เปิดกลยุทธ์ TKS “ฐานะมั่นคง” เมื่อมี TBSP
เพื่อนใหม่จะทำให้โตก้าวกระโดด 'สมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์' หัวเรือใหญ่ 'ที.เค.เอส.เทคโนโลยี' มั่นใจขึ้นแท่นหุ้นใหญ่ 'ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง' เกิน 50% ไม่รอช้าผนึกกำลังสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในและนอกประเทศ
โมเดลสร้างการเติบโตทางอ้อมของ บมจ. ที.เค.เอส.เทคโนโลยี หรือ TKS ผู้นำธุรกิจ Security Printing & Total Solution Services รายใหญ่ของประเทศไทย ค่อยๆ ถูกเผยโฉม หลังบริษัทประกาศทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) หุ้นทั้งหมดของ บมจ. ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง หรือ TBSP ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในด้านการให้บริการพิมพ์เอกสารปลอดการปลอมแปลงทุกประเภท และบัตรพลาสติก ในราคาหุ้นละ 15.70 บาท เดิมที่ถือหุ้นอยู่ที่ 19.89% เพื่อต้องการขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เบื้องต้นคาดว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นถึง 70-80%
รวมทั้งบริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้บางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่สถาบันการเงิน โดยจะออกหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 60 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นสามัญเดิม (RO) ในอัตราส่วน (เดิม : ใหม่) 6.0034 : 1 ราคาจองซื้อ 10 บาทต่อหุ้น
'เตรียมวงเงินพร้อมซื้อหุ้นทั้งหมดกว่า 1,385 ล้านบาท กรณีซื้อได้ทั้งหมด 80.11% โดยเงินมาจาก 2 ส่วน คือ กู้สถาบันการเงิน และเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม คาดว่าจะได้เงิน 600 ล้านบาท โดยเราจะนำเงินไปชำระเงินกู้จากธนาคาร'
ก่อนแผนงานจะถูกเปิดเผย 'สมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์' กรรมการผู้จัดการ บมจ. ที.เค.เอส.เทคโนโลยี หรือ TKS เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ดีลดังกล่าวเกินขึ้นเมื่อราว 4 เดือนก่อน (ก.ย.2560-ม.ค.2561) หลังจากบริษัทใช้เวลาศึกษาข้อมูลของ TBSP มากว่า 2 ปีแล้ว และพบว่า แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็น 'ธุรกิจการพิมพ์เอกสารปลอดการปลอมแปลง' แต่ดูในรายละเอียดพบว่ามีกิจการและฐานลูกค้าทับซ้อนกันแค่ 10% เท่านั้น
'การซื้อหุ้นทั้งหมดของ TBSP ถือเป็นแผนงานใหญ่ล่าสุดของ TKS เพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจและการเติบโตของบริษัทในอนาคต...!!'
เมื่อ TKS + TBSP ผลลัพธ์การทำงานจะทำให้เกิดการ 'ผนึกกำลัง' (Synergy) จากความ 'แตกต่าง' ของทั้ง 2 บริษัท ทั้งในเรื่องของความเชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ ชนิดของผลิตภัณฑ์ ตลาดลูกค้า กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการนำจุดเด่นของ TKS และ TBSP เข้ามาเพิ่มศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทและกิจการ ทำให้สามารถสร้าง 'ผลตอบแทน' มากขึ้น รวมทั้งการขยายธุรกิจของบริษัทสู่ตลาดการพิมพ์เอกสารปลอดการปลอมแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
'การ Synergy ครั้งนี้ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย จากการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์'
'สมคิด' บอกว่า ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์แบ่งเป็นตลาดสิ่งพิมพ์คิกเป็น 45% และ บรรจุภัณฑ์ (Packaging) คิดเป็น 55% โดยตลาดที่มีมูลค่าลดจะเป็นตลาดสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะในธุรกิจนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่ากำลังอยู่ในช่วง 'ขาลง' สะท้อนผ่านปี 2560 ตลาดสิ่งพิมพ์ประเภทกระดาษ มูลค่าตลาด 'ลดลง 20-30%'
