“เจเอสแอล” ลุยขายสินค้าสุขภาพ ลดเสี่ยงผลิตคอนเทนท์ไม่โต!
ผู้ประกอบการใน “ธุรกิจสื่อ” ต่างกำลังคลำทาง “เอาตัวรอด” บนเส้นทางธุรกิจรายแล้วรายเล่า บางรายทรานส์ฟอร์มหรือเปลี่ยนแปลงองค์กร ปรับโมเดลธุรกิจจนเห็นเค้าลางทางสว่าง หากพ้นวิฤกติ สเต็ปต่อไป คือหาทางสร้างการเติบโต
การปรับตัวหนึ่งที่เห็นชัดของคนทำสื่อ ผลิตคอนเทนท์คือไม่ยึดติดกับ “สูตรสำเร็จเดิม” ที่อาจเสื่อมมนต์ขลังไปตามยุคสมัย ยิ่งกว่านั้นหลายรายพยายาม “กระจายธุรกิจ” (Diversify) ให้กว้างขวางขึ้น ไม่จำกัดแค่ทีวี สื่อ คอนเทนท์ อีกต่อไป
เจ เอส แอล ชื่อนี้นับว่า “ยืนหนึ่ง” ในอุตสาหกรรมทีวี บันเทิงไทยอย่างยาวนาน 4 ทศวรรษ ก้าวเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตคอนเทนท์ที่ใหญ่สุดในไทย ผลิตรายการที่ตรงจริตคนดูจนโกยเรทติ้งให้ช่องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงินล้าน เจาะใจ เปอร์สเปคทีฟ เป็นต้น และเคยทำรายได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทะยานถึง 1,200 ล้านบาท กระทั่งเกิดอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล และการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ดิสรัปธุรกิจจนรายได้ลดลงเหลือ 500 ล้านบาท ในปี 2561
การเอาอยู่รอด จึงเลี่ยงไม่พ้นการปรับตัว รติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เล่าว่า การทำธุรกิจยุคนี้ต้องทำตัวเหมือนอยู่ในตะกร้าหลายใบ ซึ่งเป็นสูตร “กระจายความเสี่ยง” มองโอกาสสร้างการเติบโตของรายได้จากธุรกิจใหม่ๆอื่นๆที่ไม่พึ่งพาทีวี การผลิตคอนเทนท์ หรือโฆษณาเหมือนในอดีต
ล่าสุดบริษัทผนึกกับพันธมิตร “พสุธารา” ฟาร์มเลมอนและพืชสมุนไพร ตั้งบริษัทร่วมทุน ประเดิมทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยบริษัทถือหุ้น 51% และพสุธาราถือ 49% เพื่อผลิตสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล (เพอร์ซันนอลแคร์) และเครื่องใช้ในครัวเรือนภายใต้แบรนด์ “อัลลี”(Ali) เข้าทำตลาดสุขภาพและความงาม เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่มใส่ใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหญ่ที่มาแรงมากขึ้นในอนาคต
สำหรับสินค้าที่เปิดทำตลาดเบื้องต้น ประกอบด้วย สบู่รังไหมสด สบู่โกนหนวด แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน และสเปรย์กันยุงโรสแมรี่ เป็นต้น ราคาขายเริ่มต้น 350-690 บาท ซึ่งต่ำกว่าอินเตอร์แบรนด์ และแบรนด์ไทยในเซ็กเมนต์ระดับบนเล็กน้อย โดยในอนาคตบริษัทจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงเน้นสิสนค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าฯ ส่วนแนวทางการจำหน่ายให้ความสำคัญทั้งออนไลน์ เช่น Konvy Lazada shopee และออฟไลน์ มีการเปิดช้อปแบรนด์อัลลีที่ศูนย์การค้ามิกซ์ จตุจักร และศูนย์การค้าเดอะมอลล์ เป็นต้น
ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ลำพัง แต่การผนึกพันธมิตรหรือ Collaboration จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรมากขึ้น ขณะเดียวกัน “Connection” หรือสายสัมพันธ์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยเอื้อประโยชน์หลายด้าน บริษัทจึงใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดภายใต้ Collaboration Project กับหลากหลายธุรกิจ เช่น ปักจิตปักใจธุรกิจเพื่อสังคม ทำชุดสังฆทานจำหน่ายช่วงออกพรรษา ขณะที่พันธมิตรอื่นไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ตลอดจนห้างร้านล้วนมีผลต่อสร้างการเติบโตร่วมกัน
“ธุรกิจทีวีไม่โต แต่ไม่ถึงกับตาย เรายังอยู่ได้ แต่ต้องมีตะกร้าหลายใบ และการเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะชีวิตประจำวันผู้บริโภคยังจำเป็นต้องใช้ อีกทั้งสิ่งที่เรารุกตลาด เน้นไปทางสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแน่ ซึ่งเราสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจสื่อได้อีก เช่น การผลิตรายการเกี่ยวกับสุขภาพ ขณะเดียวกันจะเห็นการทำธุรกิจครั้งนี้มีการร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย เนื่องจากธุรกิจยุคปัจจุบันไม่สามารถเดินได้เพียงลำพัง อยู่คนเดียวไม่รอด จึงต้องมีการคอลลาบอเรชั่นกับคนอื่นมากขึ้น”
รติวัลคุ์ เข้ามาขับเคลื่อนเจ เอส แอล ราว 10 ปี ขณะที่ จำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี ซึ่งเป็นมารดา และยังคงนั่งอยู่ในทำเนียบคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) คร่ำหวอดในวงการมาหลายสิบปี ในงานเปิดตัวอัลลี จึงเห็น Connection ที่ปึ้ก! ของอดีตผู้นำหญิงแห่งเจ เอส แอลฯ เพราะแขกผู้ใหญ่ล้นหลาม เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์บริพัฒน์ อดีตผู้ว่าฯกทม., พันเอก นที ศุกลรัตน์, อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครคนดัง, รติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
การขยายธุรกิจใหม่ครั้งนี้ บริษัทคาดว่าปีแรกจะสร้างรายได้ 2-3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ในปีหน้า หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการขยายตลาดสู่การรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม) การขยายสู่ภาคธุรกิจ(B2B) เช่น โรงแรม ได้มากขึ้น คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่จะเพิ่มเป็น 20% จากปัจจุบันต่ำกว่า 5% รายได้หลักยังมาจากธุรกิจทีวี การผลิตละคร 60% อีเวนท์ การทำสื่อสารการตลาดกว่า 30% อย่างไรก็ตาม อนาคตรายได้ธุรกิจใหม่อาจแซงทีวี การผลิตคอนเทนท์