แต่พอทำได้เป็นหลัก 50 ร้านได้จากนั้นก็จะไปเร็วมาก

อีกทั้งในระยะ 6 เดือนนี้ เรายังไม่เน้นทำมาร์เก็ตติ้งมากนักเพราะมีร้านอาหารเพียง 20-25 ร้านเท่านั้น จากนี้ก็จะเริ่มคุยกับแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ต้องการเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหารในห้าง และวางแผนออกเป็นเซ็ตเมนู ที่มีความยูนีคมากขึ้น เช่น เชฟ เมนู เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า"

การเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ สุรสิทธิ์ บอกเห็นสัญญาณที่ดีจากการ Repeat ของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศ และครอบครัว ทำให้สเกลการเติบโตมีมากถึง 40-50% ต่อเดือน ซึ่งก็ทำให้เริ่มมองไกลไปถึงการลุยตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังในอนาคต

"เรายังอยู่ใน Early stage เพราะเพิ่งเปลี่ยนโมเดล แต่ด้วยไอเดียธุรกิจที่ใหม่ ยังไม่มีใครทำ บวกกับการเติบโตที่ขยายตัวทุกๆ เดือน ทำให้เริ่มทดลองตลาดในต่างจังหวัด เริ่มที่เชียงใหม่ ผม

มียอดส่งลูกค้าให้ร้านอาหารที่นั่นแล้วก็ได้รับผลกลับมาดีมาก"

ในก้าวต่อๆ ไปของ Hungry Hub สุรสิทธิ์ คาดหวังว่าจะมีร้านอาหารเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น ควบคู่กับการขยายตลาดทั้งต่างจังหวัดและในต่างประเทศ 

และที่สำคัญ เน้นการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรกมากกว่าการหาทุนจากภายนอกเข้ามาเสริม

“มุมมองของเราต้องการเป็น Sustainable Business นักลงทุนเข้ามาด้วยเป้าหมายของการช่วยขยายธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อ Break even เพราะถ้าคิดอย่างนั้นตั้งแต่แรก จะไม่มีวัน ฺBreak even  ได้เลย”