กระจายพอร์ตลดเสี่ยง เน้นสินทรัพย์ 'รีเทิร์น' ชัวร์
ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความเปราะบาง เมื่อสารพัดปัจจัยลบกดดัน 'กูรู' แนะกลยุทธ์ปีนี้เน้นกระจายการลงทุน พร้อมเชียร์เพิ่มน้ำหนัก 'ตราสารหนี้ & กอง REITs' หลังผลตอบแทนสูงความเสี่ยงต่ำ !!
เมื่อเศรษฐกิจโลกและเมืองไทยแนวโน้มเติบโตชะลอตัว...!! ยังเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นไทย 'ผันผวน' บ่งชี้ผ่านปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ทั้งการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน , การพิจารณาข้อตกลง Brexit กับ EU และเสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้งของไทย
แม้ว่าปัจจุบัน 'เม็ดเงินต่างชาติ' (Fund Flow) กำลังไหลกลับเข้ามายัง 'ตลาดเกิดใหม่' (Emerging markets) ในภูมิภาคนี้ รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ที่ปรับตัว 7% (จากจุดต่ำสุดเดือนธ.ค.) แต่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าตลาดเพื่อนบ้านอย่าง ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ตลาดปรับตัวขึ้นไป 20% และ 15% ตามลำดับ
แต่ว่าในช่วงที่ผ่านมา 'ผลตอบแทน' ในสินทรัพย์ลงทุนยังตกอยู่ในลักษณะผันผวน ทำให้นักลงทุนเริ่มลังเลว่า ควรเลือกลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดระหว่าง 'ตลาดหุ้น-ตราสารหนี้-ทองคำ'
เมื่อสถานการณ์เป็นจริงเช่นนั้น ในปี 2562 นักลงทุนอาจต้อง 'ปรับพอร์ตฟอลิโอใหม่' เพราะเมื่อมีอะไรผิดไปจากที่คาดการณ์ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนรอบใหม่ เพื่อสร้าง 'รีเทิร์น' ของตัวเองให้สูงสุด !!
สอดคล้องกับ 'วิน พรหมแพทย์' ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล จำกัด บอกกลยุทธ์การลงทุนในช่วงปี 2562 ให้ฟังว่า สำหรับ 'การจัดสรรแบ่งเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ' หรือ Asset Allocation นั้น แนะนำปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในในสินทรัพย์ 'ตราสารหนี้' ประเภทหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น หลังจากหุ้นกู้ดังกล่าวเริ่มออกมามากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยดีกว่าเดิมโดยเฉพาะหุ้นกู้ช่วงอายุ 2-5 ปี
ยกตัวอย่าง หากปี 2561 มีตาราสารหนี้ในสัดส่วน 40% ปี 2562 พอร์ตลงทุนควนเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้เป็น 50% เป็นต้น
อีกกลุ่มที่น่าสนใจ นั่นคือ 'กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์' (REITs) ควรมีสัดส่วนการลงทุนราว 10% เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ชะลอตัว โดย REITs ในตลาดโลกคาดให้อัตราเงินปันผล 3-5% ในโซนสหรัฐฯ ยุโรป ขณะที่ในโซนเอเชียแปรซิฟิก (Asia-Pacific) คาดให้อัตราเงินปันผล 5-6% โดยเฉพาะใน 'ประเทศไทยและสิงคโปร์' ในกลุ่มอาคารสำนักงาน และคลังสินค้า
ขณะที่ การลงทุนในสินทรัพย์หุ้น โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักหุ้นในตลาดหุ้นเอเชีย โดยมอง EPS Growth 6-8% โดย Earnings Cuts พ้นจุดต่ำสุดได้ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 หลังคาดการณ์เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย และการย้ายฐานผลิตไปโซนเอเชียเหนือ และอาเซียน
ขณะที่สินทรัพย์ประเภท 'ทองคำ' พอร์ตลงทุนควรมีทองคำติดไว้ราว 5% เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน จากเดิมแนะนำซื้อลงทุนในกรอบราคา 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ปัจจุบันราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ดังนั้น แนะนำให้รอดูทิศทางก่อน เพราะว่าระหว่างทางราคาทองคำมีลักษณะ 'ปรับขึ้น-ลง' ตลอด
อย่างไรก็ตาม 'วิน' มีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตแต่โตช้าลง และเมืองไทยก็เติบโตช้าลง ปีนี้คาดการณ์การเติบโตแค่ 'ระดับ 3.7%' จากการขับเคลื่อนของงานภาครัฐ ท่องเที่ยวฟื้นตัว และส่งออก โดยยังคาดหวังงานภาครัฐและการท่องเที่ยวจะช่วยประคองในปีนี้
ขณะที่ คาดกรอบตลาดหุ้นไทยปีนี้ 1,600-1,850 จุด ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) เติบโตประมาณ 7-8% โดยให้น้ำหนักหุ้นใน กลุ่มพาณิชย์ , สุขภาพ และสาธารณูปโภค โดยมีปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งและความต่อเนื่องของนโยบายรัฐ , เม็ดเงินลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยลบคือสงครามทางการค้า , Brexit และความผันผวนในตลาดหุ้นโลก
'ไพบูลย์ นลินทรางกูร' ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า พุ่ง 25.07% มาอยู่ที่ระดับ 116.76 โดยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) ตามเดิม หรือเพิ่มขึ้นเดือนแรก 'ในรอบ 4 เดือน'
เป็นผลจากสถานการณ์การเมืองที่ประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน ปัจจัยรองลงมามาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างประเทศที่กลับเป็นมี 'ยอดซื้อสุทธิ' ในช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากไหลออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561)
อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเองเงินทุนไหลเข้าช้ากว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากภาวะของการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่างๆ รวมถึงค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
'ก่อนหน้านี้ตลาดเกิดใหม่อื่นๆ มีเงินทุนไหลเข้าไปจำนวนมาก และตลาดหุ้นไทยเองก็ไหลเข้ามาเช่นกัน แต่ยังถือว่าเงินทุนไหลเข้ามาน้อยอยู่ และประเทศไทยเองถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ด้วยปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่เงินทุนจะไหลเข้าต่อเนื่อง และจะเป็นส่วนที่ให้เรายังมีมุมมองเชิงบวกว่าตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นอยู่'
สะท้อนผ่านภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นตาม Sentiment การลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การเมืองภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากความชัดเจนของวันเลือกตั้ง หลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้กลุ่มใดเข้ามาเป็นรัฐบาล และจะสานต่อโครงการต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อย่างไร
ปัจจัยในต่างประเทศนั้น เขาบอกว่า ตอนนี้นักลงทุนได้คลายความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งคาดว่า 6 เดือนแรกปี 2562 จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย จากที่ก่อนหน้านี้มองว่าจะมีการปรับขึ้นราว 2-3 ครั้ง และยังได้ชะลอการดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วย ขณะที่สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและประเทศจีนก็เริ่มคลี่คลายความตึงเครียดลงและเชื่อว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันได้
แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของการทำข้อตกลงการที่อังกฤษจะออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ และเสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง และทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากสุด
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาข้อตกลง Brexit กับ EU ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ , ตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่ม EU ที่คาดออกมาต่ำกว่าคาด และการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อภูมิภาค รวมถึงปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ ที่แม้ว่าสามารถหาข้อตกลงได้บ้างแต่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง
ขณะที่ นักลงทุนสนใจลงทุนใน หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) , หมวดธนาคาร (BANK) และ หมวดพาณิชย์(COMM) มากที่สุด ส่วนหมวดไม่น่าสนใจลงทุนมากสุดคือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA),หวดเหล็ก(STEEL) และหมวดแฟชั่น (FASHION)
'อริยา ติรณะประกิจ' รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย บอกว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เดือนมี.ค 2562 คาดอยู่ที่ระดับ 58 ลดลงอย่างมากจากการสำรวจครั้งก่อนที่ระดับ 94 อยู่ในเกณฑ์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ที่ระดับ 70 ลดลงมากเช่นกันแต่อยู่ในเกณฑ์ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (Increase) จากระดับ 2.53% โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติ และอุปสงค์-อุปทานในตลาดตราสารหนี้
SET INDEX สร้างรีเทิร์นม.ค.กว่า 5%
'ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกในงานสรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์สำหรับเดือนมกราคม 2562 ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) เดือนม.ค.62 ปิดที่ 1,641.73 จุด เพิ่มขึ้น 5% จากสิ้นปี 2561 มูลค่าการซื้อขายพุ่ง 15.5% หลังต่างชาติซื้อสุทธิ 6,581 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มทรัพยากร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มบริการให้ผลตอบแทนมากกว่า SET Index
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความคืบหน้าในการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับความชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้งในไทย
ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 48,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากสิ้นเดือนก่อน จากผู้ลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน โดย Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 14.63 เท่า และ 15.56 เท่าตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.30 เท่า และ 14.84 เท่าตามลำดับ
นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารทุนมากขึ้นโดยเฉพาะกองทุนประเภทไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดทุนไทย โดยภาพรวมของกองทุนรวมหุ้นเดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.5%
สำหรับอัตราเงินปันผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยสิ้นเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 3.17% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียที่อยู่ที่ 2.88% ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai สิ้นเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 17.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จากสิ้นปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของดัชนี ด้านมูลค่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย อยู่ที่ระดับ 4,923 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนมกราคม 2562 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 346,531 สัญญา ลดลง 28.7% จากสิ้นปี 2561 โดยตราสารอนุพันธ์ส่วนใหญ่มีปริมาณการซื้อขายลดลง
'ต่างชาติเริ่มไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากนี้ให้ติดตามสถานการณ์สงครามทางการค้า , นโยบายทางการเงินในตลาดโลก , สภาพคล่องและพื้นฐานเศรษฐกิจในตลาดโลก และการเมืองในแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเม็ดเงินดังกล่าว'