งานด่วน 'บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์' นายหญิง บล.หยวนต้า
อายุงานซีอีโอบ้านใหม่แค่ 6 เดือน แต่ “นิด-บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์” หญิงเก่งแห่ง บล.หยวนต้า “แก่ความรอบรู้” เรื่องตลาดเงิน-ตลาดทุน 2-3 ปีนี้เร่งผลักดันพันธกิจพัฒนาบุคลากรให้เป็นมากกว่าคนนั่งคีย์ข้อมูลซื้อขายหุ้น
แม้จะมีอายุงานบนเก้าอี้ซีอีโอ (CEO) แห่งใหม่ สั้นแค่ 6 เดือน!!แม้จะมีอายุงานบนเก้าอี้ซีอีโอ (CEO) แห่งใหม่ สั้นแค่ 6 เดือน!!แต่ 'ความรอบรู้' เรื่องเกี่ยวกับแวดวงการเงินการลงทุนของ 'นิด-บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แก่พอตัว...!! สะท้อนภาพผ่านความสำเสร็จสมัยที่นั่งอยู่บ้านหลังเก่า บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET ที่ครองตำแหน่งโบรกเกอร์เบอร์ 1 ของเมืองไทย
ทว่า ประมาณเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์โยกย้ายข่ายใหม่ของบรรดา 'มาร์เก็ตติ้ง' และ 'พนักงานใน บริษัทหลักทรัพย์' หลายร้อยชีวิต ซึ่งมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน นั่นคือ 'บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)' บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ด้านธุรกิจหลักทรัพย์จากประเทศไต้หวัน
การกลับมาของ บล.หยวนต้า ในครั้งนี้เกิดจากการทำสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP และ บล.หยวนต้า ซีเคียวริตี้ส์ เอเชีย ไฟแนนซ์ เซอร์วิส จก. (YSAF) คิดเป็นมูลค่าซื้อขายประมาณ 686.9 ล้านบาท คิดเป็น 99.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งกระบวนการซื้อขายหุ้นได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 8 ก.ค.2559 และเปลี่ยนชื่อจาก บล.เคเคเทรด เป็น บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) 'หญิงเก่ง' ตอกย้ำการมาของ บล.หยวนต้า ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง
เธอบอกว่า บริษัทแม่ไต้หวันไม่เคยตั้งโจทย์อะไร !! มากดดันเร่งให้ทำ แต่ว่ากับเป็นฝ่าย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เสียเองที่เสนอเป้าหมายไปให้ โดย 'เป้าหมายแรก' ในปี 2560 นั่นคือ 1.ต้องมีมาร์เก็ตติ้ง (IC) จำนวน 300 คน 2.มีสาขาทั่วประเทศ 30 สาขา และ 3.มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 3% จากนั้นในปี 2561 มาร์เก็ตแชร์จะปรับขึ้นไป 'ระดับ 5-6%'
ทว่า ที่ผ่านมาบริษัทใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือน ก็สามารถทำทะลุเป้าหมายทั้งหมดได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีมาร์เก็ตติ้ง 400 คน มีสาขา 33 สาขา และมีมาร์เก็ตแชร์เกือบ 5% หรือ ติด TOP 5 โดยจะเน้นการเติบโตทั้งตลาดหุ้นและอนุพันธ์ ฉะนั้น สเตปต่อไปของบริษัท นั่นคือ การขึ้นมาเป็นโบรกเกอร์มาเก็ตแชร์เบอร์ 1 ของเมืองไทย และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2563
ถามถึงภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ ? 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' บอกว่า เรากำลังปฏิบัติการ 'กำจัดจุดอ่อน' ของบริษัทเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยกลยุทธ์ข้อแรก คือ 'พนักงาน' โดยภายใน 2-3 ปีนี้สิ่งที่บริษัทต้องเน้นดำเนินการก่อนคือการพัฒนาพนักงาน ทั้งในด้าน 'ทักษะหรือความชำนาญเกี่ยวข้องกับคน' (Soft Skill) และ 'ทักษะความรู้ด้านการทำงาน' (Hard Skill)
โดยบริษัทจะต้องให้พนักงานโดยเฉพาะ IC มีความรู้แบบมืออาชีพในเรื่องให้คำปรึกษาด้านการเงิน จะมาเป็นแค่คนที่นั่งคีย์คำสั่งซื้อขายหุ้นไม้ได้แล้ว เพราะว่าปัจจุบันนักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ตลอด 3 ปีนี้ พนักงานต้องเรียนหนังสือ เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการลงทุน 'เราหวังว่าในระยะเวลา 2-3 ปี ต้องเข้มงวดกับพนักงานให้สามารถนำพาลูกค้าที่มาใช้บริการให้มีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวไม่ใช่หวือหวาตามตลาดหุ้น'
ข้อสอง คือ 'ระบบ' ซึ่งระบบคือเครื่องมือที่จะช่วยพนักงาน เมื่อมีพนักงานที่ดีแต่ไม่มีอุปกรณ์พนักงานก็อยู่กับเราอยากเพราะเขาก็จะไปที่อื่น เพราะว่าไม่เครื่องมือทำมาหากิน ฉะนั้น เราไม่เคยขี้เหนียวในเรื่องงบลงทุนของการพัฒนาระบบ 'เราพยายามบอกกับทุกคนว่า ให้มองเงินที่ต้องลงไปกับระบบว่าเป้นการลงทุน ไม่ใช่ต้นทุน' เพราะว่าเมื่อไหร่ที่มองว่าเป็นต้นทุน บริษัทจะรู้สึกว่าต้องประหยัดต้องตัดงบลงทุน แต่ถ้ามองว่าเป็นการลงทุนอนาคตก็จะต้องได้ผลตอบแทนกลับมา ฉะนั้น ต้องเลือกว่าจะกำไรก่อนแล้วค่อยลงทุน หรือ ลงทุนก่อนแล้วค่อยกำไร ซึ่งเราเชื่อสิ่งหลัง
ดังนั้น ปีนี้บริษัทถึงตั้งงบลงทุนไว้ 300 ล้านบาท แต่ปัจจุบันงบลงทุนดังกล่าวทะลุเป็นกว่า 350 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยจัดทำ Platform ระบบต่าง ๆ ทั้งระบบเทรด (Front office) ระบบสนับสนุน (Back office) ตลอดจนปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนา Applications ต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในการลงทุน พัฒนาสินค้าทางการเงินที่หลากหลาย ฉะนั้น เมื่อพนักงานบุกไปข้างหน้าระบบต้องรองรับด้วย รวมทั้งระบบต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ต้องยอมรับว่าระบบไอที คือ 'หัวใจของธุรกิจหลักทรัพย์'
ข้อสาม 'ความน่าเชื่อถือ' หมายความว่า บริษัทต้องมีระบบการตรวจสอบน่าเชื่อถือ รวมทั้งต้องมีหน่วยงานของทางการยอมรับ และที่สำคัญต้องมีฐานทุนที่ใหญ่และบอกได้ว่าบริษัทเข้ามาทำธุรกิจจริงๆ ไม่ได้เข้ามาเพียงผิวเผิน แต่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) สามารถบอกได้ว่าเราเข้ามาทำธุรกิจเพราะวันนี้บริษัทมีเงินทุน 4,500 ล้านบาท เชื่อว่าในยุคนี้ไม่มีใครที่จะขนเงินลงทุนเข้ามาจำนวนมากง่ายๆ ฉะนั้น เป็นการยื่นยันและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าบริษัทไม่ได้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แต่มาเพื่อหวังนำโนฮาวจากบริษัทแม่ (ไต้หวัน) มาพัฒนาและถ่ายทอดให้กับนักลงทุน รวมทั้งนำระบบที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาพัฒนาอุตสาหกรรมในก้าวผ่านการแข่งขันในเรื่องราคาค่าคอมมิชั่นเหมือนในปัจจุบัน
และข้อสี่ 'บทวิเคราะห์' (Research) ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เข้ามาจำนวนมาก บ่งบอกว่านักลงทุนเชื่อมั่นใน Research ของบริษัท ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีตามสไตล์การลงทุนของแต่ละคน สะท้อนภาพให้เห็นเวลาที่บริษัทไปออกบูธตามงานต่างๆ มีนักลงทุนสนใจคึกคัก โดยตอนนี้บริษัทมีโปรแกรมการลงทุนให้นักลงทุนเลือกกว่า 7 แบบ
'หญิงเก่ง' เล่าต่อว่า ในปี 2560 ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าบัญชี 80,000 บัญชี จากปัจจุบันที่ 70,000 บัญชี ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) จากปัจจุบัน6,600 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีฐานเงินทุนมากถึง 4.5 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีรายได้จากการปล่อยมาร์จิ้นโลน คิดเป็น 20% ของรายได้รวม ซึ่งบริษัทเน้นจุดแข็งด้านความพร้อมของระบบที่มีศักยภาพ และมีนักวิเคราะห์ที่เพียงพอกับการออกบทวิเคราะห์ครอบคลุมหุ้นทุกกลุ่ม รวมไปถึงหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) แลเบริษัทเน้นลูกค้ากลุ่มพนักงานบริษัท นักลงทุนรุ่นใหม่ โดยปีนี้คงจะเปิดสาขาใหม่มากอีก
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทมีฐานทุน 4,500 ล้านบาท สามารถรองรับการให้บริการสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ได้ถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างครบถ้วนต่อความต้องการของนักลงทุนทั้งซื้อขายหลักทรัพย์, ตราสารอนุพันธ์, SBL (ยืมและให้ยืมหลักทรัพย์), Offshore trade, IB, Block trade รวมถึง Welth management และที่สำคัญบริษัทยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการลงทุน และสามารถลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับ 'ธุรกิจวาณิชธนกิจ' (IB) คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2561 โดยปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตครอบคลุมอยู่แล้วนั้น จะค่อยๆ เริ่มจากการเป็นผู้ร่วมรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในปีนี้ที่มีอยู่ 2 ดีล ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) และบริษัทจะเริ่มงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินเป็นลำดับถัดไป โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนการทำ Prop Trade น่าจะทำได้ในอนาคตแต่จะมุ่งเน้นไปที่การทำเพื่อเป็นธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (product) ที่บริษัทออก ซึ่งจะให้สัดส่วน 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% ทำเพื่อการเทรดดิ้ง
'บริการด้าน IB สิ่งสำคัญสุดคือมุ่งเน้นจะพัฒนาบุคลากรให้เป็นผ็เชียวชาญมีความชำนาญในด้านการวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงแบบยั่งยืน'
สำหรับ ปี 2560 บริษัทคาดว่าจะมี 'กำไรสุทธิ' จากเดิมที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ประเมินว่าปีนี้น่าจะ 'ขาดทุน' เพราะมองว่าในช่วงเดือน พ.ย- ธ.ค.นี้ ภาวะตลาดหุ้นไทยดีขึ้น ทำให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นมากขึ้น โดยในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ดีขึ้นมาอยู่ที่ 5.18% และคาดว่าปีนี้มาร์เกตแชร์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ตามเป้า ส่วน “ค่าคอมมิชชั่น” เฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ 0.10%
'เดือนกันยายน มาร์เกตแชร์ของบริษัทมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น บางวันขึ้นมาอันดับหนึ่ง โดยเฉลี่ยเดือนกันยายนอยู่ที่ 5.18 % เพราะภาวะตลาดหุ้นไทยดี ทำให้นักลงทุนมีการเทรดหุ้นมากขึ้น และ เรามีโปรแกรมช่วยทำให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจการลงทุน ทำให้นักลงทุนมีการซื้อขายหุ้นมากขึ้น โดยค่าคอมมิชชั่นเราเฉลี่ยประมาณ 0.10%'
ท้ายสุด 'บุญพร' ทิ้งท้ายว่า แผนธุรกิจในอนาคตบริษัทพยายามบาลานซ์พอร์ตลงทุนให้มีธุรกิจอื่นๆ เข้ามามากขึ้น จะไม่พึงพิงการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเดียว โดยเป้าหมายอยากเห็นพอร์ตหุ้นเหลือ 60% และ 40% เป็นธุรกิจอื่นๆ คาดว่าจะเห็นสัดส่วนดังกล่าวอีก 3 ปีข้างหน้า และมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท