‘กสิกร-กรุงไทย’ยันไม่ลดสำรองส่วนเงิน
2แบงก์ใหญ่ "กสิกร-กรุงไทย"ยืนยันไม่นำเงินสำรองส่วนเกิน ตีกลับเป็นกำไร แม้มาตรฐานบัญชีใหม่ “TFRS9”ที่ธปท.นำมาปรับใช้ในปี63 จะเปิดช่อง เน้นทำธุรกิจอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจใน2-3ปีข้างหน้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทย หรือ “TFRS9” โดยหนึ่งในเกณฑ์สำคัญคือ การเปิดให้ธนาคารนำเงินสำรองส่วนเกินที่จำนวนมากตีกลับมาเป็นกำไรของธนาคารได้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(KTB) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่คิดที่จะเอาเงินสำรองเกินกลับมาเป็นกำไร เนื่องจากต้องคิดเผื่อให้มีความยืดหยุ่น เพราะโมเดลการตั้งรอง ไม่มีใครสำรองได้ถูก 100% ดังนั้นธนาคารต้องใช้หลักการระมัดระวังต่อไปดีกว่า ดังนั้นนโยบายการตั้งสำรองในเซกเม้นท์ต่างๆ น่าจะคงเดิม นอกจากนี้หากดูงบการเงินของกรุงไทย มีการหมายเหตุ เรื่องสินทรัพย์รอการขาย(NPA)ค้างนาน และสวัสดิการพนักงานที่ทำให้มีการตั้งสำรองเพิ่ม นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ทั่วไปด้วย
“เราต้องดูว่าเกณฑ์ที่ออกมายืดหยุ่นแค่ไหน เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ว่าจะบริหารจัดการด้านนี้อย่างไร สำหรับกรุงไทยยังไม่คิดนำสำรองออกมาเป็นกำไร เราใช้หลักการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง โดยปัจจบันการตั้งสำรองอยู่ที่130- 132% โดยธนาคารจะพยายามรักษาให้อยู่ระดับ 120-130% ต่อไปในอนาคต"
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า การเปิดให้แบงก์นำสำรองส่วนเกินตีกลับมาเป็นกำไรได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่เหมาะสมสำหรับแบงก์นั้นๆ ดีกว่าเอาเงินสำรองมาทิ้งไว้โดยไม่เกิดประโยชน์ สำหรับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio)ของธนาคารณ มิ.ย.2562 อยู่ที่ 157% ถือว่าอยู่ในระดับสูง และมีสำรองส่วนเกินอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตามหลังการประกาศใช้TFRS9 คาดว่าอัตราการตั้งสำรองของธนาคารไม่น่าจะปรับลดลง เนื่องจากในมาตรฐานบัญชีดังกล่าว มีการกำหนดให้ฝ่ายจัดการของธนาคาร ประเมินเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ภายใต้สมมุติฐานต่างๆ ทั้งดี และเลวร้ายที่สุด เพื่อให้มีการตั้งสำรองที่เหมาะสม ดังนั้นระยะต่อไปธนาคารจะให้ฝ่ายจัดการไปประเมินภาพรวมการตั้งสำรองใหม่อีกครั้ง ภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ และอาจมีการนำสำรองส่วนเกินไปเพิ่มเติมในพอร์ตที่มีความอ่อนไหว หรือพอร์ตที่แบงก์มองว่าต้องมีการดูแลมากขึ้น เช่น การตั้งสำรองเฉพาะรายธุรกิจ และรายพอร์ตมากขึ้น
" เราจำเป็นต้องพิจารณาการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังและรอบคอบมากที่สุด และทบทวนพอร์ตใหม่ว่าสำรองจะเพิ่มขึ้นในส่วนไหนได้บ้าง เพราะเราไม่รู้ว่าเศรษฐกิจ 2-3ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่า การทบทวนแผนการตั้งสำรองดังกล่าวจะชัดเจนภายในปีนี้”
เธอกล่าวต่อว่า ภาพรวมค่าธรรมเนียมของธนาคารปีนี้ น่าจะติดลบน้อยลงที่ 5-7% จากปีก่อนติดลบ 10% แต่คาดว่าปี 2563 มีโอกาสกลับมาพลิกเป็นบวกได้ เนื่องจากค่าธรรมเนียมจะกลับไปอยู่ในภาวะปกติ และไม่มีผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียมบนดิจิทัลเข้ามาแล้ว อีกทั้งธนาคารจะรุกส่วนอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร เช่น รายได้จากการเป็นตัวแทนการขายประกัน และการขายกองทุน บัตรเครดิต รวมถึงการมีรายได้ใหม่ๆจากการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลเลนดิ้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกองทุน หลังจากธนาคารขยายช่องทางการขายนอกสาขามากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเติบโตมากขึ้น
ส่วนกรณี ที่มีธนาคารบางแห่งลดค่าธรรมเนียมบนดิจิทัล สำหรับเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารคงไม่เข้าไปแข่งขัน โดยการลดค่าธรรมเนียมตาม แต่จะเน้นให้บริการลูกค้าด้านอื่นมากกว่า เช่น MADHUB เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน สำหรับค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมบนดิจิทัลของธนาคาร ถือว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว และบางรายการมีฟรีค่าธรรมเนียมจนถึงสิ้นปี
เช่น ค่าธรรมเนียมของธนาคารกรณี ฝากเช็คข้ามเขต คิดค่าธรรมเนียม 0.10% ของจำนวนเงินตามเช็ค ขั้นตำ 10 บาทต่อฉบับ ,ฟรี โอนเงินต่างธนาคารฟรีค่าธรรมเนียม ถึง 31 ธันวาคม 2562 ,โอนเงินต่างธนาคารแบบล่วงหน้า 1 วัน คิดค่าฟรี 12 บาท/รายการ,การโอนเงินต่างธนาคารแบบไม่จำกัดวงเงินสูงสุด ขาออก 150 บาท/รายการ,จ่ายเงินเดือนพนักงานทุกธนาคาร 12 บาท/รายการ (บริการ Smart),จ่ายบิล ชำระค่าสินค้าและบริการ อัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับผู้รับชำระเงิน