เปิดแผน 'จูนเหยา' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

เปิดแผน 'จูนเหยา' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

จูนเหยา (JUNEYAO) แบรนด์น้องใหม่จากจีนที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมหกรรมยานยนต์ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับรถรุ่นแรก Y AIR แต่แผนการทำตลาดในอนาคตน่าสนใจ ทั้งการเตรียมเปิดสายประกอบโรงงาน สุพรรณบุรี  การขยายผลิตภัณฑ์ และเครือข่าย 

การเข้ามาในประเทศไทยของ จูนเหยา (JUNEYAO) ถือเป็นเข้ามาแบบเร่งด่วน เพราะเพิ่งมีข่าวเกี่ยวกับแบรนด์นี้ไม่นานก่อนเปิดตัว

นั่นอาจทำให้รถรุ่นแรกที่เปิดตัวในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป อาจจะมียอดจองในงานไม่มากนัก ประมาณ 60 คัน เพราะหลายคนก็ยังไม่รู้จักมาก่อน แต่อย่างน้อยนั่นก็น่าจะเป็นเวทีแนะนำตัว ให้จูนเหยานำไปใช้สำหรับการตลาดจากนี้ไป 

เจวาย แอร์ เปิดตัว 2 รุ่นย่อย คือ 

Standard ราคา 759,000 บาท

  • แบตเตอรี ควมจุ 51 kWh 
  • รองรับการขับขี่สูงสุด 430 กม.ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (NEDC)
  • กำลังสูงสุด 201 แรงม้า 

Plus ราคา 869,000 บาท 

  • แบตเตอรี ควมจุ 64 kWh 
  • รองรับการขับขี่สูงสุด 520 กม.ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (NEDC)
  • กำลังสูงสุด 214  แรงม้า 

แอร์ เป็นอีวีที่นำเข้ามาจากฐานการผลิตประเทศจีน และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขอเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวี หรือ อีวี 3.5 จากภาครัฐ พร้อม ๆ กับการเตรียมความพร้อมเปิดสายการประกอบรถในไทย เพื่อชดเชยการนำเข้าในมาตรการ อีวี 3.5 และรองรับเป้าหมายการขยายตลาดในอนาคต 

โดยแผนการประกอบรถในประเทศไทย ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจารายละเอียดกับพันธมิตรโรงงานประกอบ คือ “สกุลฎ์ซี” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเบื้องต้นจะเป็นไปในรูปแบบ การเช่าโรงงาน

“สถานการณ์ปัจจุบันคงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะหาซื้อที่ดินเอง เพื่อตั้งโรงงาน”  จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท จูนเหยา ออโต (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

เปิดแผน \'จูนเหยา\' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

ทั้งนี้สำหรับแผนการประกอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเดินเครื่องปลายปี 2568 แต่การเริ่มต้นจริงจะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2569 

โดยเบื้องต้นตั้งเป้าการประกอบปีละ 2 หมื่นคัน 

ส่วนรายละเอียดแผนการประกอบรถนั้น แม้ปัจจุบัน จูนเหยาจะทำตลาดรุ่น แอร์ แต่รถรุ่นแรกที่จะประกอบในไทย จะเป็นรถในกลุ่ม เอสยูวี ขนาดเล็ก หรือ บี-เอสยูวี เพราะเห็นว่าจะเป็นรถที่สร้างยอดได้ 

จากนั้นก็จะประกอบรถรุ่นอื่นๆ ตามมา รวมถึงรถปิกอัพ ที่มีแผนจะเปิดตลาดเช่นกัน

“จูนเหยามีแผนที่ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง และจะเปิดตัวรถใหม่อย่างน้อยปีละ 1 รุ่น ทั้เอสยูวีขนาดเล็ก รถปิกอัพ เอสยูวีขนาดใหญ่ และเอ็มพีวี ในปี 2570”

เปิดแผน \'จูนเหยา\' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

ส่วนเทคโนโลยี นอกเหนือจาก อีวี ก็จะมีการเปิดตัว EREV (Extended Range Electric Vehicle) หรือรถพลังงานไฟฟ้าที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กเอาไว้สร้างกระแสไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นเทคโนโลยีทีไ่ด้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในจีน เพราะสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งจูนเหยาจะมาใช้กับทั้งเอสยูวี เอ็มพีวี และปิกอัพ ที่ทำตลาดในประเทศไทย

