‘กรุงศรีฟินโนเวต’จ่อเพิ่มงบลงทุนสตาร์ทอัพ 

‘กรุงศรีฟินโนเวต’จ่อเพิ่มงบลงทุนสตาร์ทอัพ 

“กรุงศรีฟินโนเวต” เดินหน้าลงทุนฟินเทค คาดปลายปีร่วมทุนสตาร์ทอัพด้านอสังหาฯอีก 1ราย  จ่อเพิ่มงบลงทุนแตะ  100 ล้านดอลลาร์ปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่  60 ล้านดอลลาร์ มุ่งลงทุน  3กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ รถยนต์และเอสเอ็มอี  

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทร่วมลงทุนในเครือ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้รับการเพิ่มงบลงทุนจาก  30 ล้านดอลลาร์ เป็น  60 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ คาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มงบลงทุนอีกต่อเนื่อง อาจจะแตะ  100 ล้านดอลลาร์ได้ เพราะบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจาเพื่อร่วมลงทุนอีกหลายกิจการ โดยเฉลี่ยใช้งบลงทุนต่อบริษัทประมาณ 2ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านบาท  

ล่าสุดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า  บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มในสตาร์ทอัพไทยอีก 1 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญา โดยสตาร์ทอัพดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ในหมวดเดียวกับบาเนีย ที่บริษัทเคยลงทุนไปก่อนหน้ แต่เป็นอีกรูปแบบที่เข้ามาเสริมกัน และคาดว่าในปี2563 น่าจะเริ่มเห็นการลงทุนในสตาร์ทอัพต่างชาติได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับธนาคารกรุงศรี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ 

สำหรับนโยบายการลงทุนสตาร์ทอัพของบริษัท เป็นการลงทุนซีรี่ย์เอขึ้นไป  มุ่งเน้นกิจการใน 3 หมวดหลัก คือ  หมวดอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรืออีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งสินเชื่อบ้านรายย่อยและสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของแบงก์ที่ต้องการเป็นอันดับหนึ่งในตลาดนี้ จากที่เป็นอันดับสองของตลาดเมื่อปีก่อน

หมวดที่2 คือหมวดยานยนต์ หรือ ออโต้อีโคซิสเต็ม โดยรวบรวมเทคโนโลยีเกี่ยวกับพาหนะทุกประเภท เช่น ผลิตรถยนต์ ขนส่งรถ ส่งอาหาร นอกจากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ปกติแล้ว ช่วยให้คนในตลาดนี้เข้าสู่สินเชื่อได้มากขึ้นด้วย เช่น ในอนาคต คนที่ต้องการสินเชื่อรถคาร์ฟอแคช ไม่ต้องมาที่สาขา เพียงแต่เปิดมือถือไลฟ์โชว์รถรอบคันให้แบงก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้เลย ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองระบบว่าจะเหมาะกับตลาดในไทยหรือไม่ วางเป้าหมายนำเทคโนโลยีเพื่อรักษาความเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสินเชื่อรถยนต์ของแบงก์ 

หมวด3 คือ หมวดเอสเอ็มอี และอีโคซิสเตมที่เกี่ยวข้อง  โดยเป็นแฟลตฟอร์มช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเร็วมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบบัญชี ระบบการจ่ายเงิน หรือเป็นระบบที่ช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซได้ง่าย และสะดวกขึ้น

เขากล่าวว่า  การร่วมลงทุนกับกิจการสตาร์ทอัพ จะมุ่งเน้นในกิจการที่ธนาคารสามารถนำมาใช้ หรือต่อยอดการทำธุรกิจของธนาคารได้เลย  และมีเป้าหมายผลักดันกิจการเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนร่วมกันเพียง 10ปี ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท. ) กำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อลงทุนไปแล้วประมาณ 1-2ปี โครงสร้างธุรกิจแข็งแรง มีกำไรระดับหนึ่ง จะเริ่มเตรียมความพร้อมสตาร์ทอัพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว

ปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนในสตาร์ทอัพแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ 1. ฟิโนมินา เป็นสตาร์ทอัพด้านการลงทุน 2. บาเนีย พัฒนาบิ๊กเดต้าด้านอสังหาริมทรัพย์ 3. ช็อคโก้ พัฒนาสินเชื่อร้านค้าเอสเอ็มอี และ4. ไซลอต พัฒนาแอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มอีแบงกิ้ง