แต่ว่าตลาดสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวไม่ได้เป็นกลุ่มลูกค้าของ TKS แต่ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าราว 4-5 แสนล้านบาท พบว่ามีอัตราการเติบโตตลอด แม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวตลาดโตเฉลี่ยราว 5% หากเศรษฐกิจดีตลาดเติบโตมากกว่า 10% ขึ้นไป สอดคล้องกับเมืองไทยเป็นครัวของโลก ยิ่งเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านนิยมสินค้าไทยมาก ซึ่งกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มีสินค้าเติบโตแรงๆ คือ 'อาหารและเครื่องสำอาง'
ดังนั้น เมื่อกลุ่มลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อสิ่งพิมพ์ประเภทกระดาษ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมของบริษัท ส่งผลให้บริษัทต้องมี 'การปรับพอร์ตรายได้' (Diversify) เข้ามาในธุรกิจ Packaging ที่ตลาดมีการเติบโตตลอดแทน ซึ่งปัจจุบัน TKS มีจุดแข็งในตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าอุปโภคและบริโภคและถือว่ามีความแข็งแกร่งในตลาดในประเทศ
ขณะที่ TBSP มีการเติบโตสูงในตลาดส่งออก และที่ผ่านมาบริษัทก็มีการ Diversify เข้าไปในธุรกิจฉลากอัจฉริยะ (Smart Labels) ที่ติดบนบรรจุภัณฑ์ (Packaging) รวมทั้ง บริการบริหารฐานข้อมูล (Database Management) บริการพัฒนาระบบกรสื่อสารของลูกค้าองค์กร ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัท
ฉะนั้น การ Synergy จึงเป็นโอกาสในการรุกทุกตลาดทั้งในและนอกประเทศ ในการกระจายรายได้ กระจายความเสี่ยง การลดต้นทุนจากการทำงานร่วมกัน และได้ทีมบริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุนการเติบโตรวมทั้งต่อยอดธุรกิจในอนาคตอีกด้วย เช่นการขยายฐานเข้าไปในลูกค้ากลุ่มสินค้าตลาดเครื่องสำอางอาหารที่มีอีกมาก
อีกทั้ง สามารถนำระบบและอุปกรณ์ไอทีเข้ามาเสริมการให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่ลูกค้าที่มีความต้องการ Digital Security ที่มากขึ้น เขา บอกว่า หากแผนทำเทนเดอร์ฯ แล้วเสร็จประมาณเดือน เม.ย.2561 มองในแง่ของผลประกอบการในภาพรวมของ TKS จะอยู่ราว 2,300 ล้านบาท แบ่งเป็นจากธุรกิจของ TKS ประมาณ 1,400 ล้านบาท และจาก TBSP ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะทำให้การเติบโตของ TKS ในแง่ของรายได้สูงกว่า 70% จากปีก่อน ถือว่าเป็นการเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' หลังจากจัดทำงบการเงินรวมทั้งสองบริษัทเรียบร้อย
นอกจากนี้ TKS และ TBSB ยังมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่แล้วกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้
'ถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะมีการ Synergy กัน เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตที่สำคัญเราจะได้โนฮาวด์ และเทคโนโลยี เข้ามาเสริมศักยภาพในการแข่งขัน และมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งเป็นการขยายฐานลูกค้าแบบรวดเร็ว จะมามัวนั่งทำเองทั้งหมดคงไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว'
รวมทั้ง บริษัทกำลังศึกษาลงทุนในตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ และมีการออกสินค้าใหม่ การเจาะตลาดลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (เมียนมา , ลาว , เวียดนาม และกัมพูชา) โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในปี 2561 เพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
