สอท.ร้องรัฐช่วยเอสเอ็มอี ลดผลกระทบขึ้นค่าจ้าง
“บอร์ดค่าจ้าง”เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาท มีผล 1 ม.ค.63 ส.อ.ท.แนะจัดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ม.หอการค้าไทย คาดเอกชนควักเงินเพิ่มปีละ 3 หมื่นล้าน
คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเห็นชอบร่วมกันให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 5- 6 บาท โดยจังหวัดที่ปรับขึ้น 6 บาท มี 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดที่เหลือได้รับการปรับขึ้นในอัตรา 5 บาท ทั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงานเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนบังคับใช้ค่าจ้างใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2563
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมรับได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี โดยจะกระทบกับเอสเอ็มอีและเกษตรกรมากที่สุดเพราะใช้แรงงานสูง รวมทั้งปัจจุบันผลประกอบการไม่ดี ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเร่งปรับตัวใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงาน
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องควบคุมผลกระทบจากการขึ้นราคาสินค้าข้าวของที่จำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งควรจะเข้ามาช่วยเหลือยกระดับทักษะแรงงานเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อให้เอสเอ็มอีปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและใช้ระบบอัตโนมัติ รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เอสเอ็มอีอยู่รอดช่วงนี้ได้
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการรับได้และเเหมาะสม เพราะขึ้นไม่ถึง 2% ของค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน ซึ่งการปรับค่าแรงขึ้นจะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับต้นทุนค่าแรงทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนกังวลว่าจะขึ้นค่าแรงที่ระดับ 400 บาท ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่คงไม่กระทบมากเพราะค่าแรงขึ้นไม่มาก แต่เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบเพิ่มอีก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกเรื่องนอกเหนือจากผลกระทบจากเงินบาทแข็งที่สำคัญมาก ดังนั้นเอสเอ็มอีจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 5-6 บาทต่อวัน จะทำให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท แต่ไม่ถือเป็นอัตราที่สูงเกินไป และในมุมมองนักวิชาการเห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ภาวะชะลอตัว และอาจช่วยยืดระยะเวลาการปลดคนงานออกไปอีก ซึ่งจะต่างจากเดิมที่ประเมินว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 10-15 บาทต่อวัน ที่จะทำให้การปลดคนงานเร็วขึ้น
“การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาท น่าจะเป็นระดับที่เอกชนพร้อมจ่ายมากขึ้น และประคองการจ้างงานเอาไว้ได้ เพราะหากปรับเกิน 10 บาทต่อวัน จะกระทบการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานระดับ ปวช.และ ปวส.เพื่อให้ช่องทางค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินเดือนต่างกัน”