คนร.ยื่นเงื่อนไขรับหนี้ ขสมก.แสนล้าน
คนร. ยื่นเงื่อนไขรับหนี้ 1.18 แสนล้านจาก ขสมก.หากสามารถทำผลการดำเนินการเป็นบวกได้ภายในปี 66 ชี้หนี้สาธารณะไม่เพิ่มแต่ ขสมก.ประหยัดดอกเบี้ยกู้ได้ปีละ 3 พันล้าน
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ว่าที่ประชุมฯได้พิจารณาแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งได้รายงานความคืบหน้าตามแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินขององค์กรซึ่งเมื่อเริ่มมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาพบว่าผลการดำเนินการเริ่มเป็นบวกได้ โดยเมื่อรวมกับแผนการการปรับโครงสร้างองค์กรและบุคลากรใหม่ การปรับปรุงเส้นทางเดินรถใหม่ การพัฒนาระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งได้นำน้ำมันไบโอดีเซล B20 มาใช้กับรถทั้งหมดแล้ว เพื่อลดมลพิษในกรุงเทพฯโดย คนร. ได้รับทราบแผนฟื้นฟูกิจการและให้ ขสมก. นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปส่วนรายละเอียดของแผนฟื้นฟูให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. พิจารณาจัดทำดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ขสมก. เช่น การจัดหารถโดยสาร การจัดการพนักงาน และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯพิจารณาว่าในส่วนของภาระหนี้สินคงค้างที่ ขสมก.มีอยู่ประมาณ 1.18 แสนล้านบาทในปัจจุบัน หาก ขสมก. สามารถดำเนินการให้มีผลการดำเนินการที่ดีมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เป็นบวกได้ภายในปี 2566 กระทรวงการคลังจะรับหนี้คงค้างจำนวนดังกล่าวมาบริหารซึ่งจะช่วยให้ ขสมก.ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ลงไปได้ปีละประมาณ 3 พันล้านบาท
“การยกหนี้ให้กับ ขสมก.โดยกระทรวงการคลังยกหนี้ส่วนนี้มาบริหารอยู่บนเงื่อนไขว่า ขสมก.ต้องมีผลการดำเนินการที่เป็นบวกภายในปี 2566 มีแผนการฟื้นฟูองค์กร ปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ยกระดับการให้บริการ และปรับลดพนักงานลงตามแผน อย่างไรก็ตามการรับหนี้ของ ขสมก.มาก็ไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเนื่องจากหนี้ของ ขสมก.ที่กู้มากระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันให้อยู่แล้ว” นางปานทิพย์กล่าว