'IMD' ขยับอันดับแข่งขันไทยดีขึ้นมาอยู่ที่ 27
"เทวินทร์" เผย "IMD" จัดอันดับการแข่งขันไทยดีขึ้นจากอันดับ 28 มาอยู่ที่ 27 จากทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก ชี้ยังครองอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียนหลังเดินหน้าแก้ไขอุปสรรค
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ IMD ประจำปี 2560 ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 จากอันดับ 28 จากทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก โดยฮ่องกงยังคงครองอันดับ 1 รองลงมาสวิตเซอร์แลนด์ เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สิงคโปร์เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ทำให้สหรัฐอเมริกาตกไปเป็นอันดับที่ 4
สำหรับการประเมินปี 2560 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งคะแนนและอันดับได้รับคะแนนภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็น 80.095 จากคะแนน 74.681 ในปี 2559 จึงเลื่อนอันดับขึ้นจาก 28 ในปี 2559 เพิ่มเป็น 27 ในปี 2560 ขณะที่ 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ ได้รับคะแนน 85 คะแนน อันดับ 2 มาเลเซีย 83 คะแนน อันดับ 3 ไทย คะแนน 80 ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยยังคงอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย เมื่อไทยแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ คืบหน้ามาก ทำให้คะแนนของไทยไม่แตกต่างจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เพราะไทยมีคะแนนจาก 65 ช่วงหลายปีก่อน จึงจะทำให้ขยับอันดับดีขึ้น แสดงถึงความพยายามของรัฐบาล ภาครัฐ เอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้เริ่มส่งผล
การจัดอันดับฯ ของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฏว่า ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุด คือ สภาวะเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 10 เพิ่มจากอันดับ 13 ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับ 23 มาเป็นอันดับ 20 ส่วนปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2560 TMA มองว่าเมื่อผลการจัดอันดับปีนี้มีคะแนนรวมเกินกว่า 80 คะแนนและสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของทุกประเทศ เป็นการยืนยันว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้น เมื่อรัฐบาลแก้ไขหลายด้านทั้งอุปสรรคด้านข้อกำหนดกฎหมาย การอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ การเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งด้านวิจัย นวัตกรรม การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ จะเพิ่มอีกจำนวนมาก จึงมองว่าการจัดอันดับปีต่อไปจะดีขึ้นต่อเนื่อง
นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับชี้ว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 3 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคส่งสัญญาณดีขึ้นและการปรับปรุงด้านกฎระเบียบและกฎหมายธุรกิจจากสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลดีให้ดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ การขออนุญาตเรื่องไฟฟ้า ประปา พิธีการด้านศุลกากรสำหรับการค้าขายข้ามพรมแดน นักธุรกิจจึงมีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นเช่นเดียวกัน
โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ที่ปรับตัวดีขึ้น จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ตอบสนองภาคธุรกิจและความเชื่อมโยงต่าง ๆ ความเร็วอินเทอร์เนต การส่งออกสินค้าไฮเทค และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชนและรัฐกับเอกชน (Public-private partnerships) เป็นต้น และความเห็นของภาคธุรกิจต่อความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation Capacity) ของประเทศก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คือ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตร ทั้งจำนวนการขอจดสิทธิบัตร และจำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับการจด และสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ด้านการศึกษาต้องเร่งพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของบุคลากร รวมทั้งความสามารถทางวิชาการโดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และการปรับปรุงอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น องค์กรในการจัดอันดับด้านเศรษฐกิจ ทั้ง WEF ซึ่งทำการสำรวจความเห็นนักธุรกิจซีอีโอ และธนาคารโลก จัดอันดับการอำนวยความสะดวกดำเนินธุรกิจ น่าจะมีมุมมองต่อไทยทิศทางดีขึ้น