อาเซียนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับสองของจีน

อาเซียนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับสองของจีน

อาเซียนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับสองของจีน

โดย Xu Ningning

จากข้อมูลสถิติล่าสุดของกรมศุลกากรจีน มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ในเดือนพฤษภาคม 2562 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนได้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่ามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้อาเซียนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของจีน (รองจากสหภาพยุโรป)

 

ศักยภาพของการค้าจีน-อาเซียน

ผู้นำและรัฐบาลของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการปกป้องทางการค้าและการผูกขาดฝ่ายเดียวในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน โดยเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายควรใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านการค้าด้วยการยกระดับพื้นที่การค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) รวมถึงขยายขอบเขตการค้า เพิ่มปัจจัยการผลิตในภูมิภาค ส่งเสริมการจัดสรรพื้นที่อุตสาหกรรม พัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า และส่งเสริมการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมในภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายควรจะปรับปรุงนโยบายและใช้มาตรการที่เป็นการส่งเสริมการค้า พัฒนาการเชื่อมต่อของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางยกระดับ ทางรถไฟ และเส้นทางสัญจรทางน้ำ ส่งเสริมการคมนาคมภายในภูมิภาคให้มีความสะดวกและได้มาตรฐาน สร้างมาตรการที่เอื้อประโยชน์ทางการค้าแก่วิสาหกิจต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนและชุบชีวิตภาคอุตสาหกรรมผ่านช่องทางการค้า

จีนและอาเซียนจะต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2562 โดยในกระบวนการเจรจา RCEP นั้น หอการค้าและสมาคมธุรกิจในประเทศที่เป็นสมาชิกควรจะมีการปฏิสัมพัทธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน เพื่อสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมความร่วมมือ แทนที่จะสร้างกำแพงเพื่อจำกัดด้านการค้าและเศรษฐกิจ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของการลงทุนของจีนในอาเซียน

วิสาหกิจของจีนได้เพิ่มปริมาณการลงทุนในอาเซียนเพราะเหตุผลหลายประการ

ประการแรก การย้ายอุตสาหกรรมนั้นสอดคล้องกับกฎการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศในอาเซียนหลายแห่งดึงดูดนักลงทุนด้วยค่าแรงที่ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ให้อุตสาหกรรมเติบโตได้มาก มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม และมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน

ประการที่สอง จากการที่ประเทศจีนมีการปฏิรูปและเปิดประเทศ ทำให้วิสาหกิจของจีนจำนวนมากมีความพร้อมที่จะแข่งขันในระดับโลก

ประการที่สาม จีนมีความความสัมพันธ์อันดีกับอาเซียน ดังจะเห็นจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งได้สร้างโอกาสทางธุรกิจมากมายให้กับทั้งสองฝ่ายผ่านความร่วมมือทวีภาคี จากรายงานโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางประจำปี 2561 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของจีน พบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนถึงห้าประเทศถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของดัชนีความร่วมมือกับจีน

ประการที่สี่ การคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีความสะดวกสูง ทุกๆ สัปดาห์จะมีเที่ยวบินมากกว่า 3,800 เที่ยว เดินทางไปกลับระหว่างเมืองในประเทศจีนและอาเซียน

ประการที่ห้า เศรษฐกิจอาเซียนยังคงเติบโตต่อเนื่องและสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความมั่นคง จากเป้าหมายในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงการสนับสนุนและความร่วมมือจากนานาประเทศ ทำให้อาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2573 ในการประชุมผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีนี้ คาดว่าจะมีการนำแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการประชุมผู้นำอาเซียน มาใช้ในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

หุ้นส่วนทางด้านวิสาหกิจและนวัตกรรม

ในฐานะผู้บริหารของสภาธุรกิจจีน-อาเซียน (CABC) ข้าพเจ้าได้ติดต่อสื่อสารกับประชาคมธุรกิจในอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 30 ปี เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการลงทุนของจีนในอาเซียนในช่วงปีหลังๆ ข้าพเจ้ามีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการจีนที่ต้องการจะลงทุนในอาเซียน ดังนี้

 

  1. จงเปิดกว้าง สร้างสรรค์ และยืดหยุ่นเมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ในอาเซียนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้และของโลก จะต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้ทันการณ์และเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ๆ ก่อนจะลงทุนในอาเซียน บริษัทต่างๆ ควรทำวิจัยการตลาดและศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงเลือกหุ้นส่วนระดับท้องถิ่นที่เหมาะสมและควบคุมความเสี่ยงในการลงทุน

