‘โนโรไวรัส’ พบกลุ่มเด็กเล็กมากสุด ต้องล้างมือน้ำสบู่ แอลกอฮอล์ฆ่าไม่ได้
กรมควบคุมโรคเผยยอดผู้ป่วย “โนโรไวรัส” ปี 2567 พบระบาดกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้น เกิดโรคกระเพาะ-ลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ แนะป้องกันล้างมือด้วยน้ำสบู่ เพราะแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้ ขณะที่อุจจาระร่วงเฉียบพลันส่วนใหญ่จากเชื้อแบคทีเรีย
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว "ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ"ว่า สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทย ในปี 2566 ผู้ป่วย 689,954 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนปี 2567 จำนวนผู้ป่วย 742,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนการระบาดเพิ่มขึ้น เชื้อก่อโรคที่ตรวจพบส่วนใหญ่ มีการตรวจพบ
- เชื้อแบคที เรียซาลโมเนลลา สูงสุด จำนวน 24เหตุการณ์ คิดเป็น 28.2 %
- เชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล จำนวน 20 เหตุการณ์ 23.5 %
- เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซีเรียส จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 %
- โนไรไวรัส จำนวน 17 เหตุการณ์ 20 %
- เชื้อแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์ จำนวน 6 เหตุการณ์ 7.1 %
- และมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุเชื้อก่อโรคได้ จำนวน 29 เหตุการณ์ คิดเป็น 34.1%
สถานการณ์โนโรไวรัส
จากผลการดำเนินงานเฝ้าระวังเฉพาะเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Lab Surveillance) ที่พบมากที่สุด คือ
- โรตาไวรัส 44.9 %
- โนโรไวรัส จี 2 (Norovirus GII) 33.4%
- ซาโปไวรัส (Sapovirus) 7.1 %
ในส่วนของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส ตั้งแต่ปี 2561-2567 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อ โนไรไวรัส จี 1 และ จี 2 จำนวน 729 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี 21.6 % รองลงมา คือ 15-24 ปี 20.9 % และ 5-9 ปี 20.5 % โนโรไวรัส เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อความร้อน และ น้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี โดยทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น คนส่วนใหญ่ ที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัสจะหายดีภายใน 1 - 3 วัน แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้ อีก 2 – 3 วัน
โนโรไวรัสมักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้เชื้อสามารถเจริญได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อน ดังนั้น ในช่วงฤดูหนำว มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้นได้
การติดต่อ-อาการโนโรไวรัส
สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส ,การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนโนโรไวรัส ,การสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแล้วนำนิ้วที่ไม่ได้ล้างเข้าปาก ระยะฟักตัว ประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง
อาการ ท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทน ของเหลวที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำ
การป้องกันโนโรไวรัส
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที เป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ โดยล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร
- รับประทานอาหารปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมคลอรีน
- เด็กที่ป่วยด้วยโนโรไวรัสควรหยุดเรียนเพื่อป้องกันกำรแพร่กระจายเชื้อ