ทีเส็บเร่งยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไมซ์ ปั้นคนไมซ์ไทยสู่มาตรฐานโลก

ทีเส็บเร่งยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไมซ์ ปั้นคนไมซ์ไทยสู่มาตรฐานโลก

ทีเส็บ ร่วมกับหน่วยงานภาคีจัดโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพด้านไมซ์ยกแผง ตั้งแต่มาตรฐานฝีมือแรงงานช่างไฟฟ้าจนถึงระดับบริหารจัดการงานไมซ์ด้วยมาตรฐานสากล รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามโมเดลประเทศไทย 4.0

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศด้วยโมเดล “ประเทศไทย 4.0” มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่พึ่งพาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) ของไทยที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของชาติ


“ในปัจจุบัน โลกให้ความสนใจกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีคนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา อีกทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศสมาชิก ทีเส็บเห็นโอกาสและความจำเป็นในการพัฒนากำลังคนด้านไมซ์ให้มีความรู้และทักษะที่สามารถประกอบอาชีพได้ตรงตามความต้องการของธุรกิจและมีมาตรฐานนานาชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลเพื่อความยั่งยืนของไมซ์ไทย”


ทีเส็บวางแผนการพัฒนาบุคลากรไมซ์ภายใต้มาตรฐานอาชีพแบ่งเป็น 2 ระดับทั้งในประเทศและนานาชาติ สำหรับการสร้างมาตรฐานอาชีพในระดับประเทศ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และสาขาช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นชอบประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าสาหรับอุตสาหกรรมการจัดงานประชุม การเดินทาง เพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า (MICE : Meetings Incentives Conventions Exhibitions) และไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสำหรับบุคลากรวิชาชีพไมซ์ โดยเริ่มต้นจากมาตรฐานสาขาช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์เป็นสาขาแรก


การเปิดโอกาสให้แรงงานฝีมือไทยได้รับการยอมรับและสร้างมาตรฐานการทำงานบุคลากรวิชาชีพไมซ์ระดับนานาชาติจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากปัจจุบันการเปิดการค้าเสรีทำให้ต่างชาติเข้ามาจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยมากขึ้นและมักจะนำผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาดำเนินการด้วย ทำให้มีรายได้เข้าประเทศเฉพาะค่าพื้นที่และค่าที่พัก แต่ต้องเสียรายได้ส่วนอื่นไป เช่น ค่าแรงงาน ค่าออกแบบก่อสร้างและตกแต่งบูธ การจัดการระบบไฟฟ้าต่างๆ อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการไมซ์ของไทยเสียโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในการจัดงานระดับสากล

CEM 23 group

ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า นอกจากมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทีเส็บมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับมาตรฐานการศึกษาภายใต้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติด้วย โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทีเส็บร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และสนับสนุนให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อความพร้อมของบุคคลากรด้านไมซ์


พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับสมาคมด้านไมซ์ อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน และสมาคมการแสดงสินค้าไทย พัฒนาหลักสูตรภาษาไทยในระดับชาติขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคให้พร้อมก้าวเข้าสู่สากล อาทิ หลักสูตรการจัดการการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลอย่างมืออาชีพ (Thailand Incentive Travel Professional -TITP) หลักสูตรการจัด อีเวนท์อย่างมืออาชีพ (Event Professional) และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกสองหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดงานแสดงสินค้าอย่างมืออาชีพและหลักสูตรการจัดงานประชุมอย่างมืออาชีพ


ในส่วนของการพัฒนามาตรฐานอาชีพระดับนานาชาติ ทีเส็บได้มีการนำเข้าหลักสูตรรับรองระดับนานาชาติภายใต้ลิขสิทธิ์ของสมาคมด้านไมซ์ระดับสากล เช่น หลักสูตรรับรองมืออาชีพด้านการจัดงานแสดงสินค้า (Certified in Exhibition Management) ภายใต้ลิขสิทธิ์และการรับรองของสมาคม International Association of Exhibitions and Events – IAEE ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองแล้วกว่า 147 ราย สูงสุดเป็นลำดับที่ 1 ของอาเซียนและลำดับที่ 3 ของเอเชีย


หลักสูตรรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ภายใต้ลิขสิทธิ์และการรับรองของสมาคม Society of Incentive Travel Excellence –SITE ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองแล้วกว่า 138 ราย สูงสุดเป็นลำดับที่ 1 ของเอเชีย และการจัดหลักสูตรภายใต้การรับรองของสมาพันธ์สมาคม Events Industry Council – EIC ประกอบด้วยหลักสูตรรับรองมืออาชีพด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainability Event Professional) จำนวน 126 คน มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และหลักสูตรรับรองมืออาชีพด้านการจัดงานประชุม (Certified Meeting Professional) ภายใต้หลักสูตรลิขสิทธิ์ของสมาคม Meeting Professionals International – MPI ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับการรับรองแล้วกว่า 13 ราย
“การร่วมมือกับหน่วยงานภาคีดังกล่าวในการจัดโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพด้านไมซ์ในทุกระดับที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยก้าวไกลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย