ยอดใช้สิทธิพิเศษการค้าส่งออก 5 เดือนทะลุ 3 หมื่นล้านดอลลาร์
"พาณิชย์" ระบุยอดใช้สิทธิเอฟทีเอและจีเอสพี 5 เดือนปี 62 มีมูลค่า 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.76% อาเซียนยังคงนำโด่งมีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอที) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(จีเอสพี) ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.)มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ79.23% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมดแยกเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอนวน 12 ฉบับ(ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง) คิดเป็นมูลค่า 2.85 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น1.75% คิดเป็น 80.40%ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลงและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพีจำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่า 2,165.25 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.25%มีอัตราการใช้สิทธิ 66.43% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพี
ด้านการใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออก พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียนมูลค่า 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์ จีน มูลค่า 7,947.08 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย มูลค่า3,473.94 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,238.11 ล้านดอลลาร์ และ 5.อินเดีย มูลค่า1,956.82 ล้านดอลลาร์ ส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพี พบว่าสหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิทั้งหมดมีมูลค่า 1,987.73 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.86% มีอัตราการใช้สิทธิ 74.85%ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆเลนส์แว่นตา และแว่นตาอื่นๆ
นายอดุลย์ กล่าวว่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือน ที่มีมูลค่ารวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 37.85% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ตั้งไว้ที่ 81,025ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยต้องจับตาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวรวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้นเพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562แต่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการใช้สิทธิอย่างเต็มที่ ทั้งกรอบ เอฟทีเอและจีเอสพี
"ตลาดที่กรมฯ มองว่ามีโอกาสสูง คือ จีนที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้โดยปัจจุบันมีการขอใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน มูลค่า 7,947.08 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.73% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิสูงถึง98.73% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ มีสินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุด คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้ ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดและมะม่วง ลำไย และมะพร้าว(ทั้งกะลา) และยังมีสินค้าเกษตรอื่น เช่น เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็งและกุ้งแช่แข็ง ตามลำดับ"
อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นจนกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน กรมฯมีพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ที่จะใช้ดูแลโดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมฯ พิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวได้รวมทั้งได้เฝ้าระวังและติดตามการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยโดยมีการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออกC/O ทั่วไปพร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบเตือนภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย