อึ้ง! พบสารเคมีตกค้าง เกินมาตรฐานในผัก-ผลไม้

อึ้ง! พบสารเคมีตกค้าง เกินมาตรฐานในผัก-ผลไม้

อึ้ง!! พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานได้แถลงผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้ซึ่งไทยแพนดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 พบว่า จากการเก็บตัวอย่างผัก และผลไม้จากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ครอบคลุม..

-ผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี
-ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว
-และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด

โดยตรวจครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 ห้าง และซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง พบว่าโดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึง 46% แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

ทั้งนี้เป็นปีแรกที่ไทยแพน สุ่มตรวจผักพื้นบ้านยอดนิยมเพื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไป และผลไม้พบว่า ผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และผลไม้ 33% ตามลำดับ

640_78c5b9efa7dg5cceadb5b

โดยในผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่..ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง

"อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือไทยแพนพบว่ามีสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึง 55% จากจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 76 ตัวอย่าง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเท่าที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการสุ่มตรวจหาสารพิษกลุ่มนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลย โดยผลการตรวจพบพาราควอตตกค้างในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่างที่ส่งตรวจ รองลงมาคือไกลโฟเซต ตรวจพบ 6 ตัวอย่าง และอะทราซีน 4 ตัวอย่าง"

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ "กินเปลี่ยนโลก" มูลนิธิชีววิถี ซึ่งเข้าร่วมการเฝ้าระวังครั้งนี้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารใน 5 จังหวัด กล่าวว่า

"ก่อนการแถลงครั้งนี้ ไทยแพนได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมได้มอบข้อมูลทั้งหมดให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานที่มาร่วมหารือ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)"

ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ประกอบการก็จะได้นำข้อมูลระบุแหล่งที่มาแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เป็นปัญหาไปดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบว่ายังมีการตรวจพบสารที่แบนและไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล รวมทั้งมีการพบว่าผักผลไม้ราคาแพงซึ่งประทับตรารับรองต่างๆ ยังมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในระดับสูงกว่าที่จะยอมรับได้

"ในส่วนของผักพื้นบ้านยอดฮิต ผลการตรวจชี้ว่า "ขณะนี้การเพาะปลูกผักพื้นบ้านยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ก็มีการใช้สารเคมีเข้มข้นไม่น้อยเลย"

"ผลการตรวจครั้งนี้ยังเปิดเผยความจริง และชี้ให้เห็นว่าปัญหาของยาฆ่าหญ้าได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทุกคนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป"

"นอกเหนือจากผลักดันให้หน่วยงานรัฐและเอกชนแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว เครือข่ายที่ติดตามปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ประสานงานกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร ได้หารือจนได้ข้อยุติแล้วว่าจะร่วมกันฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตรซึ่งอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอต"

"และเป็นไปได้ว่าอาจมีการต่อทะเบียนคลอร์ไพริฟอสด้วย ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักได้เสนอต่อกรมวิชาการเกษตรให้ยุติการต่อทะเบียนและดำเนินการแบนสารทั้งสองชนิดดังกล่าว" นางสาวกิ่งกรกล่าว

ขอบคุณข้อมูล บันทึกการแถลงข่าว ไทยแพนเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thaipan.org