หุ้น ‘บีบีแอล’ รูดต่ำสุดรอบ 3 ปี ผวาบิ๊กดีลไม่ตอบโจทย์ดิจิทัลแบงกิ้ง
หุ้น “แบงก์กรุงเทพ” ยังรูดต่อเนื่อง หลังประกาศแผนซื้อกิจการ “เพอร์มาตาแบงก์” มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้าน “เดชา” มั่นใจแผนซื้อกิจการครั้งนี้หนุนการเติบโตในอนาคต ย้ำราคาหุ้นร่วงเป็นผลกระทบแค่ช่วงสั้น โบรกฯ ห่วงไม่ตอบโจทย์การก้าวสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง
ราคาหุ้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังประกาศ “ดีลยักษ์” เข้าซื้อกิจการ Permata Bank (BNLI) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย เบื้องต้นใช้เงินลงทุนราว 9 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนกังวลว่า ดีลการซื้อกิจการในครั้งนี้อาจไม่ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ดิจิทัลแบงกิ้ง”
สำหรับราคาหุ้น BBL วานนี้(13ธ.ค.) ปรับลดลงต่อเนื่อง มาปิดตลาดที่ 151.50 บาท ลดลง 10 บาท คิดเป็นการลดลง 6.19% มูลค่าการซื้อขายรวม 12,934 ล้านบาท โดยราคาหุ้นที่ปรับลดลงวานนี้ถือเป็นระดับต่ำสุดรอบ 3 ปี ขณะเดียวกันยังพบ “บิ๊กล๊อต” จำนวน 2 รายการ รวม 8.26 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 155.17 บาท รวมมูลค่า128.29 ล้านบาท
การเคลื่อนไหวของหุ้น BBL ถือว่า สวนทางกับภาพรวมตลาดหุ้นไทยวานนี้ที่ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 10.06 หรือ 0.64% มาอยู่ที่ 1,573.91 มูลค่าการซื้อขายรวม 71,118 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 6,946 ล้านบาท
มั่นใจหนุนธุรกิจเติบโตระยะยาว
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ BNLI มูลค่าลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านบาท มั่นใจว่า คุ้มค่าในการลงทุนแน่นอน ซึ่งจะช่วยต่อยอดการเติบโตของธุรกิจธนาคารอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า จะไม่คุ้มค่าในการเข้าไปลงทุนนั้น จากประสบการณ์ของธนาคารที่เข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารเชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ คุ้มค่าในการลงทุนแน่นอน และมั่นใจว่าจะหนุนการเติบโตของธนาคารในอนาคต
ส่วนราคาหุ้นของธนาคารที่ปรับลดลงต่อเนื่อง หลังการประกาศแผนซื้อกิจการ BNLI นั้น เชื่อว่ามีผลกระทบแค่เพียงระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุนและยังไม่มีความเชื่อมั่น แต่หลังจากนี้เชื่อว่า หากนักลงทุนมีข้อมูลมากขึ้น และมองถึงความคุ้มค่าระยะยาว เชื่อว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับปกติ
“เรายืนยันว่าราคาหุ้นที่ซื้อไม่แพง และจากประสบการณ์ที่ธุรกิจมากว่า 20 ปีในอินโดฯ ทำให้เราเชื่อว่า โอกาสการเติบโตในประเทศนี้ยังมีอีกมาก ภายใต้เศษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 % ต่อปี ส่วนราคาหุ้นที่ปรับลดลง อาจเป็นระยะสั้นๆ จากการที่นักลง ยังไม่มีข้อมูลยังไม่เพียงพอ อีกทั้งจุดประสงค์ของธนาคารในการเข้าไปลงทุน ธนาคารหวังว่าเป็นผลดีระยะยาว ดังนั้นเชื่อว่านักลงทุนจะเข้าใจมากขึ้น เดี่ยวทุกอย่างก็ฟื้นกลับมาได้"
โบรกชี้ไม่ตอบโจทย์ดิจิทัลแบงกิ้ง
นางสาวชาลี กือเย็น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ ระบุว่า การลงทุนรอบนี้เรามองว่ามีทั้งข้อดีและข้อด้อย สำหรับด้านบวก การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารเงินส่วนเกินให้มีประสิทธิภาพ โดยกองทุนขั้นที่ 1 หลังการซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 15.5%จากประมาณ 17% ในปัจจุบัน ช่วยให้กำไรสุทธิ BBL เพิ่มขึ้นประมาณ 7% และทำให้ ROE เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 8.6%
ส่วนด้านลบ BNLI ดูไม่เข้ากับกลยุทธ์และไม่ตอบโจทย์ของ BBL ที่จะรุกด้าน Digital Banking เพราะธุรกิจหลักของ Permata Bank เป็นการทำธุรกรรมธนาคารกับลูกค้าบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% และมีลูกค้าในมือเพียงแค่ 3.5 ล้านบัญชีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและดิจิทัลแบงกิ้งไปอย่างรวดเร็ว และมีแพลทฟอร์มออนไลน์มากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นธนาคารในรูปแบบออนไลน์ และแข่งกับธนาคารแบบดั้งเดิมอย่าง Permata Bank
นอกจากนี้ ด้วยพื้นฐานความถนัดของ BBL เราคิดว่าธนาคารไม่สามารถจะเดินหน้า digital banking ได้โดยไม่มีพันธมิตรมาช่วย และท้ายที่สุดมองว่าดีลนี้เป็นการรวมแพลทฟอร์มการธนาคารแบบดั้งเดิมในสองประเทศเข้าด้วยกันด้วยราคาที่แพงแต่ไม่มีการเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน (synergy) อะไรเลย และไม่เพิ่มอำนาจการแข่งขันให้กับธนาคารทั้ง 2
ทั้งนี้ ด้วยประเด็นหลักที่เรามองคือเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยระดับที่เหมาะจะเข้าซื้อคือที่ P/BV ประมาณ 0.6 เท่า
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า BNLI มีลูกค้าจำนวน 3.5 ล้านราย 332 สาขา และมีตู้ ATM จำนวน 989 เครื่อง โดยมีเงินให้สินเชื่อที่ 2.34 แสนล้านบาท และเงินฝาก 2.59 แสนล้านบาท โดยการเข้าซื้อดังกล่าวจะทำให้ BBL เข้าถึงตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมี GDP ขนาด 1.04 ล้านล้านดอลลาร์
โดยภาพรวมจึงมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาว เพราะปัจจุบัน BBL มีเงินสดในมือเยอะและประเทศไทยเติบโตจำกัด ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและกฎข้อบังคับทำให้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมเติบโตได้ยากมากขึ้น ขณะที่การเข้าซื้อในระดับ 1.77 เท่า ของ P/BV ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับการซื้อขายดีลของกลุ่มธนาคารไทยในอดีตที่อยู่ 1.5 เท่า แต่ถ้าเทียบกับธนาคารในอินโดนีเซียถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ระดับ 1.75 เท่า และเมื่อเทียบกับ Sumitomo ที่เคยซื้อ BTPN ในปี 2556 ที่ระดับสูงถึง 4.91 เท่า
รู้จัก“เพอร์มาตาแบงก์”
ธนาคารเพอร์มาตา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปี 2497ในชื่อธนาคารบาหลีก่อนจะควบรวมกิจการในปี 2545 กับ 5 ธนาคาร คือ1. PT Bank Bali Tbk 2. PT Bank Universal Tbk 3.PT Bank Prima Express 4.PT Bank Artamedia 5.PT Bank Patriotให้บริการรายย่อย เอสเอ็มอี และธุรกิจค้าปลีก จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือสแตนดาร์ด ชาร์เติร์ด ถือ 44.56% พีที แอสตรา อินเตอร์เนชั่นแนลถือหุ้น 44.56% ที่เหลือคือผู้ถือหุ้นรายย่อย
รูปแบบธุรกิจเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปคือให้บริการฝาก ถอน กองทุน พันธบัตร สินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตการ์ด สินเชื่อผู้ค้ารายย่อยในรูปแบบของการทำธุรกิจของธนาคารทั่วไปและการให้บริการตามหลักศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมีพนักงาน 7,010 คน ช่องทางออฟไลน์เปิดให้บริการใน 62 เมือง มีสาขาจำนวน 323 แห่ง มีธนาคารเคลื่อนที่ 16 ทีม มีจุดให้บริการด้านการเงินที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม 23 แห่ง
ราคาหุ้น ปิดตลาดวานนี้ (13ธ.ค.)อยู่ที่หุ้นละ1,310.00 รูเปี๊ยะห์ เพิ่มขึ้น 4.38% ส่วนมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 36.736 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์
นอกจากนี้เพอร์มาตา ยังเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซีย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม และการเข้าซื้อเพอร์มาตา ของธนาคารกรุงเทพจะช่วยให้เพอร์มาตาได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านบริการสำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี เครือข่ายทางธุรกิจและความสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเซียที่แข็งแกร่ง ตลอดจนผลิตภัณฑ์การเงินระหว่างประเทศ และความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรม