'อรรถพล' ผงาดนั่งซีอีโอ ปตท. คุมอาณาจักร 2.4 ล้านล้าน

'อรรถพล' ผงาดนั่งซีอีโอ ปตท. คุมอาณาจักร 2.4 ล้านล้าน

บอร์ด ปตท.มีมติเป็นเอกฉันท์ ตั้ง ”อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” นั่งซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 คุมสินทรัพย์ 2.4 ล้านล้านบาท “กรรมการสรรหา” มั่นใจนำพาองค์กรไปข้างหน้า

นับตั้งแต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2544 โดยแปลงสภาพมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) มาแล้ว 9 คน ซึ่งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอคนปัจจุบัน จะครบวาระการทำงานในวันที่ 12 พ.ค.2563

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ ปตท.วานนี้ (19 ธ.ค.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เป็น ผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ คนที่ 10 แทน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่จะเกษียณอายุ ตามที่กรรมการสรรหามีมติเป็นเอกฉันท์ โดยซีอีโอคนใหม่จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายอรรถพล ตามกฎหมายแล้ว นายอรรถพล เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมติเป็นเอกฉันท์

นอกจากนี้ กระบวนการสรรหาจะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อนายอรรถพล ดำเนินการเจรจาค่าตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทน หลังจากนั้นจะนำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามสัญญาจ้าง หลังจากนั้นจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

เด่นประสานคนใน-นอก

นายดอน วสันตพฤกษ์ กรรมการ ปตท.และประธานคณะกรรมการสรรหาซีอีโอ ปตท.กล่าวว่า กรรมการสรรหา 5 คน เห็นตรงกันที่เสนอชื่อนายอรรถพล เป็นซีอีโอ ปตท.คนต่อไป เพราะนายอรรถพล มีคุณสมบัติโดดเด่นในการประสานงานทั้งคนภายในและภายนอกองค์กร นับเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต นอกเหนือจากองค์กรประกอบด้านความรู้ความสามารถที่ครบถ้วนแล้ว ขณะที่ผู้สมัครอีก 5 คน ก็เป็นผู้ที่เสนอวิสัยทัศน์ที่มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน

“กรรมการสรรหาทั้ง 5 คน ลงคะแนนเสียง 5 ต่อ 0 เลือก นายอรรถพล เป็นซีอีโอ ปตท. ซึ่งจะสามารถดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี และยังมีโอกาสต่อได้อีกสมัย” นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ นายอรรถพล ถือเป็นลูกหม้อที่ทำงานในองค์กร ปตท.มานานถึง 30 ปี โดยในปี 2552 ทำงานตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม เป็นเวลา 2 ปีกว่า ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ ในปี 2554-56 และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ปตท.ในปี 2556-57 

รวมทั้งย้ายไปนั่งตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ ปตท.เมื่อปี 2557-58 ก่อนจะกลับมาดูแลธุรกิจน้ำมันอีกครั้งในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. เมื่อปี 2558-60

ในขณะที่เดือน ต.ค.2560 รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย อีกหน้าที่หนึ่ง 

ผ่านงานคุมเรือธง ปตท.

ส่วนปี 2561 ถึงปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กำกับดูแลในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการค้าปลีก รวมทั้งถึงบริษัทย่อยในเครือ ปตท.ทั้งบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

สำหรับนายอรรถพล เกิดวันที่ 19 ก.ค.2508 ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนศึกษาต่อปริญญาโท สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

รวมทั้งอบรมหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตร TLCA Executive Development Program (EDP) รุ่นที่ 1 สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ,Diploma of Petroleum Management, College of Petroleum Studies, Oxford, England (ได้รับทุนการศึกษาจาก British Council) 

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 14 สถาบันพระปกเกล้า ,หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 20 สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)

บอร์ดเลื่อนอนุมัติแผนลงทุน 5 ปี

สำหรับภารกิจสำคัญของซีอีโอ ปตท.คนใหม่ จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจช่วง 5 ปี (2563-2567) ซึ่งเดิมทีวันนี้ (20 ธ.ค) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.คนปัจจุบันจะแถลงรายละเอียดแผนการดำเนินและงบประมาณลงทุนของ ปตท.ช่วง 5 ปี (2563-2567) แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ปตท.จึงจะมีการเสนอให้พิจารณาใหม่เดือน ม.ค.2563

ก่อนหน้านี้ ปตท.เตรียมแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (2563-2567) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมอยู่ที่ 266,372 ล้านบาท โดยเบื้องต้น ปตท.มีแผนใช้งบลงทุนในปี 2563 สำหรับขยายการลงทุนต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 97,358 ล้านบาท ประกอบด้วย การสนับสนุนสร้างคลัง New LNG Terminal มูลค่า 8,464 ล้านบาท ,โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 มูลค่า 5,659 ล้านบาท ,แผนงานโรงแยกก๊าซ มูลค่า 4,334 ล้านบาท ,EEC@ Wangchan Valley project มูลค่า 2,075 ล้านบาท

โครงการพัฒนาพื้นที่กำแพงเพชร 6 มูลค่า 1,431 ล้านบาท,การลงทุน Venture Capital (VC) มูลค่า 1,045 ล้านบาท,โครงการท่อส่งก๊าซฯ RA#6-ราชบุรี มูลค่า 852 ล้านบาท,การสนับสนุนท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 มูลค่า 788 ล้านบาท และโครงการอื่น 7,776 ล้านบาท รวมถึงงบลงทุนระยะยาวในอนาคต(Provision) อีก 64,934 ล้านบาท

คุมสินทรัพย์2.4ล้านล้าน

ทั้งนี้ โครงสร้างธุรกิจกลุ่ม ปตท.มีสินทรัพยรวมกว่า 4 ล้านล้านบาท (คำนวณเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์) โดยแบ่งเป็น 1.กลุ่มก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สินทรัพย์ 2.42 ล้านล้านบาท 2.กลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีสินทรัพย์ 606,861 ล้านบาท

2.กลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี สินทรัพย์ 452,565 ล้านบาท รวมถึงบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สินทรัพย์ 255,862 ล้านบาท และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) สินทรัพย์ 177,919 ล้านบาท

3.กลุ่มโรงไฟฟ้า บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี สินทรัพย์ 252,936 ล้านบาท 4.กลุ่มน้ำมันและค้าปลีก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2563