แต่หลังจากมีการ Synergy กับ TBSP จะทำให้ตลาดต่างประเทศมีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะว่าทาง TBSP มีการเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาและเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเมียนมาในปัจจุบัน ดังนั้น ในอนาคตบริษัทสามารถนำโปรดักท์ที่ทาง TBSP ยังไม่มีจำหน่ายเข้าไปขายในตลาดได้ ซึ่งทำให้บริษัทไม่ต้องไปวิ่งลงทุนเอง แต่การ Synergyเท่ากับทำให้บริษัทได้เรียนรู้หลักสูตรเร่งรัดด้วย
โดยปัจจุบัน TKS มีโปรเจคที่รอเซ็นสัญญาลูกค้าในประเทศเมียนมาและลาว คาดว่าจะเห็นในปีนี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปทำโปรเจคในลาวเฟสแรก มูลค่า 70-80 ล้านบาท ขณะที่ในพม่าจะเป็นธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบริษัทจะนำเทคโนโลยีเข้าไปทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ในประเทศเมียนมาไม่มี หรือ ยังทำไม่ได้ โดยจะเน้นเข้าไปทำในเรื่องของคุณภาพสินค้ารวมทั้งต้องมีความแปลกใหม่ ด้านตลาดออสเตรเลียปีนี้ก็ยังทำแต่ไม่ได้โฟกัส เพราะว่าได้รับกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
'ในอนาคตเราจะมีการศึกษาในตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หลังจากที่บริษัทได้ควบรวมกับ TBSP คิดว่าตลาดต่างประเทศเราจะแข็งแรงมากขึ้น เพราะว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ เช่นในตลาดที่ TBSP นำร่องไปแล้ว เราสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ TBSP ไม่มีไปขายได้'
ขณะเดียว ในตลาด Packaging ทาง TBSP ก็สามารถนำสินค้าตัวเองเข้ามาขายลูกค้า TKS ได้ ซึ่งจะเห็นประโยชน์ร่วมกันที่ชัดเจน และในบางเรื่องของการแชร์โนฮาวด์ และเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย รวมทั้งได้ในเรื่องของการลดต้นทุน
ท้ายสุด 'สมคิด' ยืนยันว่า บริษัทไม่มีแผนนำหุ้น TBSP ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากเห็นประโยชน์ของการอยู่ในตลาดหุ้นมากกว่าเพิกถอนหุ้นออกจากตลาด
โบรกฯ มองผนึกกำลัง'คุ้มค่า'
บล.ฟิลลิป ระบุว่า คาดการณ์ว่าการทำ Tender Offer หุ้น TBSP จะทำให้ TKS ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 52% ตามที่บริษัทได้ประกาศทำ Tender Offer หุ้น TBSP ที่ 15.70 บาท ในส่วนที่ไม่ได้ถือ 80.11% โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TBSP คือ คุณสุธิดา มงคลสุธี ถือหุ้นอยู่ 32.12% และเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TKS จึงคาดจะขายในการทำคำเสนอซื้อ และทำให้ TKS ถือหุ้นใน TBSP ได้อย่างน้อย 52.01% โดยมูลค่าในส่วนของคุณสุธิดาคิดเป็น 554.78 ล้านบาท เทียบกับเงินเพิ่มทุนที่ TKS จะได้ 600 ล้านบาท เพียงพอในส่วนนี้ แต่หากมีผู้เสนอขายมากกว่านี้ก็จะกู้เงินมาซื้อ คงต้องติดตามว่าจะมีผู้มาเสนอขายเพิ่มหรือไม่ เพราะราคาเสนอซื้อใกล้เคียงกับราคาซื้อขายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การรวมกันส่งผลดีต่อการแข่งขันและโอกาสในการขยายงานในอนาคต จากงานด้านสิ่งพิมพ์ที่งานบางส่วนหดตัวลงตามกระแสเทคโนโลยี การเข้าถือ TBSP จะนำจุดแข็งมาเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และยังขยายการให้บริการทั้งลูกค้าเดิมและรายใหม่ได้มากขึ้น รวมถึงขยายไปในต่างประเทศ อีกทั้ง การพัฒนาสินค้าและบริการก็ไม่ทับซ้อนกัน โดย TKS มุ่งไปในด้านบรรจุภัณฑ์ (fexiblepackging) และ Label แบบ Linerless ส่วนของ TBSP ไปในด้าน Brand Protection & Security Label, Security/Information Mgt. และยังมีจุดเด่นในเรื่องการทำบัตรพลาสติก โดยยังมี R&D ที่จะเพิ่มการให้บริการในอนาคต
ดังนั้น ยังคงแนะนำ 'ซื้อ' เพราะว่าการถือหุ้น TBSP ทำให้ลดการ R&D ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยังไม่มี ทำให้ลดการลงทุน และยังให้บริการได้ครบวงจร