'กรมขนส่งทางบก' แจงหลัง 'ม.44' คุมเข้มวินัยจราจร
"กรมการขนส่งทางบก" ชี้แจงด่วนหลัง "คสช." ประกาศใช้ "ม.44" คุมเข้มวินัยจราจร ชี้ใบสั่งตั้งแต่ 21 มี.ค. ต่อทะเบียนได้แค่ป้ายภาษีชั่วคราว 30 วัน
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยภายหลังเมื่อวานที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออก ม.44 แก้ปัญหาความปลอดภัยรถโดยสารและคุมเข้มวินัยจราจร โดยในส่วนของการออกใบสั่งรถยนต์ทั่วไปนั้น ใบสั่งตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งส่วนนี้สำหรับประชาชนผู้ต่อทะเบียนภาษีที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายจราจรสามารถต่อภาษีได้ตามปกติ
ส่วนเกณฑ์ปกติสำหรับประชาชนที่ถูกใบสั่งทำผิดกฏหมายจราจร ในส่วนนี้กรมการขนส่งทางบกจะใช้พื้นที่ของขนส่งเปิดโต๊ะรับชำระค่าปรับแทน สตช.ด้วย หากผู้ต่อภาษีรายใดชำระค่าปรับเรียบร้อยก็สามารถต่อภาษีได้ทันที แต่หากผู้ต่อภาษีไม่สะดวกชำระค่าปรับทางเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกจะออกป้ายต่อภาษีชั่วคราว ซึ่งจะมีลักษณะเป็นใบเสร็จ พร้อมแสตมป์ข้อความที่ระบุว่า “ใช้เป็นป้ายต่อทะเบียนภาษีชั่วคราว” หากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเรียกตรวจสอบรถก็สามารถแสดงป้ายดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ป้ายต่อภาษีชั่วคราวจะมีอายุ 30 วัน และระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวผู้ต่อภาษีต้องไปชำระค่าปรับให้ครบถ้วน แต่หากไม่ดำเนินการหลังพ้น 30 วันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อไป
สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกรมการขนส่งทางบกและ สตช. วันพรุ่งนี้ (23 มี.ค.) เวลา 13.00 น. ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการหารือร่วมกันที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง ถนนศรีอยุธยา เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลเกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากการประกาศ ม.44 มีผลบังคับใช้แล้ว จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้มีผลสอดคล้องกัน
ส่วนการออกประกาศ ม.44 ควบคุมเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น ในประเด็นรถโดยสารที่มีผลทันทีโดยเฉพาะในส่วนของรถตู้โดยสาร ซึ่งเดิมรถตู้ที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งปกติจะมี 15 ที่นั่ง และรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัดมี 14 ที่นั่ง การประกาศ ม.44 มีผลให้รถทั้ง 2 ประเภทจะต้องไปแก้ไขปรับปรุงตัวรถให้มี 13 ที่นั่งเหมือนกัน ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของประกาศ คสช.ต้องการให้มีการนำเบาะท้ายสุดของตัวรถออกไป 1 ที่นั่ง รวมทั้งเบาะกลางระหว่างคนขับกับผู้โดยสารด้านหน้า อีก 1 ที่นั่ง ซึ่งเมื่อเอาออกไป 2 ที่นั่งก็จะมีจำนวนที่นั่งพอดีกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยเป้าหมายสำคัญต้องการให้การบรรทุกผู้โดยสารในรถตู้โดยสารมีที่เหลือและเกิดความคล่องตัวในการเปิดประตูด้านหลังกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ โดยการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศดังกล่าวมีการมอบหมายให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นเจ้าพนักงานรับไปดำเนินการ ดังนั้น ในส่วนนี้กรมการขนส่งทางบกจะมีการนำประกาศดังกล่าวเข้าหารือในคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อประกาศบังคับใช้กับรถตู้โดยสารทุกคัน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งในรถโดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลทุกคัน แต่มีข้อสงสัยว่าจะมีผลครอบคลุมถึงรถกะบะที่มีการต่อ cab ด้านหลังหรือไม่ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่าประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะรถที่มีการกำหนดโครงสร้างว่ามีจำนวนกี่ที่นั่งเท่าใด หากรถคันใดมีการต่อเติมที่นั่งเพิ่มหรือเป็นพื้นที่ในรถที่ไม่ได้ถูกระบุเพื่อการใช้สำหรับโดยสาร (ใช้วางสิ่งของ) ก็จะไม่เข้าข่ายตามประกาศดังกล่าว รวมทั้งรถสองแถว ซึ่งตามโครงสร้างไม่สามารถติดเข็มขัดนิรภัยได้สำหรับผู้โดยสารด้านหลังก็จะใช้มาตรการควบคุมดูแลความปลอดภัยอื่น ๆ มาทดแทน