กพอ.ไล่เช็ค 5 โปรเจคอีอีซี
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม กพอ.ไล่เช็ค 5 เมกะโปรเจค โครงสร้างพื้นฐานอีอีซี กทท. เตรียมเสนอประมูลแหลมฉบังรอบใหม่ ชงขายซองให้รายเก่า 32 บริษัท พร้อมปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน "คณิศ" มั่นใจทุกโครงการเดิมหน้าลงทุน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า วันนี้ (23 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 5 โครงการ ซึ่งได้ทยอยเปิดให้มีการยื่นซองในแต่ละโครงการแล้ว โดยเฉพาะโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่มีปัญหาต้องยกเลิกการประมูลรอบแรกเพราะมีผู้ยื่นซองเพียง 1 ราย และยื่นเอกสารไม่ครบ
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงินลงทุน 84,361 ล้านบาท ได้ประชุมเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติเห็นชอบร่วมกัน เรื่องการกำหนดระยะเวลาประกาศขายเอกสารเชิญชวน ตามที่เอกชนส่วนใหญ่ในเวทีรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) เสนอให้กำหนดระยะเวลาเตรียมเอกสาร 2 เดือนก่อนยื่นซองข้อเสนอประมูลโครงการ ส่วนกำหนดเปิดขายซองรอบใหม่นั้น จะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กทท.เห็นชอบก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอขายไม่เกินวันที่ 31 ม.ค.นี้
เคาะประมูลแหลมฉบังใหม่
สำหรับประเด็นของการเปิดขายซองรอบใหม่ ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นว่าเอกชนเดิมที่ซื้อซองไปก่อนหน้านี้ทั้ง 32 ราย จะต้องซื้อซองใหม่ตามระเบียบการประมูล แต่ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเสนอ กพอ.พิจารณาทบทวนประกาศหลักเกณฑ์การยื่นซองประมูลตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 โดยให้พิจารณาถึงแนวทางหากจะผ่อนปรนไม่ต้องซื้อซองอีกครั้งได้หรือไม่ รวมทั้งมีการพิจารณากรณีความรับผิดร่วมตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่ง กพอ.อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาแก้ไขประกาศ ดังนั้นทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องรอปรับแก้ประกาศดังกล่าวก่อน
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูล เช่น ประสบการณ์การจัดตั้งบริษัท เดิมกำหนดว่า ต้องจัดตั้งมาก่อนวันยื่นซองประมูลไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้ผ่อนปรน รวมถึงประเด็นการควบรวมกิจการ ก็ผ่อนปรนให้สามารถใช้ประสบการณ์ของผู้ควบรวมเดิมได้ ส่วนการใช้ประสบการณ์ผู้รับจ้าง ผ่อนปรนให้นิติบุคคลในลักษณะโฮลดิ้ง สามารถใช้ประสบการณ์ของบริษัทลูกมายื่นได้ ขณะที่ ข้อกำหนดด้านประสบการณ์ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปของการปรับแก้ ซึ่งจะต้องมีการหารือใหม่อีกครั้ง
ร.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า ส่วนประเด็นของสถานที่รับซองมีเอกชนบางส่วนบางส่วนเสนอให้ย้ายสถานที่มายัง กทท. สำนักงานใหญ่ แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังเล็งเห็นว่าสถานที่แหลมฉบังเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเอกชนแต่ละรายจะต้องมีสำเนาซองละ 15 ชุด ซึ่งถือเป็นเอกสารจำนวนมาก หากมีการเคลื่อนย้ายเอกสารจากท่าเรือกรุงเทพ ไปยังท่าเรือแหลมฉบังอาจจะเกิดความไม่สะดวก ประกอบกับอาจทำให้ซองประมูลเสียหาย เกิดความไม่โปร่งใส
“คณิศ”เร่ง5โครงการอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การพัฒนามีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยแผนการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ระยะ และปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 แล้ว โดยในระยะที่ 1 ได้ทำการวางแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี และออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรียบร้อยแล้ว
ส่วนระยะที่ 2 การพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 5 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุน 6% เอกชนลงทุน 94% มีเอกชนซื้อเอกสารคัดเลือก 42 ราย กำหนดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 28 ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการในปี 2566
2.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 1.1 แสนล้านบาท ภาครัฐเป็นผู้ลงทุน 47% เอกชนลงทุน 53% มีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 32 ราย กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2566 โดยกทท.เปิดรับซองประมูลเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยกเลิกการประมูลเพราะมีปัญหาเอกชนมีเวลาเตรียมตัวน้อยเพียง 2 เดือน ซึ่งปกติการประมูลโครงการใหญ่จะมีเวลา 3-4 เดือน และที่ผ่านมามีผู้ซื้อซอง 13 ราย ส่งหนังสือมาที่ สกพอ.ขอขยายเวลาการยื่นซองประมูล
ไฮสปีดติดปัญหาเจรจาซอง4
3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการ 1.8 แสนล้านบาท โดยภาครัฐจะร่วมลงทุน 65% เอกชนลงทุน 35% มีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 31 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาเอกชนร่วมลงทุน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาซอง 4 ที่เป็นข้อเสนอพิเศษ
รวมทั้งอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนอยู่ระหว่างการเจรจากับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) China Railway Construction Corporation Limited บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แจ้งกลุ่มซีพีเกี่ยวกับการเจรจาไปแล้ว รวมทั้งเดิมมีกำหนดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเอกชนร่วมลงทุนภายในวันที่ 31 ม.ค.2562 และคงไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด
ยื่นซองมาบตาพุด6ก.พ.นี้
4.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่าโครงการ 1 หมื่นล้านบาท โดยภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุน 60% เอกชนลงทุน 40% กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 18 ก.พ.2562 และ 5.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 6 หมื่นล้านบาท ภาครัฐลงทุน 23% ภาคเอกชนลงทุน 77% มีเอกชนซื้อเอกสารคัดเลือก 18 ราย กำหนดยื่นข้อเสนอ 6 ก.พ.2562 และจะเปิดดำเนินการต้นปี 2568 ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มั่นใจว่าจะมีผู้สนใจยื่นซองประมูลหลังจากได้ขยายระยะเวลาการเตรียมเอกสารจากเดิม 2 เดือน เป็น 3 เดือน ทำให้ผู้ซื้อซองมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น