"การศึกษาไทย ไม่ใช่แค่ในตำรา" ที่มาแผนพัฒนาคนพัฒนาอีอีซี
เรื่องสำคัญๆ ในชีวิตคนหนึ่งคนมีไม่กี่เรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นคือการศึกษาที่ไม่ใช่การลงทุนแค่เม็ดเงิน แต่เป็นการลงทุนที่เดิมพันด้วย "เวลาของชีวิต" คนคนหนึ่ง หากผิดพลาดคือความเสียหายใหญ่หลวง ดังนั้นแผนการศึกษาที่ดี ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาที่ดีด้วย
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานสัมมนา “EEC NEXT: ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความเป็นห่วงว่าจะผลิตบุคลากรเข้ามารองรับการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ได้อย่างไร โดยหลังจากที่เข้ามาดูแล 3-4 เดือน ได้ปรับแผนในส่วนของอาชีวศึกษา มั่นใจหากแผนงานของรัฐบาลที่ดึงดูดการลงทุนให้บริษัทต่างๆเข้ามาลงทุนใน อีอีซี จะมีแรงงานฝีมือคุณภาพมารองรับได้อย่างแน่นอน
โดยสาเหตุที่มั่นใจ เพราะพื้นฐานเยาวชนไทยมีพื้นฐานทักษะที่ดี แต่ขาดการเรียนการสอนที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด เพราะขาดการประสานงานกับภาคเอกชนว่ามีความความต้องการบุคลากรในทักษะด้านใดบ้าง โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือกับเอกชนเข้ามาช่วยออกแบบหลักสูตรร่วมกัน สำหรับทักษะที่ต้องการมากที่สุดในอนาคตนอกจากทักษะอาชีพ คือ ภาษาอังกฤษ จะต้องออกแบบหลักสูตรภาษาอังกฤษที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละสาขาอาชีพ เช่น ภาษาอังกฤษสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน หุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งจะต้องมีหลักสูตรเฉพาะไม่เหมือนกับในอดีตที่เหมือนกันหมด รวมทั้งจะต้องฝึกทักษะของเด็กต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของอีอีซี คือ อาชีวะ จะต้องฉีดยาแรง เราไม่สามารถวางพื้นฐานด้านภาษาแบบเดิมๆได้ที่ต้องใช้เวลาเรียนยาวนาน ซึ่งจะปรับให้การสอนในระดับอาชีวะในปีการศึกษานี้ กำหนดให้ต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น ที่ชลบุรี จะเน้นการเรียนซ่อมเครื่องบินต้องใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะด้าน เพื่อให้เป็นแรงงานทักษะมีฝีมือตอลสนองความต้องการของตลาด”
หลังจากแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะปรับโรงเรียนวิทยาลัยอาชีวะ โรงเรียนที่สอนด้านการบินแถวดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ไม่ต้องไปสอนที่อื่น ให้เป็นฐานการเรียนในด้านนี้ เพราะไม่มีหน่วยงานตอบสนองการฝึกอบรม ซึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลือก็จะทำแบบเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมระบบรางควรทำที่ไหน เช่นจ.พระนครศรีอยุธยา และจ.นครพนม มีโรงเรียนพร้อมอุปกรณ์อยู่แล้ว จะเลือกเพิ่มอีก 3-4 แห่ง เรียนรู้ระบบรางโฟกัสที่ 5-6 โรงเรียน แล้วโรงเรียนอื่นๆก็แยกไปตามธุรกิจ บางโรงเรียนไม่ใกล้สถานประกอบการที่ฝึกงานได้ต้องปรับไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพื่อตอบสนองความต้องการอีอีซี
นอกจากนี้ จะต้องปรับศักยภาพของครู ซึ่งครูจะต้องมีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยภายใน 1 ปี น่าจะทำได้ ครูรุ่นใหม่จะต้องไปท่องโลกอินเตอร์เน็ตเอาข้อมูลมาปรับปรุงการสอนปรับศักยภาพของตัวเอง ถ้าฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องก็ไม่สามารถถ่ายทอดให้เด็กได้ ความรู้ก็จะแคบ จึงต้องปรับครูอย่างแน่นอน ปัจจัยนี้นี้คือตัวเลื่อนขั้นของคุณครูในทุกระดับ เพราะครูเป็นตัวเชื่อมไปสู่เด็กและเยาวชน หากครูไม่ปรับตัวก็ไม่สามารถเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาในกระทรวงศึกษาได้ เราจะไม่ยอมไม่เช่นนั้นก็ต้องย่ำอยู่กับที่ ครูต้องพัฒนาตัวเอง