บอร์ดร่วมคลัง-แบงก์ชาติ... ‘อิสระ’ อยู่บนความเคารพ
มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ความเป็น “อิสระ” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะหายไปหรือไม่
หลังจาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์2” ประกาศตั้ง “คณะกรรมการการเงินการคลัง” ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานกำกับหลายๆ หน่วยงาน
คณะทำงานร่วมที่ว่านี้ ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ส่วนกรรมการมี 4 คน ประกอบด้วย “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “ทศพร สิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ “นโยบายการเงิน” และ “นโยบายการคลัง” เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อยของ ธปท. ...การตั้งบอร์ดร่วมดังกล่าว จึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธปท. กำลังถูก “ลิดรอน” ความเป็น “อิสระ” ในการทำนโยบายการเงินหรือไม่
ทีมข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นเรื่องนี้จาก “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธปท. ซึ่งการทำงานของ ธปท. ในยุค “ประสาร” ถือเป็นยุคหนึ่งที่ ธปท. ถูกรัฐบาล(ในขณะนั้น)กดดันและพยายามแทรกแซงการทำงานอย่างหนัก ทั้งความพยายามที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้และการบีบให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย
“ประสาร” บอกกับกรุงเทพธุรกิจว่า ได้อ่านข่าวดังกล่าว แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดหรือ blueprint ของเรื่องนี้ ดังนั้นการจะบอกว่า คณะทำงานชุดนี้ จะทำให้ ธปท. สูญเสียความเป็นอิสรภาพในการทำนโยบายการเงินหรือไม่ คงต้องขึ้นกับ “อำนาจ” ของคณะกรรมการชุดที่กำลังจัดตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยว่าเป็นอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตาม “ประสาร” ยอมรับว่า เรื่องการดูแลเศรษฐกิจต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลาย เครื่องมือที่ ธปท. มีถือว่า “ไม่พอ”
“เครื่องมือดูแลเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ที่ รมว.คลัง จะว่าไปแล้วเครื่องมือที่ ธปท. มีตามกฎหมาย จริงๆ ถือว่าน้อย ที่กฎหมายให้มีเพียงนโยบายดอกเบี้ย มีหลายอย่างที่เป็นอำนาจของ รมว.คลัง แต่เขามอบให้ ธปท. ดำเนินการ เช่น การกำกับดูแลสถาบันการเงิน จึงเห็นชัดว่า อำนาจจริงๆ อยู่ที่ รมว.คลัง แต่มอบให้ ธปท. ดูแล การจะทำอะไรสุดท้ายก็ต้องไปขอคลัง”
ประสาร บอกว่า แม้แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เอาเข้าจริง หลายเรื่องอยู่ในอำนาจของ รมว.คลัง ไม่ได้อยู่ที่ ธปท. ในอดีตช่วงที่เราใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ตอนนั้นก็มีการตั้ง “ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา” สมัยนั้นประธาน คือ รมว.คลัง และ รมว.พาณิชย์ แต่ก็มอบให้ ธปท. เป็นผู้จัดการดูแล เพราะการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ส่วนเรื่องการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่เคยพูดกันมานานแล้วว่า ควรต้องมี “คณะทำงาน” ที่คอยประสานงานกัน เพราะระยะหลังเราออกแบบหน่วยงานที่กระจายความรับผิดชอบ เช่น ธปท. ก.ล.ต. คปภ. และ กระทรวงการคลัง
ประสาร บอกว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานเหล่านี้ก็เคยพูดกันเสมอว่า ควรมีหน่วยงานที่เรียกว่าเป็น “Coordinator”(ผู้ประสานงาน) ขึ้นมาทำงานร่วมกัน
"คำว่า Coordinator ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าไป “แทรกแซง” การทำงานของอีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ทำหน้าที่ในลักษณะมอบหมายงานว่า เรื่องนี้หน่วยงานไหนควรทำ หรือใครคิดอะไรอยู่ก็เอามาแชร์กัน เพียงแต่ตอน execute(ดำเนินการ) หรือตอนพูดจามักไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ค่อยเคารพ(respect) กัน ที่ผ่านมาก็เลยยุ่งๆ ถ้า respect กันก็ไม่มีปัญหา เพราะต่างคนต่างถนัดในแต่ละด้าน มีข้อมูลในแต่ละด้าน ก็เอามาแชร์กัน"
ประสาร ย้ำว่า การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการชุดดังกล่าว สิ่งสำคัญอยู่ที่ “การพูดจา” บางครั้งการเมืองพูดออกมาแล้วทำให้สังคมเข้าใจผิด คิดว่ากำลังไปแทรกแซงการทำงาน ที่ผ่านมาโดยส่วนตัวพูดหลายครั้งว่า คำว่า “อิสระ” อย่าใช้จนเกินเลย เพราะเอาเข้าจริง เครื่องมือต่างๆ ต้องใช้ผสมผสาน อย่างช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนหนักๆ ก็อาจต้องอาศัยเครื่องมือภาษี ซึ่งพวกนี้ต้องไปขอ รมว.คลัง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก
“บอร์ดชุดที่จะตั้งขึ้นนี้ อย่างน้อยถือเป็น Consultation(การหารือ) อันไหนที่กฎหมายให้อำนาจ กนง. ก็อย่าไปยุ่งกับเขา ซึ่งเขาวางรากฐานเอาไว้แล้ว และแต่ละคนก็มีสปิริต ก็ควร respect ไม่ควรไปพูดหรือกระทำอะไรที่ดูเป็นการแทรกแซง ซึ่งทาง ธปท. เขาก็เข้าใจดีว่า มีอีกหลายเครื่องมือที่เขาไม่มี”
ส่วนคำถามที่ว่าการตั้ง “บอร์ด” ลักษณะนี้จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในระยะข้างหน้ามีคำถามเรื่องการโดนแทรกแซงจนนำไปสู่การขาดความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายหรือไม่นั้น “ประสาร” บอกว่า ในสหรัฐมียุคหนึ่งที่ รมว.คลัง และ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) กินข้าวเช้าด้วยกันทุกสัปดาห์ แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระของเฟด นั่นเพราะ รมว.คลัง เขาไม่เคยพูดในที่สาธารณะโดยไปข่มเหงเฟด และงานเขาก็เดินได้ดีด้วย
“รุ่นผมอยู่นี่ยุ่งพอสมควร เพราะมีการไปให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า ได้ส่งจดหมายขอให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่กฎหมายเราบอกให้ กนง. 7 คน เป็นผู้ตัดสินใจในนโยบายการเงิน แต่คลังมาบอกว่าได้ส่งจดหมายมาขอให้ลดดอกเบี้ย แบบนี้ก็เสียทั้ง 2 ฝ่าย”
ประสาร ย้ำว่า การดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย และไม่จำเป็นต้องพูดอยู่เรื่องเดียวว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เพราะพูดไปก็มีแต่ผลเสีย
ส่วนนโยบายการเงินในปัจจุบันนั้น “ประสาร” มองว่า กระสุนเหลือน้อยมาก ถ้าดอกเบี้ยจะลดไปมากกว่านี้ ก็มีคำถามว่า แล้วสถาบันการเงินจะส่งผ่านหรือไม่ เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินมีต้นทุนที่ต้องจ่ายประจำอยู่ คือ ค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากที่ 0.47% และยังต้องมีต้นทุนในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง(Reserve Requirements) อีก
“ปัญหาคือ ดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผ่านได้หรือไม่ เพราะดอกเบี้ยนโยบายคนส่วนใหญ่ไม่ได้สัมผัส เขาสัมผัสกับดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก จึงอยู่ที่ว่าจะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเหล่านี้ได้หรือไม่”
ประสาร บอกด้วยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในคราวนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ซึ่งโมเมนตัมไม่ดี โดยเฉพาะจีนถือเป็นประเทศใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจเขาชะลอตัว จึงกระทบต่อประเทศอื่นๆ ผลกระทบเหล่านี้คงอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร ซึ่งเวลานี้ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย