ผ่าโมเดลธุรกิจ ‘2แบงก์ยักษ์’ งัดกลยุทธ์ฝ่ากระแสดิสรัป
"ไทยพาณิชย์" ตั้งกองเรือเล็ก ฝ่าพายุดิจิทัล "แบงก์กรุงเทพ" ต่อเรือใหญ่ ลุยตลาดการเงินโลก
ในอดีตการวัด "ความแข็งแกร่ง” ของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สิ่งแรกที่มักนำมาชี้วัด คือ “การเติบโต” และ “ความมั่นคง” โดยเฉพาะ “ขนาด” ของสินทรัพย์ แต่ในยุคปัจจุบันที่ “เทคโนโลยี” ใหม่ๆ เข้ามา “ดิสรัป” จนพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้โลกธุรกิจเริ่มมองว่า กำลังเข้าสู่ยุค “ปลาเร็ว กิน ปลาช้า” เรียกได้ว่าใครไวกว่า มีข้อมูลที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง
...จึงเริ่มมีคำถามว่า “ขนาด” ของธุรกิจยังคงมีความสำคัญอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงิน ซึ่งทุกวันนี้กำลังโดน “ดิสรัป” อย่างหนักจาก “ฟินเทค” และ “เทกคอมพานี”
ด้วยเหตุนี้ทำให้ “ธนาคารพาณิชย์” หลายแห่ง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “กระแสดิสรัปชัน” โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ถือเป็นหนึ่งในแบงก์ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา SCB ประกาศแผน “กลับหัวตีลังกา” กล่าวคือ ทำในสิ่งตรงข้ามกับที่แบงก์เคยทำมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องสาขาและขนาดที่ใหญ่ ซึ่งกลยุทธ์ของ SCB หลังประกาศแผนนี้ คือ ทำให้ “ตัวเบา” เพื่อจะเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน SCB ยังทุ่มงบกว่า 4 หมื่นล้านบาท ลงทุนด้านไอทีเพื่อทรานฟอร์มธุรกิจก้าวสู่โลกดิจิทัล
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB ระบุว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเดินหน้าทรานฟอร์มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่มีบางด้านที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งเจอข้อจำกัดนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้องค์กรนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนตามแผนได้เร็วนัก
นี่อาจเป็น “จุดเปลี่ยน”สำหรับ SCB อีกครั้ง ที่ต้องลุกมาทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น บนการไม่ “ยึดติด”กับสินทรัพย์ เงินฝาก หรือจำนวนสาขาที่มากมายเหมือนอดีต
“อาทิตย์” เล่าว่า เร็วๆ นี้ แบงก์จะประกาศยุทธ์ศาสตร์สำคัญ หรือ New business model ในอนาคต “นั่นคือ ”การนำ "เรือเล็ก" ออกจากฝั่ง มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ แทน “เรือใหญ่”
โดยเอาเรือเล็กออกไปทดลอง Experiment เรือลำใหญ่ เช่นในธุรกิจเครดิตการ์ด ที่แบงก์จะสร้างเรือเล็กขึ้นมา และไปพาร์ทเนอร์กับเทคคอมพะนี กับฟินเทคต่างๆ เพื่อออกโปรดักต์ให้ โดนใจลูกค้ามากที่สุด เข้าถึงใจตัวผู้ถือบัตรเครดิตมากที่สุด
“อาทิตย์” เชื่อว่า ด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้แบงก์ไม่ต้อง "สละเรือใหญ่" เพราะในที่สุดแล้ว หากเรือเล็ก สามารถทำธุรกิจได้ เรือเล็กนี่แหละที่จะไต่ขึ้นมามีบทบาทแทนที่ “เรือใหญ่” แล้วเรือใหญ่ก็จะค่อยๆหายไป
ยุทธศาสตร์นี้ นอกจากทำให้แบงก์เคลื่อนตัวได้เร็ว มูฟได้อย่างคล่องตัว ที่สำคัญยังมีต้นทุนที่ต่ำ ภายใต้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การใช้ AI และ ดาต้า เข้ามามากขึ้นในการทำธุรกิจ เหล่านี้อาจมาสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ให้กับแบงก์ในชนิดที่แบงก์ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้
แต่ใช่ว่าทุกธนาคารพาณิชย์จะเชื่อใน “ทฤษฎี” นี้ เพราะ “แบงก์ใหญ่” ที่เป็นเจ้าตลาดด้าน “ขนาดสินทรัพย์” ในปัจจุบันอย่าง "ธนาคารกรุงเทพ" หรือ BBL ยังเชื่อมั่นว่า “ขนาด” คือ “หัวใจสำคัญ” ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์
สิ่งที่ BBL สร้างปรากฏการณ์เซอร์ไพรส์ตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ “การต่อเรือใหญ่” ให้ “ใหญ่ยิ่งขึ้น” ผ่านการเข้าซื้อกิจการ ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 12 ในอินโดนีเซีย
แบงก์กรุงเทพคาดว่า จะสามารถซื้อกิจการแล้วเสร็จได้ในไตรมาส 3 ปีหน้า ทำให้สินทรัพย์ของ BBL เพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยทันที ที่ราวๆ 3.4 ล้านล้านบาท ..หากดูเครือข่ายในต่างประเทศของแบงก์กรุงเทพ วันนี้มีมากถึง 31 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาแบงก์ไทยด้วยกัน
การตัดสินใจควักเงินลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “การลงทุน” ในต่างประเทศ “ครั้งใหญ่สุด” เท่าที่ BBL หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเคยลงทุนมา
“เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้ BBL มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยฐานลูกค้าของเพอร์มาตาที่มีกว่า 3.5 ล้านคน การมีลูกค้าที่หลากหลาย และเพอร์มาตายังมีความเชี่ยวชาญดิจิทัลขั้นสูง
ไม่เพียงแค่นั้น หากดูการสร้างรายได้ของเพอร์มาตา หลายจุด ยังสูงกว่าไทยมาก โดยเฉพาะ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย( NIM )ที่ยังเกิน 3% ในขณะที่ไทยอยู่เพียง 2.4% อีกทั้งการเข้าถึงบริการทางการเงินในอินโดฯ ต่ำเพียง 38-39% เท่านั้น ขณะที่ไทยปาไปเกือบ 100% แล้ว
..นี่อาจเป็น "โอกาส" สำคัญที่ BBL มองเห็นในอนาคต!
การตัดสินใจควักเงินลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “การลงทุน” ในต่างประเทศ “ครั้งใหญ่สุด” เท่าที่ BBL หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเคยลงทุนมา ทางผู้บริหารของ BBL แสดงความมั่นใจว่า ไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน และดอกผลจากการลงทุนจะเริ่มมีให้เห็นภายในระยะเวลาอันใกล้
คนในแวดวงการเงินทราบดีว่า BBL ขึ้นชื่อเรื่อง “Conservative” การก้าวแต่ละก้าวของ BBL ย่อมต้องมั่นใจว่าจะ “สำเร็จ” ได้ในระยะยาว แม้นักการเงินจะมองว่า “บิ๊กดีล” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ยังคงเป็นแผนการซื้อธุรกิจแบบเดิมๆ ดูไม่เข้ากับกระแสที่เทคโนโลยีถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรง สะท้อนผ่านราคาหุ้นในช่วงประกาศดีลซึ่งปรับลดลงอย่างหนัก
ขณะที่ผู้บริหารของ BBL ยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่ได้ละเลยต่อการก้าวเข้าสู่ “ดิจิทัลแบงกิ้ง” และการเปลี่ยนผ่านของ BBL ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช้า เพียงแต่ถ้าไม่ชัวร์ก็ยังไม่ขอทำ เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่ามาทำอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ แล้วเจอปัญหา
หลายคนจึงมองว่านี่คือ “จุดแข็ง” ของ BBL ที่แม้จะทำอะไรช้าไปบ้างแต่เน้นชัวร์ไว้ก่อน
จะเห็นว่า “กลยุทธ์” ที่ “2 แบงก์ยักษ์” ของเมืองไทยวางหมากไว้ “แตกต่างกัน” โดยสิ้นเชิง ...ไม่มีใครตอบได้ว่า “ใครถูก” หรือ “ใครผิด” เพราะกระแสดิสรัปยังไม่สะเด็ดน้ำดี อีก 3-5 ปี ค่อยมาดูกันว่าระหว่าง “กลยุทธ์” ใช้ “เรือเล็ก” ฝ่าพายุดิสรัปชัน กับ “ต่อเรือใหญ่” บุกตลาดโลก ใครจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่ากัน
..ซึ่งนั่นถือเป็น “คำตอบ” ของหมากธุรกิจที่ก้าวเดิน!