จาง กล่าวว่า สำหรับทิศทางการตลาดในไทย ปี 2568 จะเป็นปีแรกที่บริษัททำตลาดจริงจัง และเต็มปี แต่มั่นใจว่าจูนเหยา แอร์จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค โดยตั้งเป้าไว้ประมาณ 3,000 คัน และหากเปิดตัว เอสยูวีขนาดเล็กเข้ามาเสริมตลาดน่าจะทำได้ 4,000-5,000 คัน

ส่วนเป้าหมายระยะยาว จูนเหยาตั้งเป้า ภายใน 5 ปี จะขึ้นสู่ ท็อป 5 รถอีวี ในประเทศไทย 

ด้านเครือข่ายการจำหน่าย ขณะนี้ได้ประกาศแต่งตั้งแล้ว 3 แห่ง ที่ถนนสุวินทวงศ์, นวมินทร์ และชลบุรี จากนั้นจะเปิดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2568 จะเปิดให้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 30  แห่ง 

ขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมด้านคลังอะไหล่ สำหรับรองรับลูกค้า และขณะเดียวกันในอนาคตหากมีความจำเป็นจริง ๆ ที่อะไหล่ขาดแคลน บริษัทสามารถที่จะขนส่งจากจีนเข้ามาทางสายการบินในเครือ และใช้เวลาในกระบวนการทั้งหมด 3 วัน

“เรามีความได้เปรียบในการขนส่งทางอากาศ แต่นั้นเป็นการเผื่อเอาไว้กรณีจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพราะถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ แสดงว่าการสต็อกอะไหล่เรามีปัญหา”

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2568 จูนเหยาจะเปิดศูนย์เทคนิคในประเทศไทยอีกด้วย เพราะเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ อบรม และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 

สำหรับชื่อของจูนเหยา หลายคนอาจจะคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้ เพราะทำธุรกิจสายการบิน จูนเหยา แอร์ไลน์ ที่มีฐานใหญ่อยุ่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และมีเที่ยวบินมาไทย ทั้งที่ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ และภูเก็ต วันละ 4 ไฟลท์

เปิดแผน \'จูนเหยา\' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

ลึกไปมากกว่านั้น จูนเหยา กรุ๊ป มีหลายธุรกิจ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักคือ คมนาคม  ซี่งแน่นอน สายการบิน และธุรกิจรถยนต์ในกลุ่มนี้ กลุ่มต่อมาคือ การเงินการลงทุน ธุรกิจการศึกษา และกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจูนเหยาระบุว่าจะพยายามเชื่อมต่อธุรกิจต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

และในด้านคมนาคม จริงแล้ว จูนเหยาเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์เมื่อปี 2565 ด้วยการเข้าซื้อกิตการของยูโด (YUDO) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถ อีวี ของจีน จากนั้นจึงเริ่มต้นทำงานร เพิ่มทีมงาน ก่อนที่รถรุ่นแรกจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีนี้คือ จูนเหยา แอร์ (AIR) ที่เปิดตัวในไทย

เปิดแผน \'จูนเหยา\' ลุยตลาด ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี เดินเครื่องโรงงานไทย

จาง ระบุว่าเป้าหมายของจูนเหยาคือกาารเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกัน เช่น ปลายทางของสายการบิน ก็จะมีธุรกิจรถยนต์รองรับ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงแนทางการพัฒนาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการตลาดร่วม เช่น ผู้ที่ซื้อรถจูนเหยาจะได้เป็นสมาชิกบัตรทองสายการบิน และยังได้สิทธิรับบัตรโดยสารไม่จำกัดปลายทางปีละ 4 ใบ รวม 3 ปี และหากมีผู้ติดตามจะได้สิทธิ์ส่วนลด 20% และในอนาคต จะมีความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น 

จางกล่าวถึงทิศทางตลาด อีวี ในไทยว่าช่วงนี้ชะลอตัว แต่มั่นใจว่าจะขยายตัวในอนาคต และท้ายที่สุดอีวีจะเป็นคำตอบของตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง ส่วนพลังงานใหม่อื่น ๆ เช่น ไฮโดรเจน เชื่อว่าจะเหมาะกับรถอย่างรถบรรทุก หรือ รถบัสโดยสารมากกว่า