‘Kolla’ หางานที่ใช่ใกล้ๆบ้าน
คงจะไม่โดน ไม่ดังหรือปังตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การปั้นดารา กระทั่งการคิดค้นนวัตกรรม ต้องมีการปรับอยู่เรื่อยๆ
ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพที่ชื่อ “คอลล่า” ( Kolla ) ก็ต้อง Pivot หรือเปลี่ยนทิศมาเช่นเดียวกัน จากจุดเริ่มต้นชื่อว่า “มายโพรไฟล์” (My Profile) มุ่งหวังให้คนหางานสามารถสร้างประวัติโดยย่อหรือเรซูเม่ (Rerume) ในการสมัครงานได้ด้วยตัวเอง
จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็น “แกร็บอะจ็อบ” (Grabajob) ที่เจาะจงหางาน หาคนในสายงานโอเปอเรชั่น ซึ่งถือว่ามีอัตราการเทิร์นโอเวอร์สูงมาก โดยเฉพาะ พนักงานธุรกิจบริการ อย่างร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ
“ชนิชา เสถียรปภาพร” ผู้ก่อตั้ง เล่าว่า แม้ตัวเองจะเรียนจบด้านการจัดการอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่จับพลัดจับผลูมีโอกาสได้ทำงานสาย HR เลยมองเห็นถึงปัญหาทั้งเรื่องของการจ้างงานในมุมบริษัท และการหางานของคนทั่วไปมาโดยตลอด
แต่ก็ค้นพบว่าเมื่อได้ลองทำมายโพรไฟล์ สักพักก็คิดว่าคนจะได้งานทำคงไม่ได้อาศัยเรซูเม่สวยอย่างเดียว สุดท้ายแล้วควรต้องหางาน หาคนให้ได้ต่างหาก
"ทีแรกก็ไม่ได้คิดถึงพนักงานกลุ่มนี้ แนวคิดตอนนั้นอยากจะทำแพลตฟอร์มที่ให้คนเข้ามาหางานที่อยู่ใกล้บ้าน เอาแผนที่มาเป็นหลัก และให้บริษัทกับคนหางานได้พบกัน ได้แชทได้คุยกันตรงๆได้เลย ไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือต้องรอคอยขั้นตอนอื่นๆ"
แกร็บอะจ็อบเป็นแอพบนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบเอนดรอยและไอโอเอส และมีเว็บไซต์ที่ทำตัวเป็นเหมือนตลาดนัดงาน เป็นสังคมของการหางาน หาคนทำงาน
อย่างไรก็ดี เมื่อชนิชา มีโอกาสเข้าคอร์สอบรมสตาร์ทอัพ รวมถึงโปรแกรมทรู อินคิวบ์เบชั่น & สเกลอัพ รุ่น 3 ทำให้ก็เห็นว่าต้องปรับหมุนทิศกันอีกรอบ
“เรามาดูกันใหม่ว่าลูกค้าของเราเป็นใครกันแน่ ก็เห็นว่าผู้ที่สมัครเข้าระบบของเราส่วนใหญ่เป็นร้านค้า ร้านอาหาร และคนสมัครงานเองก็เป็นพนักงานในธุรกิจพวกนี้ นี่คือฐานลูกค้าที่แท้จริงของเรา”
ดังนั้นชื่อแกร็บอะจ็อบ ก็คงไม่สามารถสื่อเจาะจงได้ชัด รวมถึงได้ค้นพบว่ามีแบรนด์ชื่อเดียวกันนี้ที่ประเทศอินเดียและไอร์แลนด์ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคเวลาคิดจะขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อมาเป็น คอลล่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (แกร็บอะจ็อบใช้เป็นชื่อบริษัท)
"ตอนที่เข้าคอร์สอบรมมีช่วงให้เราต้องค้นหาตัวเองว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ ซึ่งพบว่าแบ็คกราวน์ของตัวเองก็คือ มีปู่เป็นยาม มีย่าเป็นแม่บ้าน มีแม่ก็เป็นเมด มีป้าก็เป็นกุ๊ก ทุกคนล้วนเป็น Blue collar ส่วนตัวก็เรียนจบ ปวช. ปวส. ถ้าจะให้เราจับกลุ่มคนทำงานที่เป็นระดับผู้บริหาร หรือ White collar ก็คงไม่ใช่ทางเรา"
เธอบอกว่า Kolla แปลงมาจากคำว่า Collar ซึ่งแปลว่าปกเสื้อ โดยมีการออกแบบโลโก้ที่ตัวอักษรเคให้ดูคล้ายปีกคอเสื้อและเป็นสีชมพู เนื่องจากได้ค้นวิกิพีเดีย a pink-collar worker พบว่า หมายถึงกลุ่มคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งจะมีขีดสีน้ำเงินเล็กๆเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็น Blue collar อีกด้วย
"คอลล่าเป็นแอพบนมือถือทั้งระบบเอ็นดรอยและไอโอเอส โดยหน้าแรกจะมีแผนที่ให้คนหางานเห็นว่าทำเลไหนมีงานอะไร ฝั่งบริษัทก็จะเห็นคนที่กำลังหางาน เวลาเดียวกันเราก็ทำตัวเป็นกูเกิลให้คนได้เสิร์ซหางานในทำเลที่ต้องการ บริษัทเองก็ได้เห็นคนหางานตำแหน่งที่ต้องการ ถ้าบริษัทดูโพรไฟล์แล้วโอเคก็กดไลค์ ทางคนที่หางานหากชอบงานที่บริษัทนำเสนอก็จะกดไลค์กลับ และแชทกันได้เลย เราส่งเสริมให้คนได้คุยกันก่อน ไม่จำเป็นต้องลางานไปสัมภาษณ์ เชื่อว่าแบบนี้มีโอกาสสูงมากที่จะได้งาน ได้คนที่ถูกใจ"
คอลล่า ต้องการช่วยบริษัทหาคนทำงานได้ทั่วไทย และให้คนหางานได้งานที่ใช่ใกล้ๆบ้าน ปัจจุบันแอพมียูสเซอร์ประมาณกว่า 8 พัน มีสัดส่วนเป็นคนหางานราว 7 พันราย เป็นบริษัทราวพันราย
ทำไมชูจุดเด่นตรงแผนที่ ชนิชาบอกว่า เพราะไม่เคยเห็นมีใครทำในตลาดมาก่อน เธอพบว่าโดยปกติแล้วเวลาคนจะหางานก็มักเข้าไปในเว็บไซต์หางาน พอเข้าเว็บก็จะคลิกเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ และที่สุดแล้วเขามักต้องการรู้ว่างานในบริษัทที่เขาสนใจตั้งอยู่ตรงแถวไหน
"จึงต้องมีแผนที่เป็นตัวจุดประเด็น โลเคชั่นต้องมาก่อน ทูเวย์คอมมิวนิเคชั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องทำให้บริษัทและคนหางานแชทกันตรงนั้นได้เลย ซึ่งเว็บไซต์หางานทั่วไปเป็นแบบ Passive บริษัทเอาประกาศรับสมัครไปโพสต์แล้วก็นั่งรอคนให้มาสมัคร และเมื่อได้แชทกันประวัติการแชทก็จะยังอยู่ เวลาที่บริษัทต้องการคนด่วนเดี๋ยวนี้ ก็เข้าไปคุยกับคนที่เคยคุยได้เลย ไม่ต้องไปค้นหาเรซูเม่กันใหม่ "
ในหมายเหตุที่ว่าระบบจะเก็บข้อมูลให้กับทางฝั่งคนหางานด้วย ซึ่งอาจลืมไปว่าที่ผ่านมาเคยสมัครงานอะไรบริษัทใดบ้างมีที่ตั้งอยู่ตรงไหนเช่นกัน
เธอมองว่าที่สำคัญ คอลล่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งไม่มีเงินลงประกาศรับพนักงานแข่งกับบริษัทใหญ่ๆ รวมถึงร้านค้าต่างๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวในซอกในซอย ที่เคยแปะประกาศหาคนงานกันที่หน้าร้านก็สามารถประกาศบนแอพได้ฟรีๆ ซึ่งคนทุกชนชั้นไม่ว่าจะรวยจะจนเวลานี้ต่างก็มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ คนหางานแค่นั่งเล่นมือถืออยู่ที่บ้านก็ค้นหางานที่อยู่ใกล้ๆบ้านโดยไม่ต้องเสียแรงไปตะเวณหาให้เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อน
