'คนร.' เห็นชอบ 'SME Bank' พ้นจากแผนฟื้นฟู
"คนร." เห็นชอบ "SME Bank" พ้นจากแผนฟื้นฟู พร้อมนำระบบธรรมภิบาลยกระดับรัฐวิสาหกิจให้แข็งแกร่งให้ยั่งยืนในระยะยาว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้
1. คนร. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ
คนร. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจะมีผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ได้แก่ 1) นายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นประธานอนุกรรมการ 2) ผู้อำนวยการ สคร. 3) นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย 4) นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5) นายยุทธ วรฉัตรธาร กรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ 6) นางสาวรัชฎา อนันตวราศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก 7) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 8) ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นอนุกรรมการ และ 9) ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการ สคร.เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และมีประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม
2. การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง
คนร. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ประจำปี 2560 รวมทั้งรับทราบแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาวและแผนปฏิบัติการปี 2561 ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจแล้ว โดยมีสาระสำคัญของผลการดำเนินงานและข้อสั่งการดังนี้
2.1 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คนร. พิจารณาผลการดำเนินงานของ ธพว. ในการแก้ไขปัญหาองค์กร พบว่า มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับ ธพว. มีการจัดทำระบบการทำงาน และการกำกับดูแลที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคตของ ธพว. เช่น มีการจัดทำระบบการถ่วงดุลอำนาจ ของกระบวนการอำนวยสินเชื่อ ระบบบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน รวมถึงระบบธรรมาภิบาลในกระบวนการตรวจสอบ และส่งเสริมธนาคารให้เป็นองค์กรคุณธรรม ซึ่งสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับ ธพว. ในอนาคตได้ คนร. จึงได้มีมติให้ ธพว. ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรและมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดกำกับติดตามการดำเนินงานของ ธพว. ต่อไป รวมทั้งได้สั่งการให้ ธพว. ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถดำเนินการตามภารกิจของ ธพว. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง และยั่งยืน
2.2 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีความคืบหน้าจากการที่สามารถแยกหนี้ดีหนี้เสียและดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้ ธอท. และรองรับการสรรหาพันธมิตร อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา นอกจากนี้ คนร. ยังได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินงานให้ ธอท. มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ
ในปี 2561 และสามารถหาพันธมิตรให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 และขอให้สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาองค์กรให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) ได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีแล้ว ซึ่ง คนร. ได้สั่งการให้ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท สร้างความชัดเจนในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาภารกิจการให้บริการโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และมีรายละเอียดของแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้เทียบเท่าเอกชนด้วย นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ดำเนินการถ่ายโอนทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการไปยังบริษัท NBN และบริษัท NGDC
ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในเดือนมีนาคม 2561 และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วทั้งของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนในการลงทุน
2.4 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง แต่เนื่องจากธุรกิจด้านการบินมีสภาพการแข่งขันที่รุนแรงยังอาจส่งผลกระทบกับ บกท. ดังนั้น คนร. จึงได้สั่งการให้ บกท. เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของ บกท. โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้วย นอกจากนี้ คนร. ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับ บกท. พิจารณารูปแบบในการธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบิน
และแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาแผนการนำสายการบินไทยสมายล์เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการของ บกท. ด้วย
2.5 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน และจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวแล้ว โดย คนร. ได้ขอให้ ขสมก. พิจารณากำหนดทิศทางการให้บริการของ ขสมก. ที่ชัดเจนสอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น และขอให้ ขสมก. พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับ จากระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) และ/หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นเพื่อให้เป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อประโยชน์ในการรับบริการของประชาชนได้ (Open Data) นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นทางใหม่ และกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการต่อรถในประเทศให้มีส่วนร่วมด้วย
2.6 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่จำนวน 5 เส้นทางแล้ว โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว คนร. ได้สั่งการให้ รฟท. พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท. ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เร่งศึกษาต้นทุนมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกอบการพิจารณาราคาค่าโดยสารยุติธรรม โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการด้วย
ทั้งนี้ คนร. ได้สั่งการให้ บกท. ขสมก. รฟท. นำเสนอรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่จะทำให้ผลประกอบการไม่ขาดทุนและสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจทั้ง ๓ แห่งได้อย่างยั่งยืน โดยเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป
สรุป การประชุม คนร. ในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาวให้รัฐวิสาหกิจด้วยระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใส การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบในเชิงโครงสร้าง การกำหนดสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐยังคงลงทุนหรืออุดหนุนในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดผ่านบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง