ครึ่งทางแห่งความหวัง ส่องไฮไลต์ COP29 การประชุมที่จะเปลี่ยนโลก
สัปดาห์แรกของ COP29 เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยความเข้มข้น ด้วยการจัดการประชุมนับร้อยเซสชันต่อวันตั้งแต่วันเปิดงาน ครอบคลุมหัวข้อหลากหลายเต็มไปด้วยพลัง มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง
การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 29 (COP29) กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ตั้งแต่พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024 จนถึงวันนี้ที่เป็นวันที่ 7 ของการประชุม “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมไฮไลต์สำคัญที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งทางของการประชุม และสิ่งที่คาดหวังได้ในช่วงที่เหลือ ดังนี้
‘การเงิน’ เป้าหมายหลัก
หนึ่งในภารกิจหลักของ COP29 คือ การตั้งเป้าหมายการเงินด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ เพื่อแทนที่เป้าหมายปัจจุบันที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยผู้แทนจากนานาประเทศได้เข้าร่วมการสนทนาอย่างเข้มข้นเพื่อกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติ และการดำเนินการของกองทุนชดเชยความเสียหายใหม่ (Loss and Damage) เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสม สหภาพยุโรปให้ความร่วมมือส่งเสริมประเทศร่ำรวยลงขัน
ส่งไม้ต่อจาก COP28
มุคตาร์ บาบาเยฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และนิเวศวิทยาของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน COP29 แทนประธาน COP28 สุลต่าน อัล จาเบอร์ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยบาบาเยฟให้ธีมหลักของงานเป็น “In Solidarity for a Green World” ที่ประกอบด้วยเสาหลัก 3 ประการ คือ การจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 1.5˚C, เสริมสร้างความทะเยอทะยาน และสนับสนุนการดำเนินการ และการรับรองกระบวนการแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มความมุ่งมั่นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่สำคัญเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งมอบเป้าหมายการเงินด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ที่ยุติธรรม และทะเยอทะยาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกประเทศ
หยุดยิงชั่วคราว
ในการเรียกร้องสันติภาพอย่างมีพลัง ยาลชิน ราฟิเยฟ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดปฏิบัติการทางทหารในเดือนนี้ภายใต้โครงการใหม่ที่เรียกว่า 'COP Truce' โครงการนี้ได้แรงบันดาลใจจาก 'Olympic Truce' โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสามัคคีทั่วโลก และเน้นประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
COP Truce ไม่ใช่เพียงการแสดงท่าทีเชิงสัญลักษณ์ แต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเผชิญวิกฤติสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมทางทหารทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็น 5.5% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลกต่อปี โดยการหยุดปฏิบัติการทางทหารชั่วคราวมุ่งหวังที่จะให้ระบบนิเวศที่สำคัญได้ฟื้นฟู และลดการปล่อยก๊าซจากความขัดแย้ง
เรียกร้องผู้นำเพิ่มความมุ่งมั่น
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องผู้นำโลกให้พวกเขาส่งมอบคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ และเน้นความจำเป็นในการเพิ่มการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และความทะเยอทะยานอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5°C
ตรวจความคืบหน้า GST
ไซมอน สตีลส์ เลขาธิการบริหาร UNFCCC เน้นความสำคัญของรายงานความโปร่งใสทุกสองปีที่ประเทศต่างๆ ต้องส่งภายในสิ้นปี 2024 รายงานเหล่านี้จะให้ภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในความมืด ทำให้การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
NDCS ของอาเซอร์ไบจานอยู่ที่ไหน?
มีการกำหนดให้ทุกประเทศยื่นข้อเสนอการลดการปล่อยก๊าซ (NDCs) ใหม่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งแผนเหล่านี้จะกำหนดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศจนถึงปี 2035
โดยก่อน COP29 จะเริ่ม ประธาน COP28 จาก UAE, ประธาน COP29 จากอาเซอร์ไบจาน และประธาน COP30 จากบราซิล ได้ประกาศว่า เป้าหมายของพวกเขาจะถูกเปิดเผยในที่ประชุม COP29 หรือภายในสิ้นปี 2024 ซึ่ง UAE และบราซิลได้ทำตามที่กล่าวไว้แล้ว แต่ NDCs ของอาเซอร์ไบจานยังคงไม่ปรากฏ
แทนที่จะประกาศเกี่ยวกับ NDCs ประธานาธิบดีของอาเซอร์ไบจาน อิลฮาม อาลิเยฟ ได้กล่าวถึงทรัพยากรน้ำมันของประเทศว่าเป็น "ของขวัญจากพระเจ้า" ทำให้คาดว่า NDCs ของอาเซอร์ไบจานจะไม่เน้นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากนัก
บราซิลเจ้าภาพ COP ปีหน้า
เจอรัลโด อัลกมิน รองประธานาธิบดีประเทศบราซิล ได้ส่งแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ของประเทศ (NDC 3.0) อย่างเป็นทางการที่ COP29 โดยแผนของบราซิลครอบคลุมทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และก๊าซเรือนกระจกทุกประเภท ด้วยเป้าหมายการลดจริง การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการต้อนรับจากเลขาธิการบริหารของ UN Climate Change ที่ระบุว่าบราซิลเป็นผู้นำในการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ
พาวิลเลียนไทย
พาวิลเลียนประเทศไทยในงาน COP29 เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจ โดยมีเวทีแสดงกลยุทธ์ และการดำเนินการของประเทศในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสนทนา และฟอรัมที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ในหัวข้อต่างๆ มากกว่า 30 หัวข้อ
มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก คือ 1. นโยบายสภาพภูมิอากาศ 2. เทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ 3. การดำเนินการสภาพภูมิอากาศ และ 4.การเงินสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีโซนเฉพาะสำหรับเทคโนโลยี และนวัตกรรม เน้นความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก และการจับคาร์บอน
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ กิจกรรมและของที่ระลึกที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก หมูเด้ง ฮิปโปน้อยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก และส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมการประชุม และมีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างแข็งขัน เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกันเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050
รวมถึงการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 นอกจากนั้น ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ (NDC 3.0) มุ่งที่จะเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกถึง 60% และนำแผนการลดการปล่อยก๊าซให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2019
การมีส่วนร่วมของสหรัฐ
คณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน และกระทรวงต่างๆ มากกว่า 20 หน่วยงาน ได้มีการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความพยายามร่วมกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐมีเป้าหมายที่จะใช้ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของตนเพื่อสนับสนุนโครงการสภาพภูมิอากาศระดับโลก และส่งเสริมนวัตกรรมในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
จอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐ กล่าวคำปราศรัยแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
สหรัฐได้ประกาศมาตรการใหม่ที่ COP29 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตน้ำมัน และก๊าซขนาดใหญ่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการปล่อยก๊าซมีเทน มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนั้น เจนนิเฟอร์ เอ็ม แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน สมาชิกสำคัญของคณะผู้แทนสหรัฐที่ COP29 ได้มีส่วนร่วมนำเสนอทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และโครงการสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยกล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาในการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทำเนียบขาว
AOSIS ปฏิเสธร่วมกลุ่มผู้บริจาค
กลุ่มประเทศหมู่เกาะเล็ก (AOSIS) เช่น หมู่เกาะมาร์แชล และหมู่เกาะตูวาลู ซึ่งกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องการเงินทุนเร่งด่วนสำหรับการปรับตัวและการชดเชยความเสียหาย ขณะที่การเจรจาเกี่ยวกับข้อความสำคัญด้านการเงินสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป พันธมิตรหมู่เกาะเล็ก (AOSIS) และกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้จัดงานแถลงข่าว เพื่อชี้แจงความคาดหวังสำหรับเป้าหมายใหม่ และเมื่อถูกถามว่าพวกเขาจะสนับสนุนการขยายกลุ่มผู้บริจาคให้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนาด้วยหรือไม่ มิไช โรเบิร์ตสัน ที่ปรึกษาอาวุโสของ AOSIS ตอบชัดเจนว่า “ไม่”
เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว
การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวที่มาถึงสนามบินนานาชาติของเมืองนี้ ได้ก่อให้เกิดคำวิจารณ์ โดยมีการกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายของการประชุม
ข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามการบิน Flight Radar ระบุว่า เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว 65 ลำได้ลงจอดในบากูในสัปดาห์ก่อนเริ่มการประชุม ในจำนวนดังกล่าวมี 45 ลำที่มาถึงช่วงวันเปิดงาน คือ อาทิตย์ที่ 10 และจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนจากจำนวน 32 ลำในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
งาน COP29 ขายอาหารแพง
มีการร้องเรียนเกี่ยวกับราคาอาหาร และความหลากหลายของอาหารมังสวิรัติ ผู้สื่อข่าวจาก The Guardian รายงานว่าอาหารในงานนี้มีราคาแพงมาก เช่น อเมริกาโนกับนมถั่วเหลืองราคา 360 บาท น้ำเกรปฟรุตเล็กๆ 380 บาท และเบอร์เกอร์วีแกนพร้อมมันฝรั่งทอด และโค้ก 789 บาท
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารมังสวิรัติ และวีแกนเพียงร้านเดียวในฟู้ดคอร์ท ทำให้เกิดการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ ผู้เข้าร่วมจากเม็กซิโก กล่าวว่า ราคาอาหารนี้สูงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล และเป็นสาเหตุที่บางประเทศส่งผู้แทนเพียง 1 หรือ 2 คน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้
COP นวัตกรรม
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2024 เป็นวันเฉพาะกิจในการประชุม COP29 โดยมีหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการดิจิทัล โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
การประชุมโต๊ะกลมระดับสูงเกี่ยวกับการดำเนินการทางดิจิทัลเพื่อโลกสีเขียว เซสชันนี้สำรวจวิธีที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมีการประกาศคำประกาศดำเนินการดิจิทัลเพื่อสีเขียวเพื่อเร่งการดิจิทัลที่ส่งผลบวกต่อสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซในภาค ICT
การสนทนาของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซมีเทน : ผู้เชี่ยวชาญได้หารือเกี่ยวกับวิธีการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบ และไซซ์ของเสียทั่วโลก
การขยายโซลูชันสภาพภูมิอากาศ : นำเสนอบริษัทที่ผลิตโซลูชันสภาพภูมิอากาศ และได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบการเงิน และนโยบายที่จำเป็นในการขยายโซลูชันเหล่านี้
จับตาครึ่งหลังของ COP29
ในช่วงครึ่งหลังของ COP29 คาดว่าจะมีการเจรจาสรุปเพิ่มเติมในเรื่องของการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ การจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย และการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และทะเยอทะยานมากขึ้น นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของประเทศต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์