ทัวร์ซิลิคอนวัลเลย์รอบที่สอง กับภาพโฟกัส ‘สิงห์ เวนเจอร์ส’
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่ามีหลายต่อหลายบริษัทประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพโดยการเปิดตัว Corporate Venture Capital (CVC )
ขณะที่ทางฝั่ง Venture Capital (VC) เองก็มีการขยายตัวเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองสำหรับสตาร์ทอัพเลยก็ว่าได้ แต่โดยปริยายการแข่งขันระหว่างซีวีซีด้วยกันและกับวีซี ย่อมมีเพิ่มขึ้น
"เราเองก็มีการปรับตัว ต้องชัดขึ้นในแง่ที่ว่าตรงไหนที่เป็นโฟกัสของเราจริงๆ ซึ่งตอนแรก ๆ เราอาจต้องตีสโคปให้กว้างไว้ก่อน เพราะอยากดูว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนในโลกบ้าง ที่ผ่านมาเราก็เคยไปดูแม้กระทั่งธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจของเรา รวมถึงยังเคยมองถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพระดับซีดด้วย แต่สุดท้ายได้เห็นว่าที่เราจะสามารถแอดแวลลูได้จริงๆต้องเป็นระดับซีรีส์เอเป็นต้นไป เราค่อย ๆตีวงให้แคบลง โดยการโฟกัสในส่วนที่เป็นจุดแข็งของเราจริง ๆ"
อย่างไรก็ดี “วรภัทร ชวนะนิกุล” กรรมการผู้จัดการ สิงห์ เวนเจอร์ส (Singha Ventures) มองว่า ธุรกิจนี้อาจต่างไปไม่ได้มุ่งแข่งขันเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ แม้จำนวนซีวีซีและวีซีจะเพิ่มขึ้นมากแต่ก็มี “ข้อดี” เพราะมันหมายถึงจำนวน “เน็ทเวิร์ค” ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ธุรกิจยิ่งขยายไปได้ดียิ่งขึ้น
เขาบอกว่า สิงห์ เวนเจอร์สเปรียบเสมือน “เป็นหูเป็นตา” ให้กับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ หรือสิงห์ คอร์ปอเรชั่น มีหน้าที่ดูแลมองหาธุรกิจใหม่ๆ มองหาโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ กระทั่งโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อทำให้องค์กรก้าวทันและสามารถเติบโตต่อได้ในโลกยุคดิสรับ
ล่าสุดวรภัทรเพิ่งกลับมาจาก “ซิลิคอนวัลเลย์” (เป็นครั้งที่สอง) และเปิดเผยว่า เทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่สิงห์ เวนเจอร์ส ไปมองหาในครั้งนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 3 แกนหลัก ๆ ก็คือ 1.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อะไรคือเทรนด์ใหม่ ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น 2.คอนซูมเมอร์ เทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เร็วได้ดียิ่งขึ้น และ 3. ตั้งโจทย์ไว้กว้าง ๆว่าเป็นธุรกิจอะไรก็ได้ที่อาจจะเปลี่ยนโลกอนาคต โดยสรุปเป็นการไปมองหาทั้งโอกาสการลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อนำเอามาใช้ต่อยอด สร้างการเติบโตและขยายธุรกิจไปในเซาท์อีสต์เอเซีย
"ที่จริงเราโฟกัสจะมองหาโอกาสธุรกิจในเซาท์อีสต์เอเซียเป็นหลักก่อน เพราะถือว่าตรงนี้เป็นฐานและเมืองไทยก็เป็นบ้านของเรา แต่ในแง่ของเทคโนโลยีนั้น เราคงดูแค่ภายในเซาท์อีสต์เอเซียไม่ได้ ต้องบอกว่าก่อนจะไปอเมริกาเราก็มีไปดูที่อิสราเอลมาด้วย และการไปอเมริกาครั้งนี้เราต้องการไปดูโอกาสธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปถึงจุดไหนแล้ว โดยเฉพาะดีฟเทค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างแอดวานซ์และทางอเมริกาเองก็ค่อนข้างไปไกลพอสมควร"
ถามว่าในครั้งนี้ สิงห์ เวนเจอร์ส ได้อะไรติดไม้ติดมือมาบ้าง? เริ่มจากกลุ่มอาหารและเครื่่องดื่ม ซึ่งภาพรวมเรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย อาหารไทยได้รับการยอมรับและสามารถส่งออกไปทั่วโลก สิงห์ เวนเจอร์ส จึงมองว่าเป็นโอกาสสำคัญ และได้ไปดูเทคโนโลยีต่าง ๆว่ามีอะไรที่จะมาช่วยเสริม เติมแต่งธุรกิจเดิมที่มี ช่วยสร้างแวลลูให้กับธุรกิจอาหารไทยได้เพิ่มขึ้นอีก ที่เขาเห็นชัดก็คือเทรนด์ที่ว่าด้วย “ความยั่งยืน” เป็นการพัฒนาเพื่อการบริโภคที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น วรภัทรบอกว่าครั้งนี้มีไปพูดคุยกับธุรกิจหลายเจ้า มีรายหนึ่งที่ทำเทคโนโลยีช่วยในการผลิตเครื่องดื่มให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้่นแต่ออกตัวว่าไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้
ส่วนเรื่องคอนซูมเมอร์ที่เขามองว่ามีความน่าสนใจและทำให้ฉุกคิด ก็คือธุรกิจที่ฝั่งอเมริกา “คิดย้อนศร” หมายถึงไม่ได้พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ทางกลับกันคือเขาไปมองหาเพนหรือปัญหาในธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้ว มีความมั่นคงอยู่ก่อนแล้ว (Establish) เช่น ธุรกิจยาสีฟัน ที่โกนหนวด หรือเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ที่ดูเหมือนว่าจะห่างไกลจากความเป็นสตาร์ทอัพอยู่มากเลยทีเดียว
"ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเก่าด้วยซ้ำ แต่กลับมีสตาร์ทอัพที่อเมริกาคิดธุรกิจขึ้นมาและทำได้ดีด้วย สิ่งที่เขามองก็คือ ในแง่ของตลาดมันยังมีแก็บอยู่ ยกตัวอย่างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเดิมก็มีทั้งระดับราคาที่เป็นไฮเอนด์และย่อมเยา แต่ก็ยังขาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพดีแต่ราคาเอื้อมถึงได้อยู่ ซึ่งพฤติกรรมคนอเมริกันส่วนใหญ่เขาจะย้ายบ้านกันบ่อยๆ ก็เลยมีสตาร์ทอัพที่ทำเฟอร์นิเจอร์ที่ประกอบง่ายและถอดง่าย คือถอดเสร็จก็ใส่กล่องได้เหมือนเดิม ทำให้สะดวกต่อการขนย้าย ธุรกิจไม่ได้แปลกใหม่แต่เพราะรู้ว่ามีความต้องการตรงจุดนี้ เขาเลยเข้าไปตรงจุดนี้ สร้างชื่อเสียงตรงจุดนี้"
มองว่าเวลานี้สตาร์ทอัพไทยมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน? เขาบอกว่าภาพส่วนใหญ่ที่มองเห็นมักเป็นธุรกิจเกี่ยวกับคอนซูมเมอร์เบส ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สิงห์ เวนเจอร์สมองหาเช่นเดียวกัน และเวลานี้มีพูดคุยกับหลายบริษัทเพื่อหาโอกาสในแง่ของการไปร่วมลงทุนกันอยู่
"เรามองว่าตลาดเมืองไทยก็มีโอกาสเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้คนไทยซื้อของออนไลน์กันเยอะมาก เรามีโซเชียลคอมเมิร์ซเยอะ ซื้อของตามอินสตราแกรม เฟสบุ๊ค ผมว่าการซื้อของออนไลน์กลายเป็นอะไรที่คนไทยชินแล้ว ตลาดนี้โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะทำอย่างไรที่จะนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆมาใช้ต่อยอดอีก เราไม่ได้มุ่งเอไอหรือทำบล็อกเชนอย่างเดียว ในเวลาเดียวกันเราก็มองหาโอกาสธุรกิจต่าง ๆเพราะตลาดไทยเด่นในเรื่องคอนซูมเมอร์ด้วยจำนวนประชากร 70 ล้านคน"
เขากล่าวต่อถึงเป้าหมายของ สิงห์ เวนเจอร์สในปีนี้ ว่าต้องการลงทุนในสตาร์ทอัพแบบไดเร็คให้ได้ 6-8 ราย ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จได้ตามเป้า หมายถึงการได้มาทั้งโอกาสทางธุรกิจ การส่งให้สตาร์ทอัพโตอย่างก้าวกระโดดได้ก้าวสู่ฝั่งฝันถึงระดับยูนิคอร์น รวมถึงเรื่องของรีเทิร์นที่จะกลับคืนมา ทั้งได้แย้มว่าอาจจะมีข่าวบางอย่างเกิดขึ้นในเร็ว ๆนี้
"ทุก ๆบริษัทที่เราลงทุนไป ก็คงไม่ใช่เป็นการลงทุนเพื่อที่จะไม่ได้รับเงินคืน แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำกำไรได้มหาศาล อย่างน้อยก็ต้องมีรีเทิร์นที่นำไปคืนให้กับผู้ถือหุ้น เรามองว่านอกเหนือจากโอกาสทางธุรกิจแล้วเรื่องรีเทิร์นก็ต้องมีด้วย ดีที่สุดก็ต้องมาอย่างละเท่า ๆกันคืออย่างละครึ่งๆ การบริหารพอร์ตของเราจะมองยาว 7-10 ปีถึงจะได้คืน แต่บางทีก็มองสั้นหลายบริษัทที่เราลงเพราะมองว่าภายใน 2-3 ปีน่าจะมีการเอ็กซิท เราก็จะพยายามบาลานซ์ชอทเทอมรีเทิร์นกับลองเทอมรีเทิร์น แต่ทุกอย่างจะเป็นไปตามแพลนเลยก็คงไม่ใช่ เพราะสตาร์ทอัพก็จะมีทั้งที่เวิร์คและไม่เวิร์ค แต่สำหรับผมไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือการลงทุนมันต้องซัสเทนได้"
ในการทำงานย่อมมีความท้าทาย แต่วรภัทร บอกว่าตัวเขาเองเป็นคนที่ชื่นชอบการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นทุนเดิม เลยทำให้ทำงานทุกวันเป็นเรื่องสนุก นอกจากนี้เขามองว่าตัวเองค่อนข้างโชคดีที่ผู้บริหารของบริษัทให้การซัพพอร์ต โดยเฉพาะ"คุณภูริต ภิรมย์ภักดี" ต้องการไดร์ฟสิงห์ เวนเจอร์สอย่างเต็มที่