ครม.อนุมัติกฟน.ย้ายสายไฟลงดิน

ครม.อนุมัติกฟน.ย้ายสายไฟลงดิน

ครม.ไฟเขียว กฟน.ลงทุนแผนปฏิบัติการเอาสายไฟฟ้าลงดินเร่งด่วนระยะทาง 20.5 กิโลเมตร วงเงิน 3.6 พันล้านบาท ดำเนินการ 3 พื้นที่ในแนวรถไฟฟ้า เสร็จภายใน3 - 4 ปี

นางสาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย. มีมติเห็นชอบแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการภายใต้วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,173.40 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าตามที่  กฟน. ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทางรวม 215.6 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จระยะทางรวม 46.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการดำเนินการ ระยะทางรวม 169 กิโลเมตร เนื่องจากแผนงานบางส่วนต้องรอดำเนินการพร้อมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ทำให้แผนงานของ กฟน. มีความล่าช้า

157304544389

ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายให้ กฟน. ดำเนินการลงทุนโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เร็วขึ้น โดยจากการสำรวจพื้นที่ที่มีแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รวมถึงมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ คือ ได้มีการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินหลักร่วมไปกับโครงการรถไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว

กฟน. จึงขอความเห็นชอบแผนงานแบบ Quick Win ในระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ โดยดำเนินงานในส่วนแนวรถไฟฟ้าก่อน ประกอบไปด้วย 1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก)ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 745.2 ล้านบาท 2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์ ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,937.6 ล้านบาท  และ 3. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) รวมระยะทาง 5.5 กิโลเมตร วงเงิน 931.0 ล้านบาท โดยมีค่าดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างทั้งสิ้น 59.7 ล้านบาท คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 3 - 4 ปี

ทั้งนี้ แผนงานการลงทุนทั้งหมดได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยแล้ว