รมว.คลังลั่น ‘จีดีพี’ ปีนี้โต 4.2% สั่งดันเศรษฐกิจฐานราก

รมว.คลังลั่น ‘จีดีพี’ ปีนี้โต 4.2% สั่งดันเศรษฐกิจฐานราก

รัฐมนตรีคลัง ฟันธงเศรษฐกิจไทยปีนี้โตตามเป้า 4.2% ชูนโยบายเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจรากหญ้าผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพ หวังช่วยคนรายได้น้อย พ้นเส้นความยากจน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายซึ่งวางไว้ที่ 4.2% โดยเศรษฐกิจในระดับมหภาคฟื้นตัวดีขึ้นจากผลประกอบการของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งในระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับ การเดินหน้านโยบายช่วยเหลือคนจน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพ

เขากล่าวว่า ตอนนี้ รัฐบาลไม่ห่วงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความสามารถอยู่แล้วในการบริหารธุรกิจให้มีผลประกอบการที่ดี สะท้อนได้จากผลประกอบการในตลาดหุ้นที่ขยายตัวดีมาก หรือเติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับจีดีพีที่ขยายตัวได้ประมาณ 4% และจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้ขนเงินไปลงทุนต่างประเทศกันจำนวนมาก

เร่งช่วยเศรษฐกิจฐานราก

อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจมหภาคนั้น ไม่สามารถไหลไปสู่เศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้อย่างทันใจ ทางรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง จึงต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ โดยดำเนินการผ่านความช่วยเหลือด้านสวัสดิการคนจน ซึ่งได้ดำเนินการนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ กำลังเร่งสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อให้คนจนมีรายได้พ้นเส้นความยากจน ซึ่งถือนโยบายที่ต้องเดินหน้าให้สำเร็จ

“นโยบายการสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนจนนี้ ผมให้มีการรายงานผลในทุกๆเดือน เพื่อให้รู้ว่า มีอะไรที่เราทำแล้วผิดพลาดบ้าง เพื่อจะได้แก้ไข ยกตัวอย่าง การอบรมชาวบ้านให้มีอาชีพนั้น จะต้องลงไปแนะนำเป็นรายตัวเลย ไม่ใช่อบรมครั้งละ 40-50 คน จากนั้น ก็แจกยาพาราเซตามอลเหมือนกัน อันนี้ ไม่ใช่ เพราะแต่ละคนก็มีปัญหาต่างกัน”

เพิ่มบุคลากรฝึกอาชีพคนจน

นอกจากนี้ ยังให้นโยบายไปว่า ให้เพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะทำหน้าที่ไปสอนงานสอนอาชีพแก่คนจน หากต้องการใช้งบประมาณก็สามารถเพิ่มได้ เพราะตอนนี้ เรามีงบสำรองไว้ถึง 2 หมื่นล้านบาท หากงบดังกล่าวสามารถช่วยให้คนจนมีรายได้มากขึ้น เงินเหล่านี้ ก็จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการแจกเงินที่ใส่ลงไปเท่าไรก็หายหมด

“ถ้าเราแจกเงิน ก็แป็บเดียวหมด แต่เงินที่เราได้มานั้น เราเอาไปพัฒนาศักยภาพคนจนให้มีรายได้ ก็เชื่อว่า คนจนเหล่านี้ จะเริ่มมีรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้ เราจะวัดผลการดำเนินงานในภาพรวมว่า ผลเป็นอย่างไร ถ้าดี ก็ดีใจ ถ้าไม่ดี ก็ทำใหม่”

งบประมาณเข้าจุดสมดุลใน10ปี

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพแล้ว กระทรวงการคลังจึงตั้งเป้าหมายที่จะทำกรอบนโยบายงบประมาณสมดุล ซึ่งทีมงานได้ทำตัวเลขไว้ว่า งบประมาณของไทยจะสามารถเข้าสู่จุดสมดุลได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจีดีพีจะต้องขยายตัวได้ในระดับศักยภาพที่ประมาณ 4%ต่อปี นับจากวิกฤตเศษฐกิจที่ผ่านมา เราได้เตรียมพร้อมตัวเองหลายด้าน ความมั่นคงทางการคลังก็เพิ่มสูงขึ้น ค้าขายก็ได้กำไร ทำให้ทุนสำรองเพิ่มสูงขึ้น หนี้ต่างประเทศก็อยู่ในระดับต่ำแค่ 4%ของหนี้รวม นโยบายการขาดดุลที่ผ่านมา เราทำเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น

“ภายใต้งบประมาณสมดุลนั้น เราทำโมเดลในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีต่างๆ และ ประมาณการรายจ่ายและการลงทุนต่างๆ ดูตัวเลขแล้ว เราจะทำงบประมาณสมดุลได้ในอีก 10 ปีข้างหน้านับจากปีนี้เป็นปีแรก ส่วนหนี้สาธารณะนั้น จะสูงสุดที่ 48-49%ในระยะ 5 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้ งบประมาณด้านการลงทุนนั้น นอกจากส่วนใหญ่จะนำมาจากงบประมาณแล้ว ได้มีการประมาณการว่า จะนำมาจากการร่วมลงทุนของภาคเอกชนประมาณ 20-25%อีก 5%จะมาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังมีความล่าช้าในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจาก อยู่ระหว่างการฟ้องร้องโดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ชี้บริโภคโตจากกลุ่มรายได้กลาง-สูง

รายงานนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ฉบับเดือนมี.ค.2561 ระบุว่า การบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ขยายตัวจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มรายได้สูงเป็นหลัก โดยครัวเรือนนอกภาคเกษตรกลุ่มรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 28,000 บาท และ 69,000 บาท มีสัดส่วนการใช้จ่ายประมาณ 66% ของการใช้จ่ายรวม

นอกจากนี้เครื่องชี้รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรกลุ่มรายได้สูงมีทิศทางขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดบริการและหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์สามารถขยายตัวได้ ในทางกลับกันการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยทั้งในและนอกภาคเกษตรยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ

เม็ดเงินรัฐทยอยเข้าระบบปี61-62

รายงานระบุว่า ภาครัฐได้ออกมาตรการซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย อาทิ งบประมาณเพิ่มเติมในปี 2561 ที่เม็ดเงินสนับสนุนส่วนใหญ่จะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2561 และปี 2562 ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2

โดยโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการปฎิรูปภาคการเกษตรในส่วนของการสร้างอาชีพในฤดูแล้ง จะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถขยายตัวได้ และทำให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งในอนาคต แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าในอดีตบ้าง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังภาคบริการซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเดิมมากขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

แนวโน้มบริโภคยังขยายตัว

รายงาน ยังระบุด้วยว่า ระยะข้างหน้า การบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงส่งให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากวัฎจักรการบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงของการขยายตัว นำโดยวัฎจักรการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งสอดคล้องกับวัฎจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

โดยเมื่อวิเคราะห์วัฎจักรการบริโภคภาคเอกชนจำแนกเป็นรายหมวด พบว่าในปัจจุบัน วัฎจักรของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกำลังอยู่ในช่วงขยายตัวสอดคล้องกับวัฎจักรเศรษฐกิจ สะท้อนว่า ครัวเรือนจะบริโภคสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นมากกว่าแนวโน้มปกติ เนื่องจากครัวเรือนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ วัฎจักรของการใช้จ่ายในหมวดบริการอยู่ในช่วงขยายตัว ส่วนวัฎจักรของการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนอยู่ในช่วงขยายตัวช้าๆ และวัฎจักรของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวใกล้เคียงกับแนวโน้มตามปกติ