เปิดข้อมูล 'ซีอาร์ซี' เรือธงลำใหม่ กลุ่มเซ็นทรัล

เปิดข้อมูล 'ซีอาร์ซี' เรือธงลำใหม่ กลุ่มเซ็นทรัล

ได้ฤกษ์เปิดเผยข้อมูล "ไฟลิ่ง" ชุดแรกออกมาแล้วสำหรับ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ว่าที่หุ้นไอพีโอน้องใหม่ ซึ่งมีแผนจะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ช่วงต้นปี 2563

ความน่าสนใจของซีอาร์ซี คือ รายได้รวมที่สูงถึงระดับ 2.06 แสนล้านบาท ในปี 2561 ทำให้หลังจากเข้ามาจดทะเบียนแล้ว ซีอาร์ซีจะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้สูงสุดติด 1 ใน 10 หุ้น ที่มีรายได้สูงสุดของไทย และเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มพาณิชย์ เป็นรองเพียงแค่ ซีพีออลล์ (CPALL) เท่านั้น

ธุรกิจหลักของซีอาร์ซี คือการถือหุ้นในบริษัท หรือ Holding Company โดยมีธุรกิจหลักที่บริษัทเข้าไปลงทุนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น เน้นขายสินค้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ทำรายได้เป็นสัดส่วน 34% กลุ่มฮาร์ดไลน์ เน้นขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าตกแต่งและปรับปรุงบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 23% และกลุ่มฟู้ด เน้นการขายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ คิดเป็นสัดส่วน 43%

อีกประเด็นที่น่าจับตามองควบคู่ไปกับการขายไอพีโอ คือ การเสนอขายหุ้นไอพีโอของซีอาร์ซีให้แก่ผู้ถือหุ้นของโรบินสัน โดยผู้ที่นำหุ้นของโรบินสันมาเสนอขาย จะได้รับการจัดสรรหุ้นซีอาร์ซีตามสัดส่วนของหุ้นที่นำมาเสนอขาย โดยมีสัดส่วนการแลกหุ้น ที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับ 66.50 บาท ต่อหุ้นโรบินสัน 1 หุ้น กับราคาหุ้นไอพีโอที่ราคาเสนอขายสุดท้าย หลังจากนั้นจะทำการเพิกถอนหุ้นโรบินสันออกจากตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ สิ่งที่จะได้เห็นกันคือ การปลดล็อคมูลค่าของธุรกิจต่างๆ ที่กลุ่มเซ็นทรัลจะรวมเอาเข้ามาไว้ในซีอาร์ซี ไม่ว่าจะเป็น ไทวัสดุ, ซูเปอร์สปอร์ตม เพาเวอร์บาย, บ้าน แอนด์ บียอนด์ รวมถึงธุรกิจในต่างประเทศ อย่าง บิ๊กซี เวียดนาม และลานซี มาร์ท

ในเบื้องต้น ซีอาร์ซีจะระดมทุนผ่านการขายหุ้นเพิ่มทุน 1.62 พันล้านหุ้น เพื่อระดมทุนไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจหลัก ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจำนวน 8.4 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และอีก 1.84 หมื่นล้านบาท ในปี 2563

สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2562 ซีอาร์ซีมีรายได้รวม 1.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.56% จากปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิเมื่อปี 2561 ทำได้ 9.53 พันล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปีนี้ทำได้ 4.02 พันล้านบาท ลดลง 28.3% จากปีก่อน

โดยกลุ่มแฟชั่น จะขยายสาขาโรบินสัน 1 แห่ง และสาขาโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ 3 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวม 3.79 พันล้านบาท รวมถึงขยายสาขาซูเปอร์สปอร์ต 42 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวม 439 ล้านบาท

ในกลุ่มฮาร์ดไลน์ จะลงทุนขยายสาขาเพาเวอร์บาย 9 แห่ง ไทวัสดุ 14 แห่ง บ้าน แอนด์ บียอนด์ 2 แห่ง และเหงียนคิม 35 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมด 3.92 พันล้านบาท

ส่วนกลุ่มฟู้ด จะลงทุนขยายซูเปอร์มาเก็ต 20 แห่ง ท็อปส์ เดลี่ 12 แห่ง แฟมิลี่มาร์ท 67 แห่ง บิ๊กซี เวียดนาม 8 แห่ง และลานซี มาร์ท 8 แห่ง คาดจะใช้เงินลงทุนรวม 5.6 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน จะใช้เงินลงทุนสำหรับปรับปรุงสาขาเดิมรวมประมาณ 9.25 พันล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของซีอาร์ซี ย้อนหลังในช่วงปี 2559 - 2562 มีรายได้รวม 176,281 ล้านบาท เพิ่มเป็น 187,998 ล้านบาท ในปี 2560 และในปี 2561 เพิ่มเป็น 206,078 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ ทำได้ 5,552 ล้านบาท ในปี 2559 ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 5,024 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 9,536 ล้านบาท ในปี 2561 ส่วนงวดครึ่งปีแรก 2562 มีรายได้รวม 106,074 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 4,202 ล้านบาท

โครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบันของซีอาร์ซี  ประกอบด้วย HCDS สัดส่วน 45% Hawthorn Resources 13% โดยทั้งรายนี้เป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ เมื่อรวมกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ แล้ว ปัจจุบันซีอาร์ซีถือเป็นบริษัทที่ถูกถือหุ้นโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ทั้งหมด 100%และภายหลังจากการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลจิราธิวัฒน์จะลดลงมาเหลือ 74.36%

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ซีอาร์ซีสปอร์ตในเครือกลุ่มเซ็นทรัลครองอันดับ 1 ธุรกิจค้าปลีก

-'เอเชียกรีน' ผนึก 'ทีอาร์ซี' ตั้งบริษัทร่วมทุนรุกพลังงาน

-‘ซีอาร์จี-ไมเนอร์ฟู้ด" เปิดศึกดิลิเวอรี่ รวมแบรนด์สั่งเบอร์เดียวเขย่าคู่แข่ง

-ไดนาสตี้เทนเดอร์ อาร์ซีไอ หุ้นละ 4 บาท