สแตนชาร์ดฯคงจีดีพีปีนี้โต4%ลุ้นการเมืองชัดกลางปี
สแตนชาร์ดฯ คงจีดีพีปีนี้โต4% ลุ้นการเมืองชัดกลางปี มีมาตรการเร่งด่วนดูแลภาคเกษตร เจราการค้าสหรัฐกับจีนทิศทางดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หากไม่เคลียร์ชัดจีดีพีโตแค่3.5% ห่วงส่งออก-ท่องเที่ยว-เงินเฟ้อ ด้านเงินลงทุนต่างชาติยังไหลออก
นายทิม ลีฬหะพันธุ์นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่4% ภายใต้3ปัจจัยจากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนเข้าช่วยเหลือภาคเกษตร ,การเมืองมีความชัดเจนครึ่งปีหลังโดยเลือกนายกได้ปลายเดือนพ.ค.นี้และได้รัฐบาลใหม่ภายในกลางปีและการเจรจาตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนท่าทีผ่อนคลายลงและมีพัฒนาการที่จะเดินหน้าต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามหากไม่เห็นภาพชัดเจนทั้ง3ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้เพียง3.5% ทั้งนี้ธนาคารจะมีการทบทวนประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมหลังจากการเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
“จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้เติบโตที่3.5% ครึ่งหลังของปีนี้ต้องเติบโต4% ขึ้นไปถึงจะเติบโตได้4%ตามคาดโดยการเบิกจ่ายที่เร่งตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมาทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ทำให้การลงทุนภาคเอกชนจะตามมาและการเจรจาการค้าสหรัฐกับจีนต้องมีภาพชัดเจนส่งออกโลกจะปรับตัวดีขึ้นดีต่อส่งออกไทยด้วย”
สำหรับมุมมองต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยในช่วงช่วงไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกยังหดตัว2% และคาดว่าทั้งปีนี้เติบโตได้3-4% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ท้าทายมากที่จะให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวโดยจะต้องมีมูลค่าการส่งออกเติบโตเฉลี่ย22,000ล้านบาทต่อเดือนซึ่งไม่ได้ง่ายแม้ภาพสงครามการค้าจะค่อยๆดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นจากช่วงเดือนพ.ค.ยังเป็นช่วงโลซีซั่น
ขณะที่เงินทุนต่างชาติในปีนี้มองว่ายังเป็นเงินทุนไหลออกโดยตั้งแต่เดือนก.พ.-เม.ย.นี้ เป็นเงินทุนไหลออกทั้งจากตลาดหุ้นไทย10,000ล้านบาทและตลาดบอนด์ไทย30,000-40,000ล้านบาททำให้ในเดือนเม.ย.นี้เงินบาทอ่อนค่าสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคหลังจากในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค
อีกทั้งจากปัจจัยพื้นฐานมองว่าแนวโน้มเงินทุนต่างชาติหลังจากนี้ยังไม่เห็นกระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงรอความชัดเจน ประกอบกับในเดือนพ.ค.นี้เป็นฤดูกาลจ่ายปันผลและช่วงโลซีซั่นของท่องเที่ยวทำให้มองค่าเงินบาทช่วงกลางปีจะยังอ่อนค่าระดับที่33 บาทต่อดอลลาร์และทั้งปีนี้ยังมองบาทอ่อนค่าที่ระดับ33.50บาทต่อดอลลาร์ยังต้องติดตามปัจจัยทิศทางขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ในขณะเดียวกันมุมองต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยนายทิมมองว่าดอกเบี้ยในประเทศยังเป็นทิศทางขาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยธปท. ยังมุ่งแก้ไขดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นรวมถึงสหกรณ์ไม่มีเงินมาคืนสมาชิกอย่างนักเรียนทำให้เปิดเทอมไม่มีเงินไปเรียนจนต้องมีมาตรการออกมาควบคุมดูแลและจำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดปัญหาที่กำลังอาจจะก่อตัวเป็นฟองสบู่อยู่ถ้าเกิดฟองสบู่แตกตอนนั้นอาจจะสายเกินไปที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้การขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย1 ครั้งในช่วงปลายปีอีก0.25% จากดอกเบี้ยปัจุบันที่1.75% เพิ่มเป็น2% แต่ในการประชุมกนง. ในสัปดาห์หน้า(8 พ.ค.) ยังคาดว่าจะยังคงมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ที่1.75% ไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมืองช่วงกลางปีนี้
นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือเงินเฟ้อมองว่าปีนี้อาจจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาด แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีมานี้ถึงปัจจุบันเงินเฟ้อยังต่ำกว่า1% และทั้งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่1.5% จากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นในปีนี้อยู่ที่ระดับ80ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากภัยแล้วทำให้ผลิตสินค้าได้น้อยลง
ทางด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังมีรัฐบาลใหม่นายทิมกล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนหลังจากมีรัฐบาลใหม่ควรเป็นมาตรการที่เข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นการเร่งเบิกจ่ายในส่วนของท้องถิ่นเป็นต้นมากกว่ามาตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ในจังหวะเวลานี้ไม่เหมาะสม
เนื่อจากก่อนหน้านี้ ทุกพรรคมีนโยบายหาเสียงเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำถึง30% หรืออยู่ที่400บาทต่อวันมองว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีมีภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าและเกิดผลประโยชน์ที่ได้รับจริงกับแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าแรงงานไทยที่ผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วอีกทั้งจำเป็นต้องยกระดับทักษะแรงงานด้วยไม่เช่นนั้นเห็นว่าผู้ประกอบการสามารถหันไปใช้หุ่นยนต์ทดแทนจะดีกว่า
“มาตรการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้คงไม่เหมาะสมและไม่น่าจะเกิดขึ้นแต่หากรอให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตภัยแล้งคลี่คลายไปน่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมจะใช้มาตรการขึ้นค่าจ้างนั้นต่ำได้”
อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนไม่ว่าพรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสียงขัดค้านเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นรถไฟรางคู่รถไฟฟ้าถนนยังคงเดินหน้าสานต่อไปและน่าจะเห็นการใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในปี2-3ปีข้างหน้าแต่ต้องจับตาดูการลงทุนอีอีซีว่ายังเดินหน้าต่อหรือไม่และอย่างไรภายใต้รัฐบาลชุดใหม่หลังจากปัจจุบันโครงการลงทุนอีอีซียังไม่มีความคืบหน้าค่อนข้างเงียบหายไป
ขณะที่ในมุมมองทางด้านการเมืองไทยหากรัฐบาลชุดใหม่นำมาโดยพรรคพลังประชารัฐ ได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีพล. อ. ประยุทธ์จันทร์โอชาเป็นนายกฯมองว่าจากการเข้ามามุ่งสานต่อนโยบายเดิมจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้โดยมีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตได้มากกว่า4%ในปีถัดๆไป
แต่หากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนางสุดารัตน์เกยุราพันธุ์หรือนายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจเป็นหัวหน้าพรรคเข้ามาร่วมกันและจัดตั้งรัฐบาลมองว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองและมีเรื่องใหม่ที่อาจเกิดขึ้นที่ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจและมีเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาได้
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในฝั่งการเมืองดังกล่าวถือเป็นความแตกต่างของทั้ง2ฝ่ายที่จะเกิดขึ้นผลบวกโดยฝ่ายหนึ่งจะเกิดผลบวกทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าเงินทุนต่างชาติขณะที่อีกฝ่ายจะเกิดผลบวกจากการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและอาจเกิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้กลายเป็นที่สนใจขอบนักลงทุนต่างชาติที่รอดูแต่ยังไม่แน่ในว่าจะมีผลบวดต่อเศรษฐกิจหรือไม่”