ลั่นค่าเอฟทีงวดใหม่ขยับขึ้นแน่นอน
กกพ.ลั่นค่าเอฟทีงวดใหม่ขยับขึ้นแน่นอน ชี้ปรับขึ้นตามสูตรราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ไม่ชัดขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) คณะกรรมการ กกพ.จะมีการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟทีงวดใหม่ ที่จะเรียกเก็บ 4 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม โดยแนวโน้มจะขยับขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นอัตราเท่าใด จะมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่ ให้ที่ประชุมตัดสินใจ
สำหรับสาเหตุที่ขยับขึ้นมาจากราคาก๊าซธรรมชาติขยับขึ้นตามสูตรปรับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน โดยงวดที่แล้วค่าก๊าซฯ อยู่ที่ 233 บาทต่อล้านบีทียู ประกอบกับเงินลงทุนคงเหลือจากการตั้งงบประมาณ หรือ CALL BACK ของ 3 การไฟฟ้าและของเอกชนไม่มีเม็ดเงินเหลือมาหักลบได้และเงินอุดหนุนจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นจากอัตราปัจจุบันค่าไฟฟ้าเอฟทีอยู่ที่ติดลบ 37.29 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.3827 บาทต่อหน่วย
“งวดที่แล้วสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ เพราะมีเงินคงเหลือจากโครงการที่เข้าระบบผิดจากแผนงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา จาก สปป.ลาว วงเงินรวม 14,000 ล้านบาท ซึ่งเอาไปหักลบงวดที่แล้วงวดเดียว อย่างไรก็ตาม กกพ.จะพยายามเกลี่ยต้นทุนดูให้ละเอียด ก็มั่นใจว่าค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่จะขึ้นไม่ถึง 20 สตางค์ต่อหน่วยอย่างแน่นอน” นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า ในส่วนของต้นทุนจากการปิดซ่อมแหล่งยาดานาของเมียนมาร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีการบริหารจัดการภาคประชาชนร่วมลดการใช้ไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่อค่าไฟเพียง 0.2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เนื่องจากไม่มีการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้า มีเพียงการใช้น้ำมันเตาเพียง 30 ล้านลิตร จากเดิมคาดว่าจะมีการใช้ 90 ล้านลิตร
ส่วนกรณีที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปรับลดลงในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ที่กระทรวงพลังงานยอมรับว่าอาจจะล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อยจากเดิมต้องประมูลเสร็จสิ้นปลายปี2560 ทาง กกพ.ได้หารืออย่างใกล้ชิดกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ได้เร่งแผนงานก๊าซฯ แหล่งอื่น ๆ รวมทั้งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เข้ามาทดแทน ซึ่งตามแผนขณะนี้ไม่ขาดแคลน แต่ผลที่ตามมายังเป็นห่วงเรื่องต้นทุนค่าไฟฟ้าหากราคาแอลเอ็นจีขยับขึ้น ขณะเดียวกัน กกพ.ส่งสัญญาณว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP) แม้จะผลิตได้ตามเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 20 ของกำลังผลิตในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2015) สิ้นแผน 2579 แต่ปัญหา คือ พลังงานทางเลือกไม่สามารถพึ่งพาได้เหมือนพลังงานหลักที่พึ่งได้ 24 ชั่วโมงและยังมีต้นทุนสูง ขณะที่แผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) ก็ไม่สามารถเดินได้ตามเป้าหมายลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ดังนั้น กระทรวงพลังงานน่าจะเตรียมแผนรองรับระยะยาว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น