“ศักดิ์สยาม” ตั้งท่ารออนุมัติ โอน "ทอท." บริหารสนามบินหัวกะทิ

“ศักดิ์สยาม” ตั้งท่ารออนุมัติ โอน "ทอท." บริหารสนามบินหัวกะทิ

“ศักดิ์สยาม” ไม่ขัดเปิดประมูลบริหารสิทธิ 3 สนามบิน ชี้ทำได้ทุกวิธีแต่ต้องดีกว่าเดิม “ถาวร” มีแนวคิดล้มโต๊ะเจรจาจ้าง ทอท. หันเปิดกว้างเอกชนทุกรายประมูล

กรมท่าอากาศยานมีแผนโอนสนามบินภูมิภาคให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยในช่วงที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดแนวทางไว้ 4 สนามบิน คือ สกลนคร ชุมพร แม่สอดและอุดรธานี และในสมัย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปลี่ยนเป็นสนามบินบุรีรัมย์ กระบี่ แม่สอดและอุดรธานี ซึ่งล่าสุดได้ตัดสนามบินกระบี่ออกเหลือ 3 สนามบิน โดยใช้รูปแบบการจ้างบริหารสนามบิน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.กำลังศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กรมท่าอากาศยานกำลังศึกษากฎระเบียบของกองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน ว่าสามารถให้ ทอท.นำเงินเข้ามาสนับสนุนกองทุนหมุนเวียนได้หรือไม่

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากรมท่าอากาศยาน มีความสามารถทั้งการออกแบบ และการพัฒนาสนามบิน แต่ปัญหาหลัก คือขาดเงินในการพัฒนา เพราะจากการสอบถามกรมท่าอากาศยาน ถึงแผนการพัฒนาสนามบินว่าใช้งบประมาณจากที่ใด ก็ทราบว่าเป็นงบประมาณประจำปี 

ส่วนนี้จึงถือเป็นการบริหารในลักษณะที่ไม่มีความชัดเจนและแน่นอน เพราะแผนพัฒนาต่างๆ ที่กรมท่าอากาศยาน เสนอจะผ่านการอนุมัติหรือไม่ ดังนั้นหากแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ สามารถเปิดให้ ทอท.นำเงินมาสนับสนุนในกองทุนหมุนเวียนได้ ก็จะทำให้กรมท่าอากาศยาน มีศักยภาพมากขึ้น พัฒนาโครงการได้เร็วขึ้น

สำหรับแนวทางของการนำเงินบริหารเข้ากองทุนฯ เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีบางมาตราของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้จึงได้สั่งการให้ไปดูวิธีการว่าต้องทำอย่างไร หากแค่ออกระเบียบ และเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการ กพท. ก็จะอนุมัติทันที ขณะที่การแบ่งสัดส่วนรายได้ก็ต้องหารือกันว่าจะกำหนดอัตราส่วนอย่างไร

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กรณีที่มีข้อเสนอการจ้างบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ควรเปิดกว้างประมูล ไม่ควรจำกัดสิทธิเฉพาะ ทอท.เห็นว่า แนวทางการบริหารสนามบินสามารถทำได้ทุกวิธี เพียงแต่ต้องดูความเหมาะสมด้วยว่าการเปิดประมูล ทำแล้วดีหรือไม่ดี มีกฎหมายรองรับให้ทำได้หรือไม่ ซึ่งทุกข้อเสนอเป็นเรื่องที่สามารถนำมาศึกษาได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสามารถอธิบายได้ และการจะเลือกช่องทางเพิ่มเติม ควรต้องตอบโจทย์ ทำแล้วต้องดีกว่าเดิม ไม่ใช่น้อยกว่าเดิม

157365486354

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจ้าง ทอท.เข้ามาบริหาร 3 สนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน มีแนวคิดที่อยากให้กรมท่าอากาศยานเปิดกว้าง ไม่ควรจำกัดสิทธิเฉพาะ ทอท.ในการเข้ามาบริหารเท่านั้น ควรเปิดกว้างประมูล เพื่อหาผู้บริหารมืออาชีพที่ดีที่สุด 

โดยปัจจุบันขั้นตอนการดำเนินงานรูปแบบบริหารสัญญา 3 สนามบินดังกล่าว อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมายต่างที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ รวมทั้งต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งแนวความคิดของตนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพิจารณา แต่หากหลายภาคส่วนมีข้อเสนอที่เห็นต่างเข้ามา ก็ไม่สามารถทัดทานได้

"แนวคิดของผมที่ต้องการให้เปิดกว้างประมูลนั้น เพราะเล็งเห็นว่าท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานเป็นทรัพย์สินของทางราชการ จะตัดสินใจยกให้ใครมาบริหารเลยคงไม่ได้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และทำด้วยความถูกต้อง ทย.ควรมีสิทธิ์ที่จะหาผู้บริหารมืออาชีพที่ดีที่สุด และเสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐมากที่สุดจริงๆ ส่วนการหารือในช่วงที่ผ่านมาว่าจะมีการจ้าง ทอท.บริหาร ตนมองว่าเป็นเพียงแนวคิด เพราะ ทย.ไม่ได้มีอำนาจเต็มที่จะยกให้ใครมาบริหารก็ได้ และไม่ว่าใครก็ต้องไม่มีสิทธิพิเศษด้วย

นายถาวร กล่าวว่า คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้บริหารสนามบิน ในมุมมองของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน เห็นว่าผู้ที่จะเข้ามาบริหารต้องสามารถพัฒนาท่าอากาศยานต้องลงทุนขยายอาคารต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำผลประโยชน์ให้รัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และทำให้ท่าอากาศยานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ รวมทั้งต้องมีแผนที่จะดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างงานและสร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยาน

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วพบว่า สามารถให้รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนเข้ามาบริหารจัดการได้ อนาคตข้างหน้าก็สามารถใช้รูปแบบนี้กับสนามบินอื่นๆ ของกรมท่าอากาศยานได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ 3 สนามบินตามมติของคณะกรรมการ ทอท.

สนามบินอุดรฯผู้โดยสารสูง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ที่ผ่านมาข้อสรุปที่ได้จากการหารือระหว่างนายศักดิ์สยาม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดรูปแบบที่จะใช้ในการให้หน่วยงานอื่นมาดูแลสนามบินของกรมท่าอากาศยาน คือ รูปแบบสัญญาจ้าง ทอท.บริหารแทนการโอนสนามบินเป็นของ ทอท.ซึ่งการบริหารสัญญาร่วมกัน ทรัพย์สินจะยังคงเป็นของกมท่าอากาศยานแต่ ทอท.จะเข้าไปบริหารและลงทุน ขณะที่กำไรจากการบริหารงานจะต้องนำเข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารของสนามบินที่กรมท่าอากาศยานดูแลพบว่า ในปีงบประมาณ 2562 สนามบินอุดรธานี มีผู้โดยสารมากที่สุด 2.57 ล้านคน รองลงนาสนามบินกระบี่ 2.53 ล้านคน สนามบินบุรีรัมย์ 354,742 คน และแม่สอด 196,076 คน

ในขณะที่แผนลงทุนสนามบินของกรมท่าอากาศยานระยะที่ 1 (2561-2565) มีวงเงิน 27,248 ล้านบาท รวม 17 สนามบิน และระยะที่ 2 (2566-2570) วงเงิน 7,259 ล้านบาท รวม 8 สนามบิน โดยบางสนามบินอยู่ในแผนพัฒนาทั้ง 2 ระยะ เช่น สนามบินอุดรธานีที่จะเปิดให้หน่วยงานอื่นเข้ามาบริหาร

157365488348

ทอท.เล็งสนามบินมีศักยภาพ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ภายหลังจากการหารือร่วมระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทอท. และกรมท่าอากาศยาน ซึ่งมีข้อสรุปจ้าง ทอท.บริหาร 3 ท่าอากาศยาน หลังจากนั้น ทอท.ได้ศึกษาข้อกฎหมายเรื่องการนำเงินที่ได้จากการจ้างบริหารไปบรรจุไว้ในกองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน

“หลังจากการหารือครั้งนั้น ทอท.และกรมท่าอากาศยานก็มอบหมายให้ระดับเจ้าหน้าที่ประสานงานกันเบื้องต้น ว่ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยานที่มีอยู่ สามารถรับเงินที่ได้จากการบริหารไว้ได้หรือไม่ เพราะถ้ากฎหมายไม่เปิดช่อง เงินที่ได้จากการบริหารก็ต้องส่งเป็นเงินคงคลัง ซึ่งจะหมายความว่า กรณีจ้างบริหารไม่เป็นประโยชน์ต่อกรมท่าอากาศยาน”

สำหรับกรณีที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุว่า มีแนวทางที่จะให้กรมท่าอากาศยานนำ 3 สนามบินดังกล่าวออกมาเปิดกว้างประมูลหามืออาชีพที่ดีที่สุดเข้ามารับสิทธิบริหาร ไม่ใช่การจ้างให้ ทอท.เข้ามาบริหารเพียงรายเดียวนั้น เรื่องนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของแนวความคิดดังกล่าว รวมทั้งที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่มีการหารือในประเด็นนี้มาก่อน

นายนิตินัย กล่าวว่า ที่มาของการโอนสิทธิรับบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน มาเป็นของ ทอท.เดิมทีเกิดจากการศึกษาด้านยุทธศาสตร์การบินของชาติ เรื่องการบริหารน่านฟ้า แต่หากจะมีการเปิดประมูลเพื่อการพาณิชย์ ทอท.ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความคุ่มค่าเชิงพาณิชย์เป็นรายสนามบินไป ดังนั้น ทอท.อาจไม่เข้าร่วมประมูลทุกสนามบิน

“จุดเริ่มต้นของการรับโอนสนามบิน คือเรื่องยุทธศาสตร์น่านฟ้าอย่างเดียว ดังนั้น ทอท.ต้องขอดูข้อเสนอก่อน เพราะอย่างที่บอกคือ ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ เราก็ดำเนินการในกระดุมเม็ดถัดๆ ไป เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ​แต่ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกเป็นเชิงพาณิชย์ เราก็ต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์เป็นรายสนามบินไป”นายนิตินัย กล่าว