  2. ประเทศในอาเซียนแต่ละประเทศมีสภาวะแตกต่างกัน นักลงทุนจีนควรจะศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น โครงสร้างและนโยบายด้านอุตสาหกรรม ด้านภาษี ด้านการเงิน ด้านที่ดิน ด้านการจ้างงาน ระดับของค่าแรง คุณภาพของแรงงาน ค่าเช่าโรงงาน สภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพทางการตลาด และอื่นๆ นอกจากนี้ยังควรศึกษาด้วยว่าประเทศนั้นๆ ได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านการค้าจากประเทศพัฒนาแล้วใดบ้าง มีความสัมพันธ์ด้านเขตการค้าเสรีกับประเทศใดบ้าง รวมถึงมีความสัมพันธ์และมติมหาชนเกี่ยวกับประเทศจีนอย่างไรบ้าง

  3. ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และสร้างชื่อเสียงในด้านคุณภาพและบริการ ประการแรก นักลงทุนจีนควรจะใช้หลัก “ความบริสุทธิ์ใจ” เป็นมาตรฐานและให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง ประการที่สอง ควรพยายามส่งแรงงานจีนออกไปทำงานต่างประเทศโดยปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดฝึกอบรมแรงงานและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทของจีน ประการที่สาม บริษัทจีนที่อยู่ในต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนธิสัญญานานาชาติ มาตรฐานอุตสาหกรรม แนวทางดำเนินธุรกิจ และมาตรฐานด้านศีลธรรม กล่าวโดยสรุปคือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบในต่างประเทศควรจะเป็นหัวใจหลักและวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายต้องยึดมั่น

  4. ในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจต่างประเทศ นักลงทุนจีนจำเป็นจะต้องพัฒนาด้านความร่วมมือกับต่างชาติ ประการแรก หลีกเลี่ยงการลอกแบบรูปแบบธุรกิจและประสบการณ์จากในประเทศจีน แต่ให้ปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะของประเทศและตลาดนั้นๆ ประการที่สอง ให้ฝึกฝนและจ้างแรงงานในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจาก “บริษัทต่างชาติ” มาเป็น “บริษัทท้องถิ่น” นอกจากนี้ ยังควรซื้อวัตถุดิบจากตลาดท้องถิ่นและผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นด้วย ประการที่สาม “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” หมายถึงผู้มาเยือนจะต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมกัน โดยรักษาความสัมพันธ์กับผู้ถือผลประโยชน์ร่วมในระดับท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เช่น รัฐบาล ประชาชน ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน และสื่อมวลชน ผู้มาเยือนจะต้องทำให้คนในท้องถิ่นได้รับความสะดวกสบายผ่านทางคำพูดและการกระทำ

  5. ติดต่อกับสมาคมธุรกิจจีนในท้องถิ่นเป็นประจำ สมาคมเหล่านี้จะมีเส้นสายทางธุรกิจ ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นแนวทางให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ในการปรับตัวให้เข้ากับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศอาเซียน โดยทั่วไปแล้วนิคมอุตสาหกรรมจะมี “แพคเกจบริการครบวงจร” สำหรับนักลงทุนใหม่ ซึ่งจะช่วยชดเชยการขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่

ภายใน CABC เองก็มีสมาคมธุรกิจระดับชาติของจีนอยู่มากกว่า 50 สมาคม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ CABC ได้ทำการสำรวจสมาคมธุรกิจจีนและพบว่า สมาคมธุรกิจส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือวิสาหกิจจีนในการขยายกิจการสู่ต่างประเทศ และบางสมาคมได้จัดทำแผนความร่วมมือระดับนานาชาติแล้วด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลายสมาคมที่ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน อย่างไรก็ดี หากโครงการดังกล่าวไม่ได้จัดทำในเชิงลึก สมาคมก็จะไม่สามารถให้คำแนะนำหรือบริการที่ดีแก่ธุรกิจจีนในประเทศอาเซียนได้

สถานการณ์ธุรกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและผันผวน นักลงทุนจีนในอาเซียนจะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรจะเร่งหาหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติ

เกี่ยวกับผู้แต่ง: Xu Ningning ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายบริหาร สภาธุรกิจจีน-อาเซียน (CABC)