ถามว่าทำไมต้องใกล้บ้าน คนทำงานกลุ่มนี้ไม่ชอบทำงานไกลที่พัก? คำตอบก็คือเพราะติดข้อจำกัดหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่อยู่ระหว่าง 7 พัน หรือมากสุดก็ 1.5 หมื่นบาท ทำให้ไม่มากพอจะใช้จ่ายในเรื่องของการเดินทางหรือไม่ก็มีครอบครัวต้องดูแลลูกหลานเรียนอยู่ในละแวกนั้น เป็นต้น
“คอลล่ามีทั้งงานประจำและพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ก็มี ถ้ายังเป็นเด็กที่ยังเรียนอยู่ต้องการหารายได้พิเศษ เขาก็ต้องการงานที่สะดวกในการเดินทาง ที่ทำงานต้องอยู่ไม่ไกลกับบ้านหรือหอพัก และกับสถาบันศึกษาของเขา”
เมื่อให้มองถึงกระแสหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่คนว่าจะกระทบกับธุรกิจที่ทำอยู่หรือไม่ อย่างไร เธอเชื่อว่า ลักษณะของงานบริการมีความละเอียดอ่อนหุ่นยนต์คงจะมาแทนที่ไม่ได้ง่ายๆ
“งานบริการมีเรื่องของฮิวแมนทัช เรื่องของการบริการลูกค้าส่วนใหญ่ยังต้องการเห็นคน ได้เจอคนมากกว่า หุ่นยนต์อาจจะเวิร์คกับงานบางอย่าง แต่คิดว่าคนยังมีความจำเป็นกับงานบริการอยู่”
และแพลตฟอร์มของคอลล่าเอง ก็กำลังวางแผนจะพัฒนาทักษะของคนในกลุ่มงานบริการด้วย โดยพื้นฐานสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องของ การมีใจรักในการบริการ ต้องมีความรู้ด้านให้การบริการ มีบุคลิกที่ดี มีการสื่อสารที่ดี เป็นต้น
Boost Post สร้างรายได้
ทุกตลาดย่อมมีทั้งฝั่งดีมานด์ และซัพพลาย ชนิชาบอกว่าในความเป็นจริงก็ยังไม่ได้ทำการตลาดจริงจัง 80% คอลล่าสื่อสารผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อนี้ที่เข้าถึงกลุ่มผู้หางานเป็นหลัก
ขณะที่ฝั่งบริษัทที่ต้องการหาคนก็อาศัยคอนเน็คชั่นเข้าไปพูดคุยกับฝ่าย HR และยอมรับว่าการได้เข้าโปรแกรมทรู อินคิวบ์ ถือเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากทรูเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับกลุ่มซีพีซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหาร และร้านค้าที่มีลักษณะเป็นเชนใหญ่มีสาขาอยู่มากมาย
"ปีนี้เราหวังจะเพิ่มจำนวนยูสเซอร์เป็น 4 แสนราย ขยายจากฐานเดิมที่อยู่แค่ในกรุงเทพไปยังต่างจังหวัดด้วย และจะพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรองรับฝั่ง HR ของบริษัทที่ไม่ค่อยถนัดจะใช้มือถือ หลักๆ เราจะมุ่งออนไลน์ ที่เหลือเราจะใช้ออฟไลน์ มีโรดโชว์ และสัมมนา เข้าหาทั้ง HR เจ้าของธุรกิจ เป็นการสร้างคอนเน็คชั่นและพาร์ทเนอร์ชิพ"
พูดถึงเรื่องของรายได้ เธอบอกว่าเนื่องจากคอลล่าเป็นมาร์เก็ตเพลส เบื้องต้นจึงต้องบิวด์จำนวนคนซื้อคนขายให้ได้มากๆเสียก่อน จนวันหนึ่งที่ทางฝั่งบริษัทพร้อมจะจ่ายแล้ว ในตอนนั้นรายได้จะว่าด้วยเรื่องของการ Boost Post
"รายได้เราจะมาจากตรงนี้ ปกติเราจะให้บริษัทโพสต์รับสมัครงานฟรีอยู่แล้ว แต่เขาก็อาจยังไม่เจอคนที่ต้องการ เราก็จะช่วยเขาไป Boost Post บนช่องทางออนไลน์ โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ โฟกัสว่าต้องการคนมีประสบการณ์อะไร เจาะจงให้ตรงกับกลุ่มคนที่ตรงกับความต้องการ ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ก็คงต้องลองดู"