“บีโอไอ” ชงขยายเวลาอีอีซี มั่นใจยอดลงทุนตามเป้า 7.5 แสนล้าน
บีโอไอ เตรียม ชงบอร์ดเดือนธ.ค.นี้ พิจารณาขยายเวลามาตรการส่งเสริมลงทุนในอีอีซี – เพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้ พร้อมอนุมัติโครงการกองทุนเพิ่มขีดแข่งขันของประเทศเป็นโครงการแรก มั่นใจยอดคำขอทั้งปีถึงเป้าหมาย 7.5 แสนล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ในเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการหารือในเรื่องหลักๆ ได้แก่ การต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะหมดอายุในสิ้นเดือนธ.ค. 2562 ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
โดยทั้ง 2 มาตรการนี้จะยังคงต่ออายุออกไป แต่อาจจะต้องปรับปรุงในบางส่วนให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีแห่งการลงทุน จะไม่มีการต่ออายุออกไป เพราะได้ปรับไปเป็นมาตรการไทยแลนด์พลัสที่มีอายุไปจนสิ้นสุดปี 2563
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี จะหารือในเรื่องการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ในบางเรื่อง เช่น ข้อกำหนดที่ต้องเข้ามาร่วมกับสถาบันการศึกษาฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามา จะเข้าไปร่วมมือกับสถานศึกษาได้ยาก ดังนั้นจึงต้องมีกลไกอำนวยความสะดวกประสานงานกับสถาบันการศึกษาให้กับนักลงทุน เป็นต้น
โดยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.62) มีโครงการที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี 360 โครงการ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 37% มีมูลค่าการลงทุน 167,930 ล้านบาท ลดลง 23% แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 163 โครงการ เพิ่มขึ้น 31% มูลค่าการลงทุน 92,110 ล้านบาท ลดลง 48% จ.ระยอง 157 โครงการ เพิ่มขึ้น 59% มีมูลค่าการลงทุน 57,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% จ.ฉะเชิงเทรา 40 โครงการ เพิ่มขึ้น 3% มีมูลค่าการลงทุน 17,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83%
“ถ้ามองในแง่จำนวนโครงการลงทุนรวมใน อีอีซี จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 37% แต่มีมูลค่าการลงทุนลดลง 23% เนื่องจากมีโครงการในกิจการดิจิทัลเข้ามามาก แต่กิจการกลุ่มนี้มีเงินลงทุนไม่มาก จึงทำให้ตัวเลขมูลค่าการลงทุนลดลง แต่กิจการในกลุ่มดิจิทัลนี้จะเข้ามาช่วยยกระดับเทคโนโลยีให้กับประเทศได้มาก ”
ส่วนมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มกิจกรรมด้านการตลาดลงไปในภูมิภาคต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุน
เนื่องจากที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่รู้ว่า บีโอไอ มีมาตรการพิเศษสำหรับเอสเอ็มอี ทำให้ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอีเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุน 43 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 87% มีเงินลงทุน 2,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167%
นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ดบีโอไอในเดือนธ.ค. นี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 หรือกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หลังจากที่มีผลบังคับใช้มากว่า 2 ปี
ขณะนี้มีโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 4-5 ราย แต่สาเหตุที่ใช้เวลาในการพิจารณานาน ก็เพราะว่าเป็นมาตรการที่รัฐจะนำเงินมาสนับสนุนการลงทุนจากกองทุนที่มีเม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องผ่านการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสรรหาและเจรจา เพื่อให้โครงการลงทุนที่ผ่านการพิจารณาเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้ใกล้ถึงขั้นตอนสุดท้ายและคาดว่าจะอนุมัติได้ในการประชุมบอร์ดบีโอไอในเดือนธ.ค.นี้
สำหรับ ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในรอบ 9 เดือน มีจำนวนโครงการ 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% มีมูลค่าการลงทุน 314,130 ล้านบาท ลดลง 11% ส่วนยอดการอนุมัติให้การส่งเสริมมีจำนวน 1,074 โครงการ ลดลง 4% มีมูลค่าลงทุน 274,340 ล้านบาท ลดลง 41% ขณะที่ยอดการออกบัตรส่งเสริม มีจำนวน 971 โครงการ ลดลง 10% มีมูลค่าการลงทุน 271,730 ล้านบาท ลดลง 36%
“ที่ผ่านมายอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 100% จะมีผู้ 80% ที่ผ่านการพิจาณาไปถึงขั้นตอนอนุมัติให้การส่งเสริม และผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจะไปสู่การลงทุนจริงกว่า 90% โดยในปีนี้ บีโอไอ ยังคงมั่นใจที่จะมียอดคำขอรับการส่งเสริมตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วยที่นักลงทุนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด”
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ด้านการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (s - curve) ในรอบ 9 เดือน มีจำนวน 585 ราย คิดเป็น 50% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่าลงทุน 185,710 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุนสูงสุด 51,980 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 35,020 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร 30,160 ล้านบาท
ในส่วนเป้าหมายการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการลงทุนเนื่องจากสงครามการค้า 100 ราย ขณะนี้บางรายก็ได้เข้ามาลงทุนและขยายการลงทุนในไทยแล้ว บางรายอยู่ระหว่างการปรึกษาที่จะเข้ามาลงทุน โดยบีโอไอ จะหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนให้มากที่สุด เพราะมาตรการด้านภาษีไม่ใช่สิ่งจูงใจเพียงอย่างเดียว ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าโครงการส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี จะทำให้การลงทุนนอกพื้นที่ อีอีซีลดลง โดยมองว่าโครงการที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร หรือโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลต่างๆ ก็ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม คาดว่าจำนวนโครงการลงทุนจะไม่ลดลง แต่อาจจะมีมูลค่าลดลงบ้าง ขึ้นหรือลงขึ